วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำทีมรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสรุปผลงานในรอบ 2 ปี ในหลายมิติ เช่น แสงสว่าง, ขายของบนทางเท้า, น้ำท่วม, การศึกษา, สุขภาพ รวมถึงการปิดหนี้ BTS พร้อมแสดงวิสัยทัศน์การทำงานในอีก 2 ปีข้างหน้า ว่าจะวางโครงสร้างให้อำนาจประชาชนมากขึ้น เพื่อที่สิ่งที่ทำเอาไว้จะยังเดินหน้าต่อไปได้
ผู้ว่าชัชชาติให้ภาพกรุงเทพมหานครว่าแต่เดิมนั้นเป็นเมืองเที่ยวสนุก แต่ประสิทธิภาพต่ำ ทำให้คนเหนื่อยกับการใช้ชีวิตและการเผชิญกับปัญหาอุปสรรคมากมาย ดังนั้น 2 ปีที่ผ่านมาจึงปรับปรุงหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้การทำงานและการแก้ไขปัญหาคล่องตัวขึ้น ผู้คนในเมืองเหนื่อยน้อยลง และมีความสุขกับการใช้ชีวิตมากขึ้น
ความคืบหน้าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
Traffy Fondue ของเก่าพัฒนามาก่อนผู้ว่า นำมาใช้มากขึ้น
ผู้ว่าชัชชาติเล่าว่า Traffy Fondue เป็นระบบเดิมที่พัฒนามาตั้งแต่ราว 4 ปีที่แล้ว คือทำมาก่อน 2 ปีก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร แต่คนยังใช้น้อย เพราะคนยังไม่ไว้ใจว่าถ่ายรูปไป ส่งรายละเอียดไป จะได้รับการแก้ไขจริง ซึ่ง กทม. เข้ามาสร้างความมั่นใจตรงนี้ ว่าการแจ้งเรื่องต่าง ๆ ผ่านระบบจะได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว โดยตัดขั้นตอนจากที่ต้องใช้เอกสารมากมายเปลี่ยนมาเป็นออนไลน์ตั้งแต่ต้นจนจบ ลดขั้นตอนให้แจ้งเรื่องร้องเรียนได้ง่ายขึ้น ลดคำถามจากเดิม 5 คำถาม เหลือ 3 คำถาม และนำ AI เข้ามาใช้ในการระบุประเภทของเรื่องร้องเรียน อีกทั้งเพิ่มเติมการติดตามเรื่องร้องเรียนที่อยู่บริเวณใกล้เคียง พร้อมให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบและให้คะแนนการแก้ไขของ กทม. เพิ่มเติมได้ เพื่อให้ กทม. กลับไปแก้ไขเพิ่มในส่วนที่ยังไม่พึงพอใจ
Traffy Fondue ช่วยลดระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาที่ประชาชนร้องเรียน จากเดิมใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เหลือประมาณ 2 วัน
ซึ่งผ่านมา 2 ปี มีเรื่องที่ร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue ที่ได้รับการแก้ไขเสร็จสิ้น 465,291 เรื่อง คิดเป็น 78% จากเรื่องทั้งหมดที่ร้องเรียนเข้ามา 588,842 เรื่อง นอกจากนี้ยังมีการสะสมคะแนนให้กับประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วม เพิ่มความสนุกในการใช้งาน Traffy Fondue ที่สำคัญประชาชนยังสามารถมั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวว่าจะไม่ถูกเปิดเผย เพราะไม่มีการเก็บชื่อและรูปโปรไฟล์
ซึ่งทุกคนสามารถใช้งานระบบนี้ได้ผ่าน LINE OA “@TraffyFondue”
ยกระดับมาตรฐานทางเท้า แผงลอย และแสงสว่าง
ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กทม. ปรับปรุงทางเท้าตามมาตรฐานใหม่ไปแล้ว 785 กิโลเมตร คาดว่าใน 4 ปีจะได้ 1,600 กิโลเมตร ซึ่งทางเท้าใหม่ของ กทม. จะแข็งแรง ทนทาน และสวยงามมากขึ้น พร้อมมีการปรับพื้นทางเข้าออกอาคารให้เรียบเสมอทางเท้า ลดความสูงของทางเท้าลงเหลือ 10 และ 18 ซม. พร้อมติดเบรลล์บล็อกแนวตรงสำหรับคนพิการและผู้สูงวัยได้ใช้ง่าย เดินง่ายขึ้นด้วย
ในส่วนเรื่องของการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย เพื่อให้ประชาชนยังเข้าถึงอาหารราคาถูกได้ โดยไม่เบียดเบียนทางเดินเท้า ตอนนี้ทำไปได้แล้ว 257 จุด เช่น จุดที่ถนนสารสิน ขณะนี้ได้จัดพื้นที่ขายชั่วคราวให้ ก่อนจะขยับขยายเข้ามาอยู่ใน Hawker Center ที่จะสร้างเสร็จในปีนี้
การจัดการหาบเร่แผงลอยให้ดีมันยาก การไล่ไม่ให้ขายเลยยังง่ายกว่า แต่เราต้องคิดถึงเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องของผู้ซื้อและผู้ขายด้วย แม้เรื่องนี้ไม่ใช่ข้ออ้างในการมาขายในทางเท้าก็ตาม เราจึงเข้าไปเจรจาและหาจุดสมดุล ผ่านวิธีการที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน
นอกจากนี้ในส่วนการจัดระเบียบสายสื่อสารที่รกรุงรังในถนนสายต่าง ๆ ที่ผ่านมา 2 ปี เอาสายลงใต้ดินได้รวมระยะทาง 627 กม. ซึ่งก็เป็นงานที่ท้าทาย เพราะต้องประสานหลายหน่วยงานทั้งการไฟฟ้า หรือภาคเอกชนเจ้าของสายสื่อสาร จึงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าแสงสว่างให้เป็นหลอด LED ที่มีอายุการใช้งานยาวกว่า มีระบบ IOT สามารถตรวจสอบหลอดไฟดวงที่เสียได้อัตโนมัติและแก้ไขได้รวดเร็ว ให้คนกรุงเทพฯ เดินเท้ากลับบ้านอย่างสบายใจ
น้ำท่วม ปัญหาคลาสสิกของกรุงเทพฯ
กทม. ทำงานบนข้อมูลที่เก็บมาตลอด จึงมีภาพที่ชัดเจนว่าจุดไหนที่ต้องเข้าไปเร่งแก้ไข ในปี 2565 พบจุดสำคัญที่ต้องแก้ไขเรื่องน้ำท่วม 737 จุด ขณะนี้แก้ไขแล้ว 370 จุด และจะแก้ไขได้ทันในปี 67 อีก 190 จุด ตัวอย่างบริเวณศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก มีการแก้ไขน้ำท่วมทั้งกระบวนการ โดยส่วนที่ทำเสร็จแล้ว ได้แก่ การทำท่อเชื่อมเร่งระบายน้ำ ก่อสร้างบ่อสูบน้ำ และลอกท่อระบายน้ำถึงคลองน้ำแก้ว และกำลังทำการก่อสร้างท่อหน้า ม. จันทรเกษม ปรับปรุงบ่อสูบน้ำ ถ. รัชดาฯ พร้อมปรับปรุงเขื่อนเดิม ปรับปรุงบ่อสูบน้ำซอยอาภาภิรมย์ 2 บ่อ และก่อสร้างระบบระบายน้ำเพิ่มเติม ถ. รัชดาฯ จุดหน้าธนาคารกรุงเทพ – ศาลอาญา
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมก่อนที่จะเกิดฝน โดยการล้างท่อระบายน้ำทำไปแล้ว 4,200 กม. ทำความสะอาดคลองเปิดทางน้ำไหล 1,960 กม. ขุดลอกคลอง 217 กม. พร้อมทั้งทำการบำรุงรักษาประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ ล้างอุโมงค์ระบายน้ำทุกแห่ง และตรวจสอบเครื่องสูบน้ำทุกเครื่องให้พร้อมใช้งาน
การแก้น้ำท่วมมันไม่เคยง่าย กระบวนการมันเยอะ เพราะทางน้ำนั้นเชื่อมต่อถึงกัน
พื้นที่สาธารณะ สิ่งที่ทำให้เมืองมีชีวิต
เมืองที่ดี ก็ต้องมีพื้นที่สาธารณะที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยลดต้นทุนการใช้ชีวิตของประชาชนได้ ทำให้ประชาชนในกรุงเทพฯ เหนื่อยน้อยลง กทม. จึงพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่อยู่ในอำนาจของ กทม. ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คือ
- สวนสาธารณะ 58 แห่ง
- ศูนย์นันทนาการ 36 แห่ง
- ห้องสมุด 34 แห่ง
- พิพิธภัณฑ์เด็ก 2 แห่ง
- ศูนย์กีฬา 12 แห่ง
ในส่วนของศูนย์กีฬา ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนมาทำศูนย์กีฬาแบบใหม่ มีกิจกรรมหลากหลายขึ้น รองรับประเภทกีฬาใหม่ ๆ เช่น พิกเคิลบอล เทกบอล ปิงปอง บาสเกตบอล โดยใช้งบประมาณน้อยลง เพราะเอกชนลงมาช่วยทำ ซึ่งตอนนี้ปรับปรุงศูนย์กีฬาแบบใหม่ครบวงจรแล้ว 11 แห่ง เช่น ศูนย์กีฬาเบญจกิติ ศูนย์กีฬาบางขุนเทียน ศูนย์นันทนาการวัดดอกไม้ เตรียมขยายผลอีก 13 แห่ง เช่น ศูนย์กีฬาตลาดพลู ศูนย์กีฬาวังทองหลาง ศูนย์กีฬาเสนานิเวศน์ ศูนย์กีฬาทวีวัฒนา ศูนย์นันทนาการทุ่งครุ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงอาคารลุมพินีสถานสู่ Performance Art Hub ของคนกรุงเทพฯ ซึ่งกำหนดจะแล้วเสร็จในปี 68
ที่ผ่านมาปลูกต้นไม้ไปแล้ว 935,000 ต้น เลยจะปรับเป้าหมายใหม่ให้ได้ 5 ล้านต้น
ในด้านสวนสาธารณะ เรากำลังมีสวนที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ด้วยโครงการเชื่อมบึงหนองบอน-สวนหลวง ร.๙ ทำให้มีเนื้อที่รวมกันกว่า 1,000 ไร่ ให้ประชาชนได้เข้าใช้ประโยชน์ นอกจากการเป็นปอดฟอกอากาศ นอกจากนี้ยังมีสวนอื่น ๆ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนกรุงเทพฯ เช่น ที่บ่อฝรั่ง (ริมบึงบางซื่อ) ซึ่งจะเป็นสวนกีฬาทางน้ำแห่งใหม่ และสวนป่าชุ่มน้ำบางกอก (เสรีไทย)
ส่วนโครงการสวน 15 นาที ซึ่งเป็นสวนขนาดเล็กที่ใกล้ชิดชุมชนเพียงระยะการเดินไม่เกิน 15 นาที เพื่อให้คนกรุงเทพฯ เข้าถึงสวนสีเขียวได้ทุกวัน ไม่ต้องเดินทางไปสวนขนาดใหญ่ ล่าสุดได้เกิดขึ้นแล้วกว่า 100 แห่ง คาดว่าจะครบ 500 แห่ง ภายใน 4 ปี ตัวอย่างสวนที่ได้มาตรฐาน เช่น สวนสุขใจ ยานนาวา สวนใต้แยกตากสิน สวนป่าสัก วิภาวดี 5 เป็นต้น
ดูแลสุขภาพคนกรุงเทพฯ ปูพรมตรวจรักษาโรค
ที่ผ่านมาทาง กทม. ได้พัฒนาโครงการเพื่อดูแลสุขภาพคนกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น เช่น โครงการตรวจสุขภาพฟรี 1,000,000 คน ได้ทุกคน ไม่จำกัดสิทธิ์ ซึ่งจะเปิดยาวไปถึงเดือนกันยายน 2567 มีการตรวจคัดกรองมากกว่า 14 รายการพื้นฐาน เพื่อรู้สัญญาณของโรคก่อนที่จะเป็นอันตราย มีเพิ่มเจาะเลือดส่งตรวจแล็บ เอ็กซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และภาวะแทรกซ้อนทางตา ประชาชนสามารถตรวจสอบปฏิทินตรวจสุขภาพของแต่ละเดือนและเลือกวันเวลาและสถานที่ที่สะดวกไปรับบริการได้ ซึ่งประชาชนที่ไปรับบริการมีความพึงพอใจที่ไม่ต้องรอคิว ไม่ต้องเดินทางไกล และลดภาระค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ กทม. ยังได้ขยายการบริการของศูนย์บริการสาธารณะ รับตรวจรักษานอกเวลาจนถึง 2 ทุ่ม หรือเสาร์-อาทิตย์ ทุกพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน อีกทั้งยังขยายศูนย์ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพ (กายภาพบำบัด) แก้ออฟฟิศซินโดรม ปวดคอ บ่า ไหล หลัง ได้ที่ศูนย์ฯ ใกล้บ้าน 8 แห่ง เปิด Pride Clinic คัดกรอง-ปรึกษาฟรี สำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ จากเดิมมี 6 แห่ง เพิ่มเป็น 31 แห่ง มีผู้ใช้บริการเกือบ 20,000 ราย มีตั้งแต่การตรวจระดับฮอร์โมนและการขอรับฮอร์โมน ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต เครียด ซึมเศร้า ปรึกษาด้านศัลยกรรมการผ่าตัด ตรวจหา HIV ซิฟิลิส และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และบริการยาป้องกันการติดเชื้อ HIV
ทั้งหมดนี้เพื่อลดข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคนกรุงเทพฯ ปัญหาหมออยู่ไกล เข้าถึงยาก ไม่สะดวก เสียเวลา
ใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้การบริหารโปร่งใสขึ้น
ไม่มีทางเลยที่จะทำให้เมืองมีประสิทธิภาพได้ ถ้ามีเรื่องทุจริต ที่ผ่านมา 2 ปี กทม. ได้ดำเนินการด้านการป้องกันและต่อต้านการทุจริตอย่างเข้มข้น มีการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 781 เรื่อง ในจำนวนนี้มีมูลทุจริต 56 เรื่อง ได้ดำเนินการถึงขั้นสอบสวนทางวินัย 44 เรื่อง และมีการให้ออกจากราชการ 29 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณา 12 เรื่อง ส่งต่อให้ ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. จำนวน 5 เรื่อง
ที่ผ่านมาจึงมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อให้การทำงานโปร่งใส ลดโอกาสที่ผู้ติดต่อเข้ามาเจอเจ้าหน้าที่ต่อหน้า จนมีช่องให้ทุจริตได้ เช่น ขออนุญาตต่าง ๆ ผ่าน BMA One Stop Service ซึ่งรวมศูนย์การขอใบอนุญาตไว้บนออนไลน์ โดยกำลังตั้งทีมอนุมัติกลางให้สามารถอนุมัติได้เร็วขึ้น ประชาชนสามารถติดตามทุกคำขออนุญาตทั้งออนไลน์และออฟไลน์ได้จาก LINE OA กรุงเทพมหานคร (@bangkokofficial) ส่วนการขออนุญาตถ่ายทำ ที่ให้บริการอยู่ ขณะนี้กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มการขออนุญาตถ่ายทำให้เป็นระบบกลางที่ครบวงจรจบในที่เดียวต่อไป
ส่วนการเปิดฐานข้อมูล (Open Data) ได้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านนโยบาย งบประมาณ สัญญาจ้าง ภาษี ฯลฯ ไปแล้วมากกว่า 1,000 ชุดข้อมูล มีผู้ใช้งานมากกว่า 3 ล้านครั้ง/ปี ด้านการเปิดระบบจัดซื้อจัดจ้าง ได้มุ่งให้เกิดความโปร่งใสตั้งแต่การประกวดราคาจนถึงการบริหารสัญญา โดยเร็ว ๆ นี้ มีระบบที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าแข่งขันประมูลงานของ กทม. ด้วยการ Subscribe ให้ผู้รับจ้างรับการแจ้งเตือนโครงการใหม่และติดตามความคืบหน้าได้
จัดการหนี้ BTS เปิดทางแก้ไขเรื่องอื่น ๆ
ที่ผ่านมา กทม. พยายามแก้ไขปัญหาโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า BTS อย่างต่อเนื่อง จนได้ลุล่วงไปในก้าวแรก โดยสามารถชำระหนี้งานระบบของส่วนต่อขยาย 23,000 ล้านบาท และโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของ กทม. เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือการลดการผูกขาด โดยเสนอรัฐบาลให้ยกเลิกคำสั่ง ม. 44 นำระบบรถไฟฟ้ากลับสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและร่วมทุนตามกฎหมาย เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนต่อไป
สรุป 2 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง
2 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงของการทำงานที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของกรุงเทพมหานคร โดยผ่านนโยบายและโครงการต่าง ๆ มากมาย ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพของเมือง ใน 6 มิติคือ
- มิติ “ประชาชนชนเป็นศูนย์กลาง” คือ Traffy Fondue
- มิติ “สร้างการมีส่วนร่วม” ได้แก่ ศูนย์กีฬาสวนเบญจกิติ, บ่อฝรั่ง, สวน 15 นาที และการเพิ่มงบประมาณพัฒนาพื้นที่ให้กับสำนักงานเขต จาก 500 ล้านบาท เป็น 3,300 ล้านบาท
- มิติ “ทำงานอย่างโปร่งใส” ได้แก่ Open Bangkok, Open Data, Open Contract และ BMA e-GP
- มิติ “ใช้เทคโนโลยีและข้อมูล” ได้แก่ บริการ BMA OSS, GPS รถขยะ และระบบมอนิเตอร์ไฟฟ้าแสงสว่าง
- มิติ “รับฟังเสียงจากคนรุ่นใหม่” ได้แก่ สภาเมืองคนรุ่นใหม่ สภาเด็กและเยาวชน โครงการ HackBKK
- มิติ “เดินหน้าแก้ไขปัญหาที่ท้าทาย” ได้แก่ การยกระดับการศึกษา ยกระดับสาธารณสุข แก้หนี้สิน BTS และปัญหาหาบเร่-แผงลอย รวมถึงการเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ. กทม. ใหม่ เพื่อนำไปสู่การยกระดับการบริหารราชการ กทม. ในรูปแบบใหม่ด้วย
ก็เข้าใจว่ายังมีเรื่องแย่ ๆ อยู่ ยังมีกลุ่มที่มีอิทธิพล กลุ่มผลประโยชน์ ก็ต้องแก้วัฒนธรรมการทำงานไปเรื่อย ๆ และบูรณาการข้ามหน่วยงานให้ดีขึ้น
มองแผนอนาคต 2 ปีหลังจากนี้
2 ปีนับจากนี้จะเป็นช่วงของการพัฒนาเมืองที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งช่วยสอดส่อง แจ้งปัญหาผ่าน Traffy Fondue การตรวจสอบ Open Data ข้อมูลงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งร่วมทำ ร่วมนำเสนอ ผ่านสภาเด็กและเยาวชน สภาเมืองคนรุ่นใหม่ ประชาคมคนพิการ ย่านสร้างสรรค์ เทศกาล อีเวนต์ กิจกรรมดนตรีในสวน และอาสาสมัครเทคโนโลยีประจำชุมชน
นอกจากนี้ยังมี e-participation แพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถร่วมสร้างกรุงเทพฯ เช่น แพลตฟอร์มการจองพื้นที่สาธารณะ และแพลตฟอร์ม Participatory Budgeting อีกด้วย ส่วนที่ให้อำนาจประชาชนตัดสินใจได้เอง ได้แก่ การผลักดันข้อบัญญัติกองทุนชุมชนเข้มแข็ง และข้อเสนอปรับแก้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วง 2 ปีนี้เช่นกัน
แผนเปลี่ยนรถของ กทม. จากสันดาปสู่ EV และเรื่องขยะ
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึง การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพื่อทำให้กรุงเทพฯ มีอากาศสะอาด นอกเหนือจากดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่นที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่องแล้ว จากนี้จะมีการเปลี่ยนรถบริการของ กทม. ไม่ว่าจะเป็น รถเก็บขยะ รถบรรทุกน้ำ รถสุขาเคลื่อนที่ รถบรรทุก 6 ล้อ จากรถที่ใช้พลังงานดีเซลมาเป็นรถพลังงานไฟฟ้าแทน
ทั้งนี้จากการคำนวณรถขยะขนาด 5 ตัน สามารถลดค่าเช่าลงเหลือ 2,240 บาท/คัน/วัน จาก 2,800 บาท/คัน/วัน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือ 200 ตัน/ปี จาก 2,256 ตัน/ปี ลดการปล่อย PM 2.5 เหลือเป็นศูนย์ จาก 22 กก./ปี และลดต้นทุนพลังงานเหลือ 455 บาท/เที่ยว จาก 1,300 บาท/เที่ยว โดยมีแผนรับมอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในปี 67 จำนวน 615 คัน ปี 68 จำนวน 392 คัน และปี 69 อีก 657 คัน
นอกจากนี้ยังเร่งรัดการก่อสร้างโรงเผาเพื่อผลิตไฟฟ้าอ่อนนุช-หนองแขม เพื่อลดการฝังกลบ และลดต้นทุนการจัดการขยะ โดยคาดว่าจะเปิดในปี 69 ซึ่งจะประหยัดเงินค่าจัดการขยะได้ 172,462,500 บาท/ปี
แผนปรับปรุงคมนาคมในกรุงเทพฯ
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในช่วง 2 ปี จากนี้ คนกรุงเทพฯ จะเดินทางสะดวกขึ้น ด้วยบริการป้ายรถเมล์ดิจิทัล 500 ป้าย การปรับปรุงศาลารถเมล์ 300 หลัง และการติดตั้งจอดิจิทัลในศาลาที่พักผู้โดยสารอีก 200 หลัง เพิ่มตัวเลือกการเดินทาง โดยเฉพาะการเชื่อมต่อ (Last Mile) ด้วยการเดินทางที่หลากหลาย เช่น รถตุ๊ก ๆ ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า จักรยาน Shuttle Bus และการเดินเท้าที่สะดวกปลอดภัย มีหลังคาคลุม เป็นต้น
ด้านการจราจรจะคล่องตัวขึ้น โดยการอัปเกรดสัญญาณไฟจราจรทั่วกรุงเทพฯ ให้เป็น Adaptive Signaling ปรับสัญญาณไฟให้สอดคล้องกับปริมาณจราจร 541 ทางแยก พร้อมทั้งมอนิเตอร์เมือง สังเกต และสั่งการผ่าน Command Center ทั้งในเรื่องการติดตั้ง CCTV ไฟส่องสว่าง เซนเซอร์วัดระดับน้ำท่วมขังบนถนน โดยส่งข้อมูลมาที่ Open Digital Platform
ส่วนการขอใบอนุญาตการก่อสร้างออนไลน์จะมีความครอบคลุมอาคารทุกประเภท ตั้งแต่ขนาดเล็ก ต่ำกว่า 2000 ตร.ม. ขนาดใหญ่ +2,000 ตรม. อาคารขนาดใหญ่พิเศษ +10,000 ตร.ม. ไปจนถึงอาคารสูง +23 ม. และสามารถติดตามสถานะโครงการผ่านออนไลน์ได้
แผนสาธารณสุขคนเมือง และหน่วยงานบรรเทาทุกข์
รศ. ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การยกระดับการบริการด้านสาธารณสุขของคนกรุงเทพฯ ในช่วง 2 ปีหลังนี้ จะการผลักดันโรงพยาบาลเดิม 3 แห่ง และเพิ่มโรงพยาบาลใหม่ในสังกัด กทม. อีก 4 แห่ง เพื่อขยายเตียงดูแลคนกรุงเทพฯ ให้ได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น อีก 1,272 เตียง โดยจะเพิ่มที่โรงพยาบาลกลาง อีก 150 เตียง โรงพยาบาลบางนาเพิ่ม 324 เตียง โรงพยาบาลคลองสามวา เพิ่ม 268 เตียง ส่วนโรงพยาบาลแห่งที่จะเปิดใหม่ ได้แก่ โรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี ขนาด 150 เตียง โรงพยาบาลดอนเมือง ขนาด 200 เตียง โรงพยาบาลสายไหม ขนาด 120 เตียง และโรงพยาบาลทุ่งครุ ขนาด 60 เตียง
ขณะเดียวกันยังพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขให้เข้าถึงง่าย กระจายทั่วกรุงเทพฯ โดยก่อสร้างอาคารใหม่ 21 แห่ง และปรับปรุงใหม่อีก 31 แห่ง ในช่วง 2 ปีต่อจากนี้
นอกจากนี้ ยังเตรียมปรับปรุงสถานีดับเพลิง 13 แห่ง และสร้างใหม่อีก 3 แห่ง พร้อมทั้งยกะดับ Command Center เพิ่มประสิทธิภาพการติดตั้ง GPS ให้รถพยาบาล 80 คัน และรถดับเพลิง 250 คัน ติดตามสถานการณ์ผ่าน IOT กล้อง DVR และ Body Cam เพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจและสั่งการแบบเรียลไทม์ผ่านระบบข้อมูลทรัพยากรและห้อง War Room
แผนด้านการศึกษา เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การพัฒนาคน คือการพัฒนาเมือง สิ่งที่ กทม. มุ่งมั่นในช่วง 2 ปีข้างหน้านี้ คือ การยกระดับจากการศึกษา สู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) ซึ่งหมายถึง การดูแลตั้งแต่ระดับเด็กปฐมวัย การศึกษาภาคบังคับ และการพัฒนาทักษะอาชีพ โดยการศึกษาปฐมวัยเป็นการดูแลเด็กก่อนวัยเรียน จาก 83,264 คน เพิ่มเป็น 100,000 คน ปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและเริ่มรับเด็กเร็วขึ้นที่อายุ 1 ขวบครึ่ง เพิ่มชั้นอนุบาลสำหรับเด็ก 3 ขวบ โดยมีแผนขยายให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนในปี 69 ปรับปรุงหลักสูตรสร้างพัฒนาสมวัยผ่านการเล่น (play-base-learning) พร้อมทั้งปรับปรุงกายภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้งห้องน้ำ สนามเด็กเล่น และห้องเรียนปลอดฝุ่น
ส่วนการศึกษาภาคบังคับ จะเปลี่ยนหลักสูตรที่เน้นการคิดวิเคราะห์ นำความรู้ไปใช้บนหลักสูตรฐานสมรรถนะ (skill-base-learning) และพัฒนาห้องเรียนดิจิทัล สร้าง Active Learning สำหรับเด็ก ป. 4 – ม. 3 ทุกโรงเรียน โดยทุกห้องเรียนมีคอมพิวเตอร์ เป็นการต่อยอดจากที่ได้มีการนำร่องห้องเรียน Chromebook ในปีการศึกษาที่ผ่านมาพบว่ามีคะแนนเฉลี่ยมากกว่าห้องเรียนปกติ 28%
ด้านการพัฒนาทักษะอาชีพ จะเน้นที่การพัฒนาทักษะวิชาชีพที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน โดยดำเนินการร่วมกับสถานประกอบการ เช่น หลักสูตรขับรถสามล้อไฟฟ้า (Muvmi) หลักสูตรแม่บ้านการโรงแรม ซึ่งทำร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย และหลักสูตรตัดขนสุนัข ที่ทำร่วมกับโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ เป็นต้น
ในส่วนของโครงการรับบริจาคคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาของ กทม. ถือว่าช้ากว่าเป้า ไม่ค่อยสบายใจ ตั้งเป้าแสนได้เครื่องแค่หลักพัน ต้องหางบประมาณมาซื้อเครื่องเพิ่ม ก็ขอบคุณคุณหนูหริ่งที่เข้ามาช่วยโครงการนี้
เมืองเปลี่ยนได้เพราะคุณ ชวนเที่ยวงาน BKK Expo 2024
โอกาสนี้ กทม. ได้เชิญชวนคนกรุงเทพฯ เตรียมตัวพบกับงานนิทรรศการกรุงเทพมหานคร ปี 2567 หรือ BKK EXPO 2024 ภายใต้แนวคิด “เมืองเปลี่ยนได้เพราะคุณ” ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่าง 20-23 มิถุนายน 2567 ณ อาคารพิพิธภัณฑ์สวนป่าเบญจกิติ สวนเบญจกิตติ เขตคลองเตย นิทรรศการมีชีวิตที่ให้คนกรุงเทพฯ และผู้สนใจทุกวัยได้ไปร่วมสัมผัสความเป็นเมืองในยุค 2024 ผ่านกิจกรรม การสาธิต เกม การเล่าเรื่อง การละเล่นที่สนุกสนาน ใน 5 เมือง ได้แก่
- เมืองเศรษฐกิจ โอกาส และความหวัง
- เมืองสร้างสรรค์ การศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิต
- เมืองเดินทาง เส้นทางและสายน้ำ
- เมืองปลอดภัย สุขภาพ ชีวิต และทรัพย์สิน
- เมืองยั่งยืน พลังงาน และสิ่งแวดล้อม
นอกจากนิทรรศการแล้ว ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมาก เช่น บูทอาหารร้านเด็ดจาก 50 เขต สินค้าชุมชน กิจกรรมเวิร์กช็อปต่าง ๆ สนามเด็กเล่นกลางแจ้งขนาดใหญ่โดยกลุ่มสร้างสรรค์การเรียนรู้ เวทีเสวนาและการแสดงที่หลากหลาย โดยสามารถติดตามรายละเอียดผ่านเฟซบุ๊กเพจ “กรุงเทพมหานคร”