สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ สว.มธ. (TU-RAC) โดย ผศ. ดร. สุทธิกร กิ่งเเก้ว ผู้บริหารโครงการวิจัย เผยผลงานวิจัยในหัวข้อ “ความท้าทายของคนขับผู้ให้บริการรับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย” (Ride-Hailing Drivers’ Challenges in Thailand) ซึ่งได้ศึกษาประเด็นปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการให้บริการ “เรียกรถผ่านแอปฯ” ของคนขับในยุคปัจจุบัน
ในปัจจุบัน บริการเรียกรถผ่านแอปฯ ได้กลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกสำคัญของการเดินทางและการคมนาคมขนส่งในประเทศไทย เนื่องจากเป็นบริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้งในด้านความสะดวกสบาย ความปลอดภัย ทั้งยังมีความโปร่งใส เพราะมีการแสดงราคาค่าโดยสารล่วงหน้า ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ จนทำให้บริการดังกล่าวได้รับความนิยมมากขึ้น ไม่เฉพาะแค่คนไทย แต่ยังรวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วย ส่งผลให้ธุรกิจนี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าตลาดรวมสูงกว่า 7 หมื่นล้านบาท
ล่าสุดมีแอปพลิเคชันที่ผ่านการรับรองจากกรมการขนส่งทางบกแล้วถึง 11 ราย อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมายังพบว่ามีความท้าทายในการให้บริการของผู้ขับขี่ที่อยู่ในระบบ คือการมีคนขับที่ผ่านการขึ้นทะเบียนในจำนวนที่น้อยมาก อันเนื่องมาจากการที่คนขับไม่สามารถนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ให้บริการไปขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้
และจากการศึกษาวิจัยผ่านการเก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ สำรวจคนขับรถยนต์ 2,048 ราย แบ่งออกเป็นผู้ให้บริการด้วยรถยนต์ 436 คน และรถจักรยานยนต์ 1,612 คน พบว่า
- 49% ใช้รถยนต์ติดไฟแนนซ์ไม่สามารถนำสมุดคู่มือไปจดทะเบียนได้
- 47% ใช้รถยนต์ที่ไม่ได้มีชื่อตนเองเป็นเจ้าของ
- 44% ของส่วนคนขับรถจักรยานยนต์ระบุว่า กระบวนการจดทะเบียนมีขั้นตอนมากเกินไป
- นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเรื่องประกันภัย และข้อจำกัดประเภทรถที่จะนำมาให้บริการได้
โดยสัดส่วนคนที่มาคนขับรถยนต์เพื่อรับจ้างที่ให้บริการผ่านแอปฯ มี 64% ให้บริการเรียกรถผ่านแอปฯ เป็นงานเสริม (พาร์ตไทม์) ขณะที่ 36% เลือกทำเป็นอาชีพหลัก ส่วนคนที่ขับรถจักรยานยนต์ก็มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน มี 65% ทำเป็นงานเสริม (พาร์ตไทม์) ขณะที่ 35% เลือกทำเป็นอาชีพหลัก
ด้วยเหตุนี้ สว.มธ. จึงเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนขับ 3 ประการ ดังนี้
- ลดขั้นตอนและปรับปรุงกระบวนการจดทะเบียนให้สะดวกขึ้น อนุญาตให้ใช้สำเนาเอกสารจดทะเบียนในการดำเนินการได้
- อนุญาตให้ผู้ขับขี่ที่ไม่ได้ถือกรรมสิทธิ์ แต่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของรถ สามารถจดทะเบียนเพื่อให้บริการได้
- ปรับข้อกำหนดอื่น ๆ เช่น สนับสนุนให้มีทางเลือกประกันภัยสำหรับรถที่ให้บริการแบบนี้ในราคาที่เหมาะสม และอนุญาตให้รถจักรยานยนต์ที่มีขนาดเครื่องยนต์สูงกว่า 125 ซีซี สามารถนำมาจดทะเบียนได้
ทั้งนี้ สว.มธ. มองว่าการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคจะช่วยปลดล็อกโอกาสทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมความเป็นธรรม และสนับสนุนการสร้างรายได้ของคนไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยรวมและเศรษฐกิจของประเทศ