ในช่วงเวลานี้ ภาคอุตสาหกรรมซึ่งเคยเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทยกำลังประสบกับปัญหาร้ายแรงและกำลังน่าเป็นห่วง เนื่องด้วยอุตสาหกรรมในภาคการผลิตชะลอตัวและจำนวนโรงงานปิดตัวมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งข้อมูลจากสถาบันวิจัย KKP Research เปิดเผยถึงสัญญาณเตือนภัยหลายประการที่บ่งชี้ถึงความอ่อนแอของภาคอุตสาหกรรมไทย

สถานการณ์ภาคอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบัน

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ที่ได้มาจากการสำรวจผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทย เผยแพร่โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมีการหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2022 จนถึงเดือนมีนาคม 2024 เป็นเวลากว่า 1 ปี 3 เดือน ซึ่งถือเป็นระยะเวลาการหดตัวที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ แม้ว่าวัฏจักรการค้าโลกจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปี 2023 แล้วก็ตาม

อีกสัญญาณถัดมาที่น่ากังวลกว่านั้น คือข้อมูลการปิดโรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่เร่งตัวขึ้นชัดเจน ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2023 โดยหากมองย้อนไปค่าเฉลี่ยการปิดโรงงานต่อเดือนของไทยปี 2021 และปี 2022 อยู่ที่ 57 โรงงานต่อเดือนและ 83 โรงงาน ตามลำดับ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยการปิดโรงงานของปี 2023 พุ่งสูงขึ้นถึง 159 โรงงานต่อเดือนในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 ส่งผลให้นับตั้งแต่ต้นปี 2023 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2024 มีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง กระทบต่อการจ้างงานกว่า 42,000 ตำแหน่ง

แม้จำนวนโรงงานปิดตัวเพียงอย่างเดียวอาจไม่สะท้อนภาพทั้งหมด แต่ตัวเลขการเปิดตัวโรงงานใหม่ที่ลดลงกว่าในอดีตยังย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมไทยที่ไม่ดีนักเพราะการเปิดโรงงานใหม่มีทิศทางที่ชะลอตัวลงเช่นกัน จึงทำให้ยอดการเปิดโรงงานสุทธิ (จำนวนโรงงานเปิดหักลบด้วยโรงงานปิด) ในภาพรวมชะลอตัวลงอย่างมาก จากค่าเฉลี่ยที่เป็นบวกสุทธิประมาณ 150 โรงงานต่อเดือน ลดลงเหลือเพียง 50 โรงงานต่อเดือน

สาเหตุที่โรงงานปิดตัวมากขึ้น และเปิดตัว

  1. ดัชนีการผลิตอุตสาหกรรมหดตัว โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องหนัง ยาง เกษตร ไม้ และเครื่องจักร ส่งผลให้โรงงานในกลุ่มเหล่านี้ต้องปิดตัวเพิ่มขึ้น
  2. โรงงานขนาดใหญ่มีการปิดตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่โรงงานเปิดใหม่ส่วนใหญ่เป็นขนาดเล็ก แสดงว่าปัญหาการชะลอตัวมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างในระดับอุตสาหกรรม ไม่ใช่เฉพาะปัจจัยภายในกิจการ
  3. หนี้เสียในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพบความสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมที่มีโรงงานปิดตัวสูงกับอุตสาหกรรมที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งนำไปสู่ความจำเป็นในการปิดโรงงาน

แนวโน้มและความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมไทย

การวิเคราะห์ดัชนีเศรษฐกิจแบบเดิมอาจไม่เพียงพอ

ดัชนีเศรษฐกิจแบบเดิมอาจไม่สามารถสะท้อนสถานการณ์ภาคอุตสาหกรรมไทยได้อย่างครบถ้วน โดย 47% ของมูลค่าการผลิตทั้งหมดยังเคลื่อนไหวตามวัฏจักรปกติ เป็นกลุ่มสินค้าที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นได้หากอุปสงค์กลับมา แต่สินค้าอีกกว่า 53% นั้นมีการผลิตที่ปรับตัวลดลง จึงทำให้การผลิตของไทยเริ่มไม่สอดคล้องกับทิศทางการผลิตของโลก

เนื่องจากเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหลายประการ และสาเหตุสำคัญมิได้มาจากปัจจัยชั่วคราวหรือวัฏจักรเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย

สถานการณ์อุตสาหกรรมไทยที่เลวร้ายขึ้นกว่าคาดในอนาคต !

จากข้อมูลการเปิด-ปิดโรงงานของอุตสาหกรรมไทยตามมุมมองของ KKP Research นั้น สะท้อนถึงการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้มีความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างมากต่อสถานการณ์อุตสาหกรรมไทยในระยะยาว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

  1. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในบางกลุ่มสินค้าหลัก เช่น การเปลี่ยนจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยมีการนำเข้ารถ EV ราคาถูกจากจีนเพิ่มมากขึ้น กระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไทย หรือการเปลี่ยนจาก Hard Disk Drive (HDD) เป็น Solid State Drive (SSD) ซึ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจาก SSD มีราคาถูกลง
  2. การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากสินค้าจีน ที่ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำเข้าสินค้าหลายกลุ่มจากจีนในสัดส่วนที่สูงขึ้น ทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและอุปโภคบริโภค เนื่องจากมีต้นทุนต่ำกว่าสินค้าไทย
  3. มาตรการกีดกันการค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น หากทรัมป์ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีแนวโน้มออกมาตรการกีดกันทางการค้ากับจีนเพิ่มขึ้น อาจทำให้การค้าโลกชะลอตัว และสินค้าจีนทะลักเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทยมากขึ้น

ดังนั้น KKP Research จึงมองว่า การเร่งดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือและปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยให้สามารถปรับตัวกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมใหม่มาทดแทนภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนแอลง จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ๆ มิเช่นนั้นคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเห็นศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ