LGBTQ+ เฉลิมฉลองในเรื่องความหลากหลายทางเพศของไทย เนื่องจากวุฒิสภามีมติให้ความเห็นชอบ ‘ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม’ หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นสภาชั้นแรก ได้ผ่านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา 

ภาพจาก THAI NEWS PIX

วันที่ 18 มิถุนายน 2567 ร่างกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ หรือร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …  เข้าสู่การพิจารณาในชั้นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในวาระ 2 และ 3 โดยมีผู้ลงมติทั้งหมด 152 คน และได้ผลพิจารณาว่า มีผู้เห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง และงดออกเสียง 18 เสียง

หลังจากนี้จะมีมติให้ส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีกครั้ง เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้สามารถบังคับใช้ได้หลังประกาศในราชกิจจาฯ 120 วัน หรือภายในกันยายน 2567 นี้

ทำให้ตอนนี้ประเทศไทยกลายเป็นลำดับที่ 3 ในทวีปเอเชียที่มีกฎหมายสมรสเพศเดียวกันต่อจากไต้หวันและเนปาล และเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีกฎหมายดังกล่าว เป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถสมรสกันได้ตามกฎหมาย แล้วยังเกิดขึ้นตรงกับ Pride Month จึงนับเป็นฤกษ์ที่ดีอย่างยิ่งกับความก้าวหน้าทางสังคมเรื่องเพศไปอีกขั้น

ประเด็นสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียม

  • ทุกคนสามารถหมั้นและสมรสได้โดยไม่จำกัดเพศ และผู้ชายไม่จำเป็นต้องไปขอหมั้นผู้หญิงเท่านั้นแล้ว
  • เพิ่มอายุชายหมั้นหญิงเป็นคู่หมั้นและผู้รับหมั้นจากอายุ 17 ปีเป็น 18 ปี
  • เปลี่ยนนิยามจากชายและหญิงเป็น ‘บุคคล’ เปลี่ยนจากสามีภริยาเป็น ‘คู่สมรส’ เพื่อให้สิทธิ หน้าที่ และสวัสดิการ
  • แก้ไขเหตุแห่งการฟ้องหย่าให้ครอบคลุมและคุ้มครองถึงทุกเพศ
  • ในกรณีหญิงสมรสหญิงที่หย่าจากกันแล้ว ไม่จำเป็นต้องรอ 310 วันเพื่อจดทะเบียนสมรสใหม่
  • คู่สมรสผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้