เทคโนโลยี AI เข้ามาในชีวิตประจำวันของพวกเรามากขึ้น หลาย ๆ งานสามารถทำเสร็จได้อย่างรวดเร็ว หลาย ๆ อาชีพกำลังจะหายไป คำถามคือเราจะรับมืออย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วฉับไวในยุคนี้ ร่วมหาคำตอบและพัฒนาทักษะที่สำคัญได้ผ่านงาน Talents of Tomorrow

วศิน เจิดนภาพันธ์ Head of Strategic Partnerships and Products, True Digital Academy

ปัจจุบันเราต้องเข้าใจสถานการณ์ของสังคมการทำงานให้ดีเสียก่อน ตามรายงานของ World Economic Forums ระบุว่า 1 ใน 4 ของงานกำลังจะหายไปอย่างมีนัยสำคัญ และ 44% ของคนทำงานต้อง Reskill ในอีก 5 ปีหลังจากนี้ เพราะการมาของเทคโนโลยีเกิดใหม่ โดยเฉพาะเรื่องของ AI ที่เป็นตัวเร่งทำให้เราต้องปรับตัวให้ทัน จากการมาถึงของ AI ที่สร้างงานใหม่ที่ไม่คุ้นชิน หรือจะเป็นการเข้ามาแทนที่งานในตำแหน่งเดิม

ทำให้การเรียนรู้ทักษะดิจิทัลหรือทักษะใหม่ ๆ ในวันนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้สอดรับกับงานใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงต้องคอยปรับเปลี่ยนเรียนทักษะใหม่ รวมถึงต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับบริบทยุคใหม่ด้วยการทำงานร่วมกับ AI ให้ได้ พร้อมทั้งสื่อสารให้กับมนุษย์ด้วยกันเข้าใจ 

Talent War เข้าสู่ยุคแย่งชิงคนเก่ง

สุขวัฒน์ เพ็ญโภไคย Head of COE: People Capability & Transformation

บริษัทจะดึงดูดคนเก่ง ให้เข้ามาทำงานได้อย่างไร? เพราะองค์กรในทุกวันนี้ก็ไม่ได้คาดหวังว่าเด็กจบใหม่จะต้องเข้าบริษัทที่ตรงสาย อีกทั้งหลายตำแหน่งงานต้องการคนที่เก่งในด้านการทำงานจริงมากกว่าทฤษฎี และต้องพร้อมเรียนรู้ไวมากขึ้น 

สุขวัฒน์ เพ็ญโภไคย Head of COE: People Capability & Transformation

ดังนั้นหลายองค์กรจึงกำลังมองหาคนประเภท Multi-Disciplinary ที่สามารถทำได้หลายงานรู้หลาย ๆ ทักษะ เช่น อาชีพ Data Scientist ที่ต้องมีทักษะอื่น ๆ เพิ่มเติมมากกว่าทักษะเฉพาะทาง แต่ก็ยังคงต้องมี 3 ทักษะสำคัญดังนี้ 1. Data mindset คือการรู้ว่าจะจัดการหรือใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีได้อย่างไร 2. ความสงสัยใคร่รู้ ที่ถือว่าเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการตั้งคำถาม รวมถึงเป็นการชี้นำให้แก้ไขปัญหาได้ 3. ความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หรือเรียกอีกอย่างว่า Life long learner (การเรียนรู้ไปตลอดชีวิต) นั่นเอง

มัดรวมสุดยอดทักษะแห่งอนาคต

สรุปทักษะที่ต้องรู้ ก่อนปี 2025 จากงาน Talents of Tomorrow ได้แก่

Communication Skill

คุณจิตติพงศ์ เลิศประดิษฐ์ Chief Digital & Technology officer, นายกสมาคม MarTech Association

คุณจิตติพงศ์ เลิศประดิษฐ์ เล่าถึงทักษะการสื่อสาร โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ Systematic Communication กับ Individual Concentration หรือสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ มันคือการสื่อสารภายนอกกับภายใน ซึ่ง Systematic Communication คือการสื่อสารอย่างเป็นระบบในการทำงาน ช่วยให้แบ่งแยกงานหลักออกเป็นงานย่อยอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การใช้ Gantt Chart หรือ Flow Chart เข้ามาช่วย

ส่วน Individual Concentration คือการสื่อสารกับตัวเอง ในช่วงเวลาทำอะไรคนเดียวแล้วติดกับดักไปไหนไม่ได้ หรือเกิดสภาวะอ่อนล้า ให้เริ่มจากการคุยกับตัวเองอย่างมีพลัง แล้วค่อย ๆ เริ่มพัฒนาตัวเองแบบตั้งเป้าหมาย ฝึกในสิ่งจำเป็นในสายงาน แต่เรายังไม่เก่ง เป็นการเปิดโอกาสให้ได้ซุ่มซ้อมกับตัวเอง ซึ่งจะทำให้เราตระหนักว่า “หากสำเร็จจากภายในแล้วทุกสิ่งที่ต้องการจากภายนอกจะตามมาเอง”

Empathy Skill

ณพวัฒน์ มุกตพันธุ์ Chief eXperience Officer, FINNOMENA

ทักษะแห่งความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น จะช่วยให้เราพัฒนาการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการทำงานเป็นทีมร่วมกับเพื่อน ๆ ที่เราเข้าใจพวกเขา โดยทักษะนี้สามารถพัฒนาได้ด้วยการสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัว พร้อมทั้งตระหนักรู้ว่าปัจจุบันตอนนี้เรากำลังทำอะไร เพื่อให้กำหนดการกระทำที่ดีให้แสดงออกมาได้

ซึ่งในทางธุรกิจ ทักษะการเข้าอกเข้าใจต่อลูกค้าก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะหลายบริษัทมักคิดไปว่าลูกค้าเราเป็นแบบนี้แบบนั้น แต่ในความเป็นจริงมักจะตรงข้าม ดังนั้น เราควรที่จะมีการสำรวจและเก็บข้อมูลลูกค้า หรือสัมภาษณ์หา insight โดยตรงจะดีกว่า ก่อนตอบสนองความต้องการต่อลูกค้าผิดทาง

Fundamental Skill

พุทธศักดิ์ ต้นติสุทธิเวท Deputy Director of Data Research Product, Wisesight (Thailand)

ทุกคนรู้ว่าต้องพัฒนาตัวเองกันทั้งนั้น แต่หลายคนก็ไม่รู้ว่าจะต้องเรียนรู้ทักษะใหม่อะไร ดังนั้นผมขอเสนอ 5 ขั้นตอน ดังนี้

  1. Objective รู้ว่าเป้าหมายเราคืออะไร? เพื่อกำหนดทิศทางที่จะไป
  2. Knowledge รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง?
  3. Skill ใด? ที่ช่วยสามารถลงมือทำให้สำเร็จได้ เพราะมันไม่แค่เพียงรู้ แต่ต้องทำเป็น
  4. Feedback รู้ผลลัพธ์ที่ควรจะปรับปรุงแก้ไข เพื่อการทำงานออกมาแล้วได้ผลลัพธ์ดีขึ้น
  5. Technique รู้เคล็ดลับเพื่อปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ไวขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ซึ่งแก่นแท้ของ 5 ขั้นตอนนี้ คือ ‘การเรียนรู้พื้นฐาน’ เพื่อให้เข้าใจภาพรวม แต่ไม่จำเป็นต้องเรียนทั้งหมดเรียนรู้แค่ Core Skill แล้วค่อยเพิ่มเติมด้วยเทคนิคลูกเล่นต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องฝึกฝนตามกระแส

Future Proof Your Mindset

อรรถพล สินฉลอง Chief Product Officer, MODC Idyllias (Ex-Tinder, Ex-Google)

ปรับมายด์เซตอย่างไรให้ใช้ชีวิตมีความสุขได้ทุกวัน ในโลกที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ระบบการศึกษากับใช้เวลา 20-21 ปีในการสร้างอาชีพให้คน 1 คน หลังจากการเข้ามาของ AI, Internet ที่ทำให้การศึกษาเรียนได้ทุกที่ และกระแสหลักที่หลายบริษัทเริ่มไม่ดูปริญญาในการจ้างงาน ต้องการคนที่ทำงานจริงได้มากกว่า

ดังนั้น ทักษะที่สำคัญในวันนี้อาจจะเป็นทักษะการปรับตัวโดยต้องมี 1 ทักษะพื้นฐาน และพร้อมที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ในทุกวัน ทำให้เราไม่รู้สึกตกหล่น และกังวลกับสิ่งที่เปลี่ยนไป แล้วทักษะนี้พัฒนาอย่างไร?

นี่แหละเป็นอีกหนึ่งในเรื่องที่หลายคนไม่รู้ เพราะทักษะนี้อยู่ในตัวเราอยู่แล้ว ในแต่ละวันเราเรียนรู้ทีละนิดทีละน้อย เราเสพคอนเทนต์จำนวนมาก แค่เปลี่ยนให้มีสาระมากขึ้นเท่านั้นเอง มันจะส่งผลให้เราอยากเรียนรู้มากขึ้นจากการสงสัยในข้อมูลที่เสพไป และจงเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ต่อยอดจากสิ่งที่เราไม่รู้งอย่างไม่หยุดนิ่ง

Integration Skill

รศ.ดร.ทศนัย ชุ่มวัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักงานนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต

Integration Skill คือความสามารถในการบูรณาการหลาย ๆ ศาสตร์มารวมกัน เช่น คนในด้านธุรกิจก็ต้องถามตัวเองว่าเข้าใจลูกค้าดีแค่ไหน หรือองค์กรกำลังต้องการอะไร แล้วเสริมด้วยความรู้ทางไอที สามารถใช้เครื่องมืออะไรได้บ้างเพื่อตอบโจทย์ปัญหานั้น ๆ ขณะเดียวกันก็ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในการสื่อสารเพื่อทำงานร่วมกับผู้อื่น

และอีกทักษะที่ทำให้ส่วนผสมนี้ลงตัวก็คือ ‘Skill เอ๊ะ หัดขี้สงสัย’ เพื่อสร้างกระบวนการคิด การเริ่มต้นทุกอย่างด้วยการตั้งคำถาม จะช่วยระบุถึงปัญหาที่เจอ และแก้ Pain Point ได้อย่างตรงจุด

Marketing Skill 

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา CEO & Co-Founder, Priceza

สมัยก่อนลูกค้าต้องเสิร์ชถึงจะรู้ว่าอยากซื้อสินค้าอะไร แต่ในปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างมาก แค่เลื่อนไถฟีดโซเชียลมีเดียไปเรื่อย ๆ จะรีวิวสินค้าหรือป้ายยาก็กดซื้อจากคลิปนั้นแล้ว ผนวกกับการมาถึงของ Social Media ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการเป็น Content creator ได้หมด

ดังนั้นธุรกิจหากจะทำงานกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ควรเข้าใจ 3 เทรนด์ ดังนี้

  1. ยุคดิจิทัลมาร์เก็ตติง ก็สร้างตำแหน่งงานหลัก ๆ จะมีผู้จัดการดิจิทัล Performance Marketing ไปจนถึงคนยิงแอด คนทำ seo
  2. ยุคต่อมาก็จะเกี่ยวกับ e-commerce การเข้ามาของ Shopee Lazada ทำให้มีตำแหน่งงานแบบผู้จัดการด้าน e-commerce, ผู้จัดการด้าน Omni Channel
  3. ยุคที่กำลังจะไปถึง Affiliate Partner Marketing เป็นการที่แบรนด์ต้องเริ่มวิ่งเข้าหา Content creator โดยไม่ผ่านตัวกลางมากขึ้น ซึ่งต้องใช้ทักษะมนุษย์จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการสื่อสาร ผูกสัมพันธ์ ที่ต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์

Product Management Skill

ธีรกร อานันโททัย Chief Digital Officer and Co-Founder, Globish

ทักษะในการจัดการผลิตภัณฑ์สามารถเอามาประยุกต์ใช้ได้กับทั้งการส่งมอบให้สินค้าแก่ลูกค้าหรือองค์กร โดยยึดหลักธรรมอะไรก็ได้ให้สินค้าติดตลาดที่ประกอบไปด้วย 3 ด้าน 

  1. เราจำเป็นต้องมีสูตรลับหรือจุดแข็งเดิมที่เสริมด้วยเทคโนโลยีใหม่ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 
  2. จงสร้างสินค้าที่เป็น Pain Killer  ที่ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าได้จริง ๆ 
  3. เริ่มจากการเจ๊งในกระดาษ ด้วยการวิเคราะห์ธุรกิจอย่างง่าย ๆ Business model canvas เพื่อจำลองสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

Writing Skill

สิทธินันท์ พลวิสุทธิ์ศักดิ์ Owner & CEO, Content Shifu

การเขียนถือเป็นทักษะที่อยู่มานานนับพันปี และทักษะนี้ยังให้ประโยชน์มากมาย เพราะการเขียนคือการเรียบเรียงความคิด ต้องผ่านการคิดที่ตกผลึกในหัวก่อน จึงจะถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษรร้อยเรียงเป็นบทความได้ หากเราเขียนได้ดีมันมีประโยชน์ช่วยบริหารความคิดที่เป็นระบบ ทำให้สื่อสารได้ดียิ่งขึ้น จึงนับว่าเป็นอีกทักษะที่ทรงพลังในการถ่ายทอดสิ่งที่เรารู้ไปสู่ผู้คน

No-Code / Low-code Skill

สิทธินันท์ พลวิสุทธิ์ศักดิ์ Owner & CEO, Content Shifu

ในยุคนี้เราอาจจะไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดแต่ต้องเข้าใจว่าธุรกิจต้องการอะไร แล้วจึงเรียนรู้ที่จะหาตัวช่วย ทำให้สำเร็จด้วยการเอาระบบที่มีคนสร้างมาแล้วนำมาปรับประยุกต์ใช้งาน

Soul Management

ปัจจุบันนี้ท่ามกลางหลายสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป นี่เป็นอีกหนึ่งสกิลที่สำคัญที่สุด เราเก่งในโลกภายนอกแล้วจำเป็นต้องมีการหันกลับมาบริหารจิตใจตัวเองในวันที่ดีใจหรือเศร้าสุดขีด เนื่องจากเมื่อเราบริหารใจได้ดี จะส่งผลให้เราผลิตผลงานที่ดีตามมา จึงขอแนะนำ 3 วิธีในการจัดการจิตใจ ประกอบด้วย

  1. ปรึกษากับผู้ที่เคยผ่านปัญหานั้นมาก่อน เพื่อให้เราเข้าใจมุมมองและแนวทางแก้ไขปัญหา
  2. ปรับทุกข์กับคนที่เจอปัญหากับเรา เพราะบางครั้งเราไม่ได้อยากได้แนวทางในการแก้ไข เราอยากได้เพียงคนรับฟัง
  3. ลองนั่งสมาธิ การที่เราหายใจเข้าออกอยู่กับตัวเอง ช่วยให้เกิดความมั่นคงในจิตใจ และเป็นการรวมศูนย์พลังให้กลับมาอยู่ที่ตัวเรามากขึ้น

Relearning Skill

สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม CEO และเจ้าของบริษัท rgb72 ผู้จัดงาน Creative Talk

ทุกวันนี้ข้อมูลล้นไปหมด เรียนรู้กันไม่หวาดไม่ไหว ทำให้บางคนถึงกับเครียดและกังวล เนื่องจากข้อมูลในโลกออนไลน์นั้นมีการเติบโตแบบ exponential ทั้งที่มนุษย์เองถนัดการคิดแบบ Linear ทีละก้าว 

คุณเก่งได้เล่าว่า ถ้าเรารู้ว่าชอบอะไรก็โฟกัสที่สิ่งนั้นนี่แหละคือ Turning Point ของชีวิตจริง ๆ จากชีวิตคุณเก่งเองที่เคยเป็นคนเรียนไม่เก่งสู่คนที่ได้เกรด A ทุกวิชาออกแบบ เพราะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ และเน้นย้ำว่าเราไม่จำเป็นต้องขยันในทุกเรื่อง ค่อย ๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่สนใจหรือตอบโจทย์ในตำแหน่งงานก็พอ

สุดท้ายแล้วถึงเราจะเรียนรู้อะไรต่าง ๆ ที่ดูเหมือนยากลำบาก แต่ถ้ามีความสนุกและเป้าหมายแล้ว เราจะเรียนรู้ได้อย่างไม่มีเบื่อ แล้วเราจะคอยอยากรู้และตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา

Building Trust Skill

เสสินัน นิ่มสุวรรณ์ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ทำที่บ้าน

เราไม่สามารถเปลี่ยนไปสู่อนาคตได้โดยลืมอดีต นี่ถือเป็นบทเรียนที่ผมได้เรียนรู้หากเข้าใจธุรกิจเก่าก็จะสามารถพัฒนาไปสู่สิ่งใหม่ได้แต่หากไม่สามารถเข้าใจสิ่งเก่า ๆ เราก็แทบเปลี่ยนอะไรไม่ได้เลย แล้วการจะเข้าใจสิ่งเก่าจนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ก็ต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจ

 3 วิธีสร้างความไว้ใจในองค์กร สู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ประกอบด้วย

  1. เริ่มจากสร้างการเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็ก ๆ เพื่อให้คนเก่ารู้สึกคุ้นชิน จนค่อย ๆ ขยายเปลี่ยนในสิ่งที่ใหญ่ขึ้น
  2. สร้าง Learning Zone model ให้มีพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ ทำให้พนักงานรู้สึกว่าตัวเองออกจาก Comfort Zone ไปสู่ Growth Zone  และไม่ให้รู้สึกถึง Fear Zone มากจนเกินไป
  3. ทักษะในการสื่อสาร เมื่อถึงเวลาต้องพูด จงพูดให้เยอะสื่อสารระหว่างกันให้มาก แต่เมื่อไหร่ที่อีกฝ่ายพูด เราก็ต้องฟังอย่างตั้งใจ

Time Management

กษิดิศ สตางค์มงคล ผู้เชี่ยวชาญด้าน Data เจ้าของเพจ และเว็บไซต์ DataRockie

การจัดการเวลาคือสิ่งสำคัญ เนื่องจากเวลาคือทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด ใช้ได้อย่างเดียวแต่หาเพิ่มไม่ได้ ซึ่งเวลาเท่ากับชีวิตหากเราใช้เวลาได้คุ้มค่าก็เหมือนใช้ชีวิตได้คุ้มค่าแน่นอน

พร้อมกับการอธิบายเรื่อง Law of Diminishing Returns ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่นักเรียนเศรษฐศาสตร์ทุกคนมักเข้าใจ สรุปอย่างง่ายก็คืองานที่ทำแรก ๆ มักใช้ชั่วโมงการทำงานน้อยและเรียนรู้ได้มาก ในขณะที่งานในช่วงหลัง ๆ ใช้เวลาเท่ากันแต่กลับสร้างความก้าวหน้าได้อย่างน้อยลง

กษิดิศ สตางค์มงคล ผู้เชี่ยวชาญด้าน Data เจ้าของเพจ และเว็บไซต์ DataRockie

ดังนั้นพี่ทอยจึงได้เสนอให้เราเรียนรู้สกิลเพื่อเก่งในระดับ 80% แล้วนำแต่ละสกิลที่เรียนรู้ได้มาผสมผสานกัน เพื่อสร้างความแตกต่างและผลงานที่มีประสิทธิภาพในแบบฉบับของตัวเอง เนื่องจากทุก ๆ ทักษะใหม่ที่เราทำได้ ช่วยเพิ่มโอกาสสำเร็จในอนาคตสองเท่าเสมอ

รวมถึงต้องมีทักษะการจดจ่อ โฟกัสในแต่ละงานที่กำลังทำ กำจัดสิ่งรบกวนต่าง ๆ เอาชนะความขี้เกียจ และสมองของตัวเองให้ได้ เพราะสมองของเราพยายามจะ Distract ตัวมันเองตลอดเวลา Distractions ส่วนใหญ่เกิดจากภายใน ไม่ใช่ปัจจัยภายนอก ดังนั้น การโฟกัส คือหนึ่งในทักษะที่ช่วยให้เราเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แบบได้ผล ใช้คู่กับวินัยจะทำให้เราเป็น Generalist ขั้นสุด จึงถือได้ว่าเป็นเป็ดที่มีความเก่งกาจ โดยต้องมีอีก 5 อย่างคือ Discipline, Focus, Logic, Persuasion และ Faith

ปิดท้ายด้วย Skill Stack ที่สำคัญที่สุดในยุคนี้คือ Writing, Marketing, Value Creation รวมกันเป็น Entrepreneur Skill Stack เลย

Question Skills

สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ CEO KT Venture Capital, KTB

หากถามผมตอนนี้ว่าทักษะไหนสำคัญที่สุดในอนาคต ก็ต้องเริ่มจากการตั้งคำถามที่ถูกต้อง เพราะคำถามที่ถูกต้องจะเปลี่ยนจากการถามว่าทำไมถึงทำไม่ได้ เป็นทำอย่างไรให้ทำได้แทน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการแก้ตัวจากความผิดพลาด

ซึ่งทักษะนี้สามารถค่อย ๆ ฝึกได้ด้วยการเปิดใจให้อีกฝ่ายได้ตอบคำถามของเราด้วยความคิดที่พรั่งพรู และเราเองก็ต้องตระหนักให้ได้ว่าเราไม่รู้อะไร ยอมรับมัน จึงจะสามารถพัฒนาตัวเองด้วยการตั้งคำถามต่อไปได้เรื่อย ๆ


การเข้ามาฟังทุก Session ภายในงาน Talents of Tomorrow เรียกได้ว่า คุ้มค่ามาก ๆ เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ จาก 14 Speaker เหมือนการให้เราเริ่มสำรวจตัวเองว่า ตอนนี้เรามีทักษะต่าง ๆ เหล่านี้แล้วหรือยัง เตรียมรับมือกับอนาคตที่เปลี่ยนรวดเร็วดีแล้วใช่ไหม