ทุกคนที่เล่นโซเซียลมีเดียต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบน TikTok Instagram หรือกระทั่งบนฟีด Facebook คงต้องผ่านตากับคลิปของมาสคอตหมีเต้นดุ๊กดิ๊ก หรือที่หลายคนเรียกกันว่า ‘น้องหมีเนย’ ที่คาแรกเตอร์น่ารักเสียจนตกแฟนคลับ จนมีด้อมเป็นของตัวเอง ที่ชื่อว่า #ด้อมน้องเนย
ประวัติ หมีเนย Butterbear
น้องหมีเนยเป็นมาสคอตของร้านขนม Butter Bear Cafe ตั้งอยู่ที่ห้างเอ็มสเฟียร์ (EMSPHERE) ชั้น G ซึ่งเป็นแบรนด์คนไทย ที่อยู่ภายในเครือ Coffee beans by Dao ซึ่งบัญชีอินสตาแกรม น้องหมีเนย butterbear.th มีผู้ติดตามอยู่มากกว่า 180,000 ผู้ติดตามเลยทีเดียว
ร้านขนม Butter Bear Cafe เริ่มต้นขึ้นในช่วงโควิด จากผู้ก่อตั้งคือคุณบูม ธนวรรณ วงศ์เจริญรัตน์ที่เคยช่วยงานธุรกิจที่บ้าน ประกอบกับมีประสบการณ์จากแบรนด์ขนมคลีนอย่าง Skinnylicious จึงเกิดไอเดียที่ว่า Coffee beans by Dao ธุรกิจของครอบครัวนั้นมีแต่ร้านอาหารและคาเฟ่ แต่ยังไม่มีร้านขนมหวานเลย โดยใช้เวลาเพียง 6 เดือนในการก่อสร้างธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจขนมหวานก็มีจำนวนมากมายในตลาด หากไม่สร้างความแตกต่างก็คงยากที่จะเข้าไปอยู่ในใจของลูกค้าอย่างแน่นอน ทำให้ Butter Bear ต้องมีจุดขายที่มากกว่าขนมหวานที่อร่อย จนเริ่มนำกลยุทธ์มาสคอตตุ๊กตาหมีเต้นมาใช้ ที่น้องหมีเนยนั้นสามารถเต้นได้แทบทุกเพลงทั้ง T-Pop และ K-Pop ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ไวรัลดังมากในไทยจนห้างแตก รวมถึงบริษัทต่าง ๆ ในจีนติดต่อมาเพื่อซื้อแฟรนไชส์
จนกระทั่ง ตอนนี้น้องหมีเนยได้ออก 2 ซิงเกิล ประกอบด้วยเพลงเดบิวต์แสนสดใสอย่าง It’s Butterbear! และเพลง น่ารักมั้ยไม่รู้ (ที่มีเนื้อเพลงสดใส น่ารัก ขี้อ้อน กับทำนองที่ฟังสบาย ๆ รื่นหู) ที่ได้ไปเดบิวต์ในรายการ T-POP Stage Show
ทำไมน้องหมีเนยจึงดังปรอทแตก กับเหตุผลด้านจิตวิทยา
เหตุผลแรก คือ Mascot Branding คือการสร้างตัวแทนของแบรนด์ หรือ brand ambassador ที่หลอมรวมเป้าหมาย เอกลักษณ์ และความเป็นแบรนด์นั้น ๆ ไว้ในตัวละครตัวหนึ่ง ที่เป็นตัวแทนในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า สร้าง brand loyalty และความเชื่อมั่นที่ส่งผลต่อความสำเร็จขององค์กรในระยะยาว
ไอเดียนี้ได้รับความนิยมในหลายประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่มีหมีดำ ‘คุมะมง (Kumamon)’ คาแรกเตอร์ชื่อดังที่กำเนิดขึ้นในจังหวัดคุมาโมโตะ ภูมิภาคคิวชู ผู้คอยเป็นตัวแทนในกิจกรรมประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ รวมถึงยังเป็นศูนย์รวมจิตใจให้กับผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เป็นประวัติการณ์ที่คุมาโมโตะ ทำให้เห็นถึงความสำคัญของคาแรกเตอร์หนึ่งตัวกับการสื่อสารที่ทรงพลัง
อีกเหตุผลสำคัญ คือการผสมผสานมาสคอตกับ Storytelling ของน้องหมีเนยที่มีคาแรกเตอร์ราวกับเด็กน้อยที่มีความน่ารักร่าเริง กล้าแสดงออก แต่ยังคงมีสัมมาคารวะ และเขินอายในบางเวลา จึงสามารถเข้าถึงใจผู้คนได้เป็นจำนวนมาก แบบที่มนุษย์เรารู้สึกปลอดภัยเวลาที่อยู่ใกล้ ๆ เด็กน้อย อีกทั้งน้องหมีเนยยังมีการโชว์ตัวทุกวันเสาร์และอาทิตย์
นอกจากนี้มีการนำเรื่องราวของชีวิตหมีเนยมาใส่ในแพ็กเกจจิง โดยเล่าเป็นนิทาน ที่แตกต่างจากกล่องของร้านขนมทั่วไปอีกด้วย
และปรากฏการณ์ครั้งนี้สร้างความโด่งดังและดึงดูดความสนใจต่อแบรนด์ขนม และตัวน้องหมีเนยเป็นอย่างดี จนเกิดคำถามที่หลายคนอยากรู้ สงสัยว่าข้างในน้องหมีเนยนั้นเป็นหมีจริง ๆ หรือคนใส่ชุดกันแน่ ! ซึ่งถ้าถามคนในด้อมน้องเนย ทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “น้องเป็นหมีจริง ๆ ข้างในก็คือหมี” ซึ่งเป็นผลมาจากบุคลิกท่าทางของหมีเนยที่น่ารักน่าเอ็นดู ไหว้สวยมารยาทงาม มีปฏิสัมพันธ์กับทุกคนรอบข้าง มีการสื่ออารมณ์ผ่านการเคลื่อนไหวและเต้นออกมาได้ดีไม่น้อย จนทำให้หลายคนแทบไม่ใส่ใจแล้วว่าด้านในน้องคือใครกันแน่…