Outsmart your brain ถือได้ว่าเป็นตำราสารพัดนึกที่รวมเคล็ดลับการเรียนรู้ เปลี่ยนเรื่องเข้าใจยากให้กลายเป็นเรื่องง่าย ๆ เขียนโดย Daniel T. Willingham ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ของจิตวิทยาด้านความคิด

นี่เป็นหนังสือที่จะเปลี่ยนมุมมองของคุณต่อการเรียนรู้ ปลดปล่อยศักยภาพที่แท้จริง และเปิดประตูสู่ความเป็นไปได้มหาศาล

หากมองแค่ผิวเผินเล่มนี้อาจจะเหมาะแก่นักเรียนนักศึกษาทั้งหลายที่พยายามเตรียมสอบ แต่ในความเป็นจริงแล้วเล่มนี้เหมาะสำหรับทุกคนที่ต้องการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองให้เก่งยิ่งขึ้น เพราะในทุกวันนี้เราก็ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอด คล้ายกับนักศึกษาไม่ใช่เหรอ เพียงแต่เราไม่ได้เรียนรู้เพื่อสอบทำคะแนน แต่เพื่อปรับใช้ในการทำงาน หรือเพื่อความอยู่รอดในอนาคตที่โลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

ซึ่งการเรียนรู้เองก็เปรียบได้กับการเดินทาง หากเราเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ แต่ไม่รู้ทิศทาง ไม่มีแผนที่ เราก็จะมุ่งหน้าไปไม่ถึงจุดหมายสักที หรืออาจจะมุ่งไปผิดทาง

แม้เราจะเคยคิดว่าการเรียนรู้เพื่อที่จะเป็นคนเก่งนั้นเป็นเรื่องที่ยาก หรืออาจจะเคยเข้าใจว่าเป็นเพราะสมองถูกกำหนดมาอยู่แล้วหรือเปล่า แต่ผู้เขียนยืนยันว่าเราสามารถฝึกสมองได้ โดยเล่มนี้ แดเนียล วิลลิงแฮม ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย เจาะลึกถึงสาเหตุแห่งความล้มเหลวในการเรียนรู้ ซึ่งมาจากพฤติกรรมของสมองที่มักเลือกทางที่ง่ายเพื่อประหยัดพลังงาน ทำให้เราไปไม่ถึงศักยภาพที่แท้จริงของเรา

จนกลั่นออกมาเป็นเคล็ดลับที่ทำให้เราชนะสมอง มุ่งสู่การเรียนรู้ได้เก่งยิ่งขึ้นด้วยวิธีการกว่า 94 รูปแบบ ซึ่งเล่มนี้ก็จะแบ่ง วิธีการเรียนรู้ ออกเป็นหลายด้านด้วยกัน อาทิ เราจะเข้าใจการบรรยายได้อย่างไร, จดบันทึกให้ดีได้อย่างไร, จะอ่านหนังสือยาก ๆ ได้อย่างไร, ไปจนถึงการรับมือกับความวิตกกังวลได้อย่างไร เป็นต้น

ดังนั้น การอ่านเล่มนี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด คือเน้นย้ำไปในสิ่งที่เราต้องการจะรู้ ดูจากสารบัญเสียก่อน แล้วการอ่านจุดที่สนใจแล้วนำมาปรับใช้  เพราะเนื้อหาในเรื่องนี้อัดแน่นเยอะมาก 

ตัวอย่างเคล็ดลับพลิกวิธีเรียนรู้จาก Outsmart Your Brain 

ฟังอย่างไรให้เข้าใจผู้พูด

การฟังเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เนื่องจากเราต้องฟังก่อนจึงจะพูดคุยหรือสื่อสารได้อย่างเข้าใจ แต่จะมีบางช่วงเวลาที่เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไรด้วย เพราะสถานการณ์นี้จะอยู่นอกเหนือการทำความเข้าใจของเราไปอีก แล้วเราจะป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ได้อย่างไร

วิธีที่จะช่วยให้เรารับสาระข้อมูลการฟังได้ดียิ่งขึ้น ประกอบด้วย การลำดับประเด็นของผู้พูด โดยเริ่มจากการไล่เลียงจากภาพใหญ่ไปสู่หัวข้อย่อยลงมาตามลำดับ ซึ่งเราต้องเน้นไปที่การเชื่อมโยงเนื้อหาในแต่ละส่วนไม่ใช่แค่เข้าใจเพียงบางจุด อีกทั้งระหว่างที่มีผู้พูดตรงหน้าก็เราต้องฟังอย่างตั้งใจ คอยวิเคราะห์ตาม เมื่อสงสัยก็ต้องกล้าถาม มีส่วนร่วมด้วยเสมอ

จดบันทึกอย่างไรให้เกิดประโยชน์

การทำความเข้าใจการบรรยายก็เป็นสิ่งที่ยากอยู่แล้ว และการจดบันทึกนั้นยากขึ้นอีก เพราะเราต้องทำบางอย่างเพิ่มขึ้น แล้วโดยธรรมชาติปกติของมนุษย์จะพูดเร็วกว่าการเขียนถึง 6 เท่า ดังนั้นเราควรเริ่มต้นที่การเตรียมตัวที่ดีทั้งอุปกรณ์และสภาพแวดล้อมรอบตัวให้เหมาะสม ต่อมาระหว่างบรรยายจึงคัดกรองว่าจะจดหรือไม่จดอะไร ดูว่าข้อมูลไหนสำคัญ

ถ้าการบรรยายนั้นไม่มีข้อเท็จจริงจำนวนมาก ไม่ต้องใช้ความเร็ว การเขียนด้วยมือเป็นวิธีที่ดีที่สุด มันช่วยลดสิ่งรบกวนให้เราจดจ่อกับความคิดและสิ่งตรงหน้าที่อยู่ในกระดาษ

และผู้เริ่มต้นหัดจดก็ไม่ต้องกังวลกับรูปแบบการจดมากนัก เพราะรูปแบบที่ตายตัว จะทำให้เราเสียเวลาในการจดจ่อมากขึ้น เน้นไปที่การจดแบบอิสระเรียบง่ายดีกว่า แล้วเว้นพื้นที่สำหรับทบทวนสิ่งที่จดไป หากระหว่างบรรยายจดไม่ทันจริง ๆ การบันทึกเทปก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ และเป็นแผนสำรองฉุกเฉินที่ใช้ได้ดี

เอาชนะความวิตกกังวล

ความวิตกกังวลกังวลจะเปลี่ยนจากมีประโยชน์เป็นส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและจิตใจ ก็ต่อเมื่อคุณต้องใช้พลังใจไปกับการตรวจสอบภัยคุกคามที่ไม่มีอยู่จริงตลอดเวลา

โดยผู้เขียนอธิบายว่าสาเหตุหลักของความวิตกกังวลมาจาก 2 สาเหตุ อย่างแรกคือเรามักจะกลัวความผิดพลาดจากเหตุการณ์ก่อนหน้า แล้วคิดว่ามันจะเกิดซ้ำ ๆ ซึ่งความคิดแบบนี้เองเป็นการตอกย้ำว่าเราจะต้องเจอความผิดพลาดในอนาคตจากสิ่งที่อาจจะไม่เกิดก็ได้ อีกหนึ่งสาเหตุต่อมา คือกังวลกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ อาจจะดูคล้ายกับสาเหตุแรก แต่ต่างกันตรงที่ความกังวลอันนี้เกิดจากสิ่งที่เรายังไม่เคยพบเจอด้วยซ้ำแล้วเรากังวลไปก่อน

และเสนอแนวทางแก้ไขตามนี้ คือไม่ควรคิดว่าความวิตกกังวลจะหายไปอย่างรวดเร็ว เพียงค่อย ๆ รับมือกับมันไปทีละขั้น แล้วมุ่งเน้นไปที่การตีความความคิดใหม่ เพื่อจัดการความวิตกกังวลด้วยตัวคุณเอง เช่น บางเรื่องที่เราคิดว่าเป็นปัญหาลองพลิกมุมมองให้เป็นโอกาสดู พร้อมกับมีการประเมินความก้าวหน้าอยู่เสมอ ให้เห็นว่าการเรียนรู้ของเรามีการพัฒนา สิ่งเหล่านี้เองจะช่วยขจัดความคิดด้านลบที่อยู่ในหัวได้

เคล็ด (ไม่) ลับของการเรียนรู้

หลายคนเคยเข้าใจว่า สิ่งที่ทำให้เราเรียนรู้ได้เกิดจากข้อมูลนั้นน่าสนใจ หรือเราต้องสนใจเรื่องที่จะเรียนรู้ แต่ความเข้าใจนี้ถูกเพียงเสี้ยวหนึ่ง ผู้เขียนแนะนำว่าหากเรารู้จักวงจรนี้ มันจะเปลี่ยนโลกของการเรียนรู้เราไปตลอดกาล

ในความเป็นจริงเราสามารถเรียนรู้จุดไหนก็ได้ของวงจรนี้ ไม่จำเป็นต้องเริ่มด้วยความสนใจ อาทิ เริ่มเรียนรู้ที่จะรักษาความจดจ่อ หรือจะเริ่มเรียนรู้ที่จะผลัดวันประกันพรุ่งให้น้อยลง หรือเรียนรู้จากผลลัพธ์ที่ออกมาดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เนื้อหาที่ไม่อยากเรียนน่าเบื่อน้อยลงได้

อย่างไรก็ตาม การเป็น ‘ผู้เรียนอิสระ’ ย่อมเป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เพราะคนกลุ่มนี้จะเรียนรู้ด้วยความสนใจของตัวเอง เหนือไปกว่าสิ่งที่ผู้อื่นบอกว่าต้องทำ เปิดกว้าง แล้วอยากรู้หรืออยากเห็นอยู่เสมอ การเรียนรู้ของพวกเขาจึงเชื่อมโยงกับความสนุก ทำให้การเรียนรู้เป็นไปได้ไม่จำกัด ซึ่งเปรียบเสมือนการสำรวจดินแดนใหม่ไปได้เรื่อย ๆ

ชื่อหนังสือ: Outsmart Your Brain
ผู้เขียน: Daniel T. Willingham
ผู้แปล: นที สาครยุทธเดช
สำนักพิมพ์: Amarin HOW-TO
ราคา: 395 บาท