สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เผยผลการวิจัยใหม่ คนไทยอ่านหนังสือ 2 ชั่วโมงต่อวัน ไม่มีแล้ว 8 บรรทัดต่อปี อีกเรื่องน่าทึ่งคือผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไปอ่านอีบุ๊กมากกว่าเด็ก เพราะสายตายาว อีบุ๊กซูมได้
ความท้าทายในอุตสาหกรรมหนังสือของไทย
รายได้ที่หดตัวอย่างน่าใจหาย
จากข้อมูลของสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ธุรกิจหนังสือเคยมีมูลค่าตลาดสูงที่สุดประมาณ 25,000 ล้านบาทในปี 2557 ก่อนที่จะลดมูลค่าลงจนถึงจุดต่ำที่สุดประมาณ 12,000 ล้านบาทในปี 2563 โดยการลดลงอย่างมากนี้มีปัจจัยหลักจากการถดถอยและสูญหายไปของตลาดหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ล่าสุดในปี 2566 พบว่ามูลค่าตลาดรวมของหนังสือฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ในระดับ ประมาณ 17,000 ล้านบาท สอดคล้องกับตัวเลขรายได้รวมจากงบการเงินของบริษัทที่ผลิตและจัดจําหน่าย
ราคาหนังสือที่สูงขึ้น
ต้นทุนการผลิตหนังสือในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมากจากสองปัจจัย ส่วนแรกคือต้นทุนภายนอกอันเกิดจากราคากระดาษ ทั้งกระดาษนําเข้าซึ่งเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 40% นับตั้งแต่ปี 2563 ที่ค่าระวางขนส่งทางเรือเพิ่มขึ้นสูง ส่วนผลิตภัณฑ์กระดาษภายในประเทศก็มีไม่เพียงพอต่อการใช้งานและยังมีต้นทุนค่าขนส่งที่สูง
อีกส่วนหนึ่งคือ ปัจจัยต้นทุนภายในของกระบวนการผลิตหนังสือ ทั้งค่าต้นฉบับ ภาพประกอบ บรรณาธิการ ค่าแรงต่าง ๆ ซึ่งเมื่อจํานวนเล่มพิมพ์ต่อครั้งน้อยลง ต้นทุนคงที่ (Fix Cost) ที่สูงไม่สามารถกดค่าเฉลี่ยหารกับต้นทุนแปรผัน (Variable Cost) ยิ่งทําให้ราคาหนังสือต่อเล่มสูงขึ้น เป็นอุปสรรคต่อผู้อ่านจนไม่สามารถซื้อหนังสือที่ต้องการได้เพียงพอ
และยิ่งคนซื้อหนังสือน้อยลง จํานวนเล่มพิมพ์ก็ยิ่งน้อยลง ราคาก็จะแพงขึ้นเป็นวัฏจักรเลวร้ายที่ปิดกั้นและทําลายอุตสาหกรรมและภาพรวมการอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือเด็ก อย่างไรก็ตาม หนังสือบางประเภทได้กลายเป็นสินค้าสะสม และยังเป็นที่ต้องการของผู้อ่านแม้จะมีราคาสูง เช่น หนังสือภาพ หนังสือนิยายที่มีสินค้าพรีเมียมประกอบ เป็นต้น
AI ในวงการหนังสือ
ความท้าทายล่าสุดประการหนึ่งของวงการหนังสือ คือการเข้ามาของระบบปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถรวบรวม ประมวลผล ตอบคําถาม เขียน วาด ออกแบบ และแปลหนังสือ ข้อเขียนต่าง ๆ และแสดงความคิดเห็นได้ดียิ่งขึ้นตามลําดับพัฒนาการอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อบุคลากรในอุตสาหกรรมหนังสือทุกขั้นตอน และยังเป็นที่ถกเถียงในด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ของผลงานสร้างสรรค์ที่มนุษย์ได้ทําขึ้นมาก่อนด้วย ทุกคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียและทํางานในด้านหนังสือ งานเขียน ศิลปะ และการสร้างสรรค์ จึงควรร่วมกันอภิปรายและถกกันถึงผลกระทบ และมาตรการรับมือกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทั้งในแบบ Large Language Model และแบบอื่นที่ใหม่และยังเติบโตไม่หยุดยั้ง อีกทั้งเทคโนโลยีล่าสุดอย่าง Neural Link ที่จะส่งผ่านข้อมูลความรู้เนื้อหาเข้าสู่สมองโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านการอ่าน ดู ฟัง หรือสัมผัสอีกต่อไป หนังสือกระดาษหรือแม้แต่หนังสืออิเล็กทรอนิกส์จึงอาจล้าสมัยในอีกไม่นานนี้ แต่การคิดสร้างสรรค์บอกเล่าเนื้อหายังคงมีอยู่ในรูปแบบอื่นต่อไป
พฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนไทยปี 2024 เป็นอย่างไร
นายสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่า แม้หนังสือเล่มจะมีราคาสูงขึ้น แต่คนไทยก็ไม่ได้อ่านน้อยลง จากการศึกษาของคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งร่วมกับ PUBAT ในต้นปี 2567 พบว่า คนไทยใช้เวลากับการอ่านต่อวันมากถึงวันละ 2 ชั่วโมง โดยการอ่านในที่นี้รวมถึงการอ่านทุกรูปแบบทั้งข้อมูลข่าวสารในโซเชียลมีเดียและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์
และยังพบว่าผู้สูงวัยอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เนื่องจากสามารถขยายตัวอักษร รวมถึงให้ระบบอ่านออกเสียงให้ฟังได้ กลับกันเด็กและวัยรุ่นกลับอ่านหนังสือเล่มมากกว่าผู้สูงอายุ โดยเฉพาะหนังสือการ์ตูนและหนังสือนิยาย ส่วนกลุ่มอายุที่อ่านน้อยที่สุดคือกลุ่มคนวัยทํางาน เนื่องจากมีภาระหน้าที่ทางการงาน และภาระค่าใช้จ่าย ทําให้ไม่มีเวลากับการอ่าน ต่างจากกลุ่มเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงวัย
โดยประเภทหนังสือหนังสือไทยมีผู้อ่านมากที่สุด ได้แก่ หนังสือการ์ตูน มังงะ, นิยาย, หนังสือจิตวิทยา-ฮาวทู ให้กําลังใจ และธรรมะ
ขณะเดียวกันในยุคปัจจุบันที่มีสื่อออนไลน์เข้าถึงคนได้จำนวนมากขึ้น ทำให้เกิดผู้ผลิตเนื้อหาและพิมพ์หนังสือที่เป็นความสนใจเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ออกสู่ตลาดมากขึ้น โดยการพิมพ์ด้วยตนเอง (Self-published) ไม่ว่าจะเป็นนวนิยายแนว BL GL หรือเควียร์ การ์ตูนเฉพาะทาง หนังสือการลงทุน จิตวิทยา และหนังสือของคนดัง เซเลบริตี อินฟลูเอนเซอร์ต่าง ๆ กลายเป็นตลาดย่อยที่แตกกระจาย (Fragmented Market) ที่หนังสือมีราคาสูงขึ้นจากจํานวนพิมพ์ต่อครั้งต่ำ แต่ยังมีตลาดผู้อ่านเฉพาะทางรองรับ
กลยุทธ์และทิศทางการสนับสนุนธุรกิจหนังสือ
นโยบายจากภาครัฐที่ควรมี
นายธีรภัทร เจริญสุข กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เผยว่า ปัญหาสําคัญที่ได้รับเสียงเรียกร้องมากที่สุดเกี่ยวกับหนังสือคือการเข้าถึงหนังสือ
โดยเฉพาะเรื่อง ราคาหนังสือ ซึ่งรากฐานสําคัญมาจากจํานวนพิมพ์ที่น้อยลง ซึ่งนโยบายที่ตรงจุดและแก้ปัญหาได้มากที่สุด คือการเพิ่มอุปสงค์ผ่านการขยายห้องสมุดหรือศูนย์การเรียนรู้ และตั้งงบประมาณจัดซื้อหนังสือเพื่อให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มจํานวนพิมพ์ ลดราคาต่อเล่มลงทันที
อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อหนังสือจํานวนมากจากภาครัฐที่ผ่านมามักเกิดปัญหาการทุจริต ดังนั้นการจัดซื้อหนังสือควรมาจากความคิดเห็นของผู้ใช้บริการ รวมถึงจากประชาชนในเขตที่ห้องสมุดนั้นตั้งอยู่มากกว่าจะเป็นกรรมการที่มีอํานาจในการจัดหาหนังสือ
หรืออาจใช้วิธีการให้คูปองซื้อสินค้าหนังสือหรือสินค้าวัฒนธรรมแก่เด็กและเยาวชนไปเลือกซื้อหนังสือจากร้านตามใจชอบ ดังเช่น ตัวอย่างของฝรั่งเศส ไต้หวัน หรือทุนในโครงการหนึ่งอ่านล้านตื่นที่ PUBAT ดําเนินการอยู่ ในส่วนของนโยบายอื่นที่สามารถช่วยเหลือวงการหนังสือ ก็เป็นไปได้ทั้งนโยบายอุดหนุนทางภาษี เงินกู้ต้นทุนต่ำแก่ผู้ผลิต การลดหย่อนภาษีโดยการซื้อหนังสือ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มกระดาษพิมพ์หนังสือและบริการจัดพิมพ์หนังสือ การทําวิจัยข้อมูลด้านหนังสืออย่างละเอียด ส่งเสริมการแปลหนังสือไทยออกไปต่างประเทศ รวมถึงการส่งเสริมงาน เขียนและหนังสือไทยให้แพร่หลายผ่านสื่อบันเทิงต่าง ๆ นอกจากหนังสือด้วย โดยการขับเคลื่อนนโยบายด้านหนังสือ จําเป็นต้องมีเจ้าภาพหน่วยงานรับงบประมาณเพื่อดําเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ คือการจัดตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติขึ้นภายใต้องค์กรวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (THACCA)
หนังสือแปลท่วมตลาดหนังสือไทย รับมือและใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร
จากข้อมูลของ PUBAT เราทราบว่า 70% ของยอดขายหนังสือในไทย เป็นหนังสือการ์ตูนกับนิยาย และเมื่อประกอบกับข้อมูลของหอสมุดแห่งชาติ พบว่าในปี 2566 มีวรรณกรรมแปลตีพิมพ์ในไทยจํานวน 4,254 ปก ในขณะที่วรรณกรรมไทยตีพิมพ์เพียง 2,102 ปก และหนังสือการ์ตูน 4,205 ปก ส่วนใหญ่ก็เป็นหนังสือการ์ตูนที่แปลมาจากต่างประเทศ ส่วนหนังสือประเภทอื่น เช่น หนังสือจิตวิทยา การเงิน หนังสือเด็กและเยาวชน ก็มีสัดส่วนการแปลจากต่างประเทศในอัตราสูง เราอาจประมาณการคํานวณต่อได้ว่า ตลาดหนังสือไทยมากกว่า 60% เป็นหนังสือแปลจากต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น จีน และเกาหลี ที่ครองตลาดอยู่ตามลําดับ อย่างไรก็ตาม การหาตัวเลขสัดส่วนหนังสือแปลต่อหนังสือไทย ประเทศที่มาของหนังสือ รวมถึงมูลค่าการซื้อลิขสิทธิ์ที่แน่ชัด ควรได้รับการศึกษาเพิ่มเติมอย่างละเอียดเพื่อนําข้อมูลมาใช้เจรจาต่อรอง ขอรับผลประโยชน์ ทุน หรือการสนับสนุนด้านหนังสือและการอ่านกับองค์กรด้านหนังสือและวัฒนธรรมของต่างชาติต่อไป รวมถึงยังสามารถใช้ยอดซื้อเข้านี้แลกเปลี่ยนกับการแปลหนังสือไทยขายลิขสิทธิ์ออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการแปล ทั้งโดยการให้ทุนแปลหนังสือกับสํานักพิมพ์ต่างชาติ หรือทุนแปลแก่สํานักพิมพ์และนักเขียนไทยเพื่อลงขายแบบดิจิทัลในแพลตฟอร์มระดับสากล
ร้านหนังสือที่เป็นมากกว่าร้านขายหนังสือ งานหนังสือที่ต้องเป็นมากกว่างานขายหนังสือ
จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมของผู้อ่านเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทั้งในด้านสื่อที่ใช้อ่านหนังสือ และช่องทางการซื้อหนังสือ ร้านหนังสือและงานหนังสือแบบเดิมย่อมถูกบังคับให้เกิดการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ร้านหนังสืออิสระหรือแม้แต่ร้านแฟรนไชส์ปิดตัวลงหรือมีสินค้าที่ไม่ใช่หนังสือขายเป็นสัดส่วนมากขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนกันกับวงการหนังสือทั่วโลก แม้ว่าจํานวนคนที่เข้าร่วมงานหนังสือยังมีมากถึง 1.4 ล้านคนแต่ก็ลดลงจากจุดสูงสุดในปี 2561 ที่เคยมีมากถึง 2 ล้านคน ข้อพูดคุยจากสมาคมผู้จัดพิมพ์สากล (International Publishers Association) และองค์กรเนื้อหาสร้างสรรค์ของไต้หวัน (TAICCA) มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า กิจการร้านหนังสือที่ยังจะอยู่ต่อได้ในอนาคตต่อจากนี้ ต้องมีกิจกรรมที่มากกว่าการขายหนังสือ เป็นชุมชนแห่งการอ่านของคนรักหนังสือ รวมถึงการจัดงานหนังสือ (Book Fair) ที่ต้องเปลี่ยนแปลงจากงานขายหนังสือ ให้กลายเป็นงานพบปะสังสรรค์ระหว่างผู้ผลิตหนังสือ ผู้ผลิตเนื้อหา ทั้งนักเขียน นักวาด และผู้สร้างสรรค์ผลงานอื่นและผู้อ่านผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนดังกล่าวยังต้องหาจุดสมดุลและตอบโจทย์ความคุ้มค่าการลงทุนของทั้งผู้จัดพิมพ์จัดจําหน่ายและผู้จัดงาน เพราะจะเป็นการเพิ่มต้นทุนที่สูงขึ้นโดยไม่สามารถรับประกันว่ารายได้ส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นจะคุ้มค่าหรือไม่
ภาคการเงินสนับสนุนนิสัยรักการอ่านคนไทยได้อย่างไร?
นายธีรพจน์ : เคทีซีตระหนักถึงความสําคัญของการอ่านหนังสือ ซึ่งเป็นกุญแจสําคัญในการเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ในทุกกลุ่มสาระ จึงมุ่งมั่นให้การสนับสนุนคนไทยรักการอ่าน และส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาบุคคลและสังคมให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน อีกทั้งสอดคล้องกับทางภาครัฐที่ได้ยกระดับความสําคัญของนโยบายการ ส่งเสริมการอ่านให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้สํานักพิมพ์ผลิตและพัฒนาหนังสือให้ดีมีคุณภาพ และกระตุ้นให้คนไทยเห็นความสําคัญของการอ่านอย่างจริงจัง
เคทีซีจึงร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ ซึ่งหมายรวมถึงสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ร้านค้าหนังสือ สํานักพิมพ์ชั้นนําทั่วประเทศ จัดแคมเปญส่งเสริมการขาย และกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มากกว่า 35 โครงการ ผนวกกับการนําเทคโนโลยีมาใช้ในการรณรงค์ เช่น การมอบสิทธิประโยชน์ส่วนลดสูงสุด 15% ณ ร้านค้าพันธมิตรและช่องทางการจําหน่ายออนไลน์ การใช้ e-coupon การใช้คะแนนสะสมเคทีซีแลกรับเครดิตเงินคืน 18% จากอัตราปกติ 10% และสําหรับลูกค้าที่ซื้อปริมาณมาก บริษัทยังมอบสิทธิประโยชน์เพื่อแบ่งเบาภาระการชําระคืน ด้วยบริการผ่อนชําระกับบัตรเครดิต KTC ในอัตรา ดอกเบี้ยพิเศษ 0.69% ต่อเดือน จากอัตราปกติที่ 0.80% ต่อเดือน นานสูงสุด 10 เดือน
โดยในปีที่ผ่านมาทางเคทีซีมีจํานวนสมาชิกบัตรที่ใช้จ่ายที่สํานักพิมพ์หรือร้านหนังสือ 160,456 ราย โดยใช้ งบประมาณในการสนับสนุนการแลกคะแนนอัตราพิเศษและดอกเบี้ยพิเศษประมาณ 2 ล้านบาท (1.98 ล้านบาท)