ก่อนหน้านี้ทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้เผยผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน 10 วันข้างหน้า (8 – 17 กันยายน 2567) โดยอ้างอิงจากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) ซึ่งวิเคราะห์จากแบบจำลองสภาพอากาศ พบว่าเฉดสีแดงในแผนที่หมายถึงฝนตกหนัก และเฉดสีเขียวบ่งบอกถึงฝนเล็กน้อย การเกิดฝนในพื้นที่ประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าวสามารถแบ่งได้เป็น 2 ช่วง โดยแต่ละช่วงมีปัจจัยที่แตกต่างกัน

ช่วงแรก: ระหว่างวันที่ 8-9 กันยายน 2567 พายุไต้ฝุ่น “ยางิ” ที่อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนยังคงเคลื่อนตัวผ่านตอนบนของประเทศเวียดนามในช่วงเช้าวันที่ 8 กันยายน 2567 และคาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน การอ่อนกำลังของพายุนี้ทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้เกิดฝนตกตามแนวขอบพายุในหลายพื้นที่ เช่น ภาคอีสานตอนบน (บึงกาฬ หนองคาย หนองบัวลำภู เลย และอุดรธานี) รวมถึงภาคเหนือตอนบน (แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน น่าน แพร่ พะเยา และอุตรดิตถ์)

ช่วงที่สอง: ระหว่างวันที่ 10-17 กันยายน 2567 สถานการณ์ฝนในช่วงนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากร่องมรสุมจะเคลื่อนลงมาพาดผ่านบริเวณภาคอีสาน และหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมพื้นที่ ทำให้มีฝนกระจายเพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาค เช่น ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง (รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล) ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน ทั้งนี้ จะต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักในบางพื้นที่อีกครั้งในช่วงนี้

อิทธิพลของ พายุยางิ

อิทธิพลของ พายุยางิ นั้นส่งผลกระทบต่อภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย หลังจากเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวันและคืนตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2567 ทำให้น้ำป่าจากฝั่งเมียนมาไหลทะลักลงสู่แม่น้ำสาย ในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ส่งผลให้บ้านเรือน ร้านค้า ตลาดสด และหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสายได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง

นอกจากนี้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ออกประกาศเตือนพื้นที่ให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในช่วงวันที่ 13-18 กันยายน 2567 โดยระบุว่าร่องมรสุมจะเคลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือของประเทศไทย พร้อมกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ฝนตกหนักเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ด้วยสภาพอากาศดังกล่าว สทนช.ขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำและชุมชนเมืองที่มีแนวโน้มเกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำป่าไหลหลาก 

  • ภาคเหนือ ในพื้นที่เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
  • ภาคกลาง ในพื้นที่ลพบุรี สระบุรี กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
  • ภาคตะวันออก ในพื้นที่นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
  • ภาคใต้ ในพื้นที่ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี ตรัง และสตูล

เปรียบเทียบสถานการณ์น้ำ 2567 กับ 2554 

หลายคนเกิดความกังวลและสงสัยในเหตุการณ์น้ำท่วมคราวนี้ว่าจะมีความรุนแรงมากเพียงใดเมื่อเทียบกับเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 ในปี 2554 ประเทศไทยประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงต้นปีและดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี น้ำท่วมเกิดขึ้นในหลายภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลางที่ได้รับผลกระทบหนักเป็นเวลาหลายเดือน กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเผชิญกับน้ำท่วมครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี นับตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ในปี 2485 เหตุการณ์นี้สร้างความเสียหายต่อการเกษตร อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศอย่างรุนแรง และยังกระทบต่อหลายภาคส่วนในวงกว้าง

ตามรายงานจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 74 จังหวัด ครอบคลุม 844 อำเภอ 5,919 ตำบล และ 53,380 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 16,224,302 คน จาก 5,247,125 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1,026 คน บาดเจ็บ 33 คน บ้านที่เสียหายทั้งหลังมีจำนวน 2,632 หลัง และบ้านที่เสียหายบางส่วนอีก 477,595 หลัง นอกจากนี้ยังมีอาคารพาณิชย์เสียหาย 4,011 แห่ง โรงงาน 1,823 แห่ง วัดและโรงเรียน 4,563 แห่ง ปศุสัตว์เสียหายจำนวน 2,263,408 ตัว พื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบมีขนาด 11,798,241 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 23,839 ล้านบาท จากข้อมูลดาวเทียมพบว่าในปี 2554 มีพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 31.45 ล้านไร่ กระจายอยู่ทั่วประเทศ ครอบคลุม 72 จังหวัด 763 อำเภอ 5,296 ตำบล

ความเห็นจาก ดร.เสรี ศุภราทิตย์

BT ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงคำถามสำคัญที่ว่า น่ำท่วมครั้งนี้จะมีความรุนแรงมากเพียงใดเมื่อเทียบกับเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554

หากพูดถึงน้ำท่วมปี 2554 และ 2567 นั้นมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะพื้นที่เชียงราย น่าน พะเยา และแม่สาย น้ำท่วมในปีนี้หนักกว่าปี 2554 อย่างมาก เหตุผลหลักมาจากปริมาณฝนที่ตกลงมา โดยที่เชียงรายและแม่สาย มีฝนตกในวันเดียวถึง 220 มิลลิเมตร และในช่วง 3 วันปริมาณฝนสะสมประมาณ 320 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณฝนที่ตกในรอบ 100 ปี ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2554 ซึ่งเกิดน้ำท่วมในรอบ 50 ปี จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ครั้งนี้รุนแรงกว่า

อีกปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้นคือ การบริหารจัดการและการเตรียมความพร้อมที่ผิดพลาด ตัวอย่างเช่น การไร้ซึ่งระบบเตือนภัย ซึ่งมีผลสำคัญต่อการลดความเสียหายได้ถึง 30% หากดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ดังที่งานวิจัยหลายชิ้นได้ชี้ให้เห็น

ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมก่อนเกิดภัยพิบัติจึงเป็นสิ่งสำคัญ ระบบเตือนภัยต้องครอบคลุมและทั่วถึง นอกจากนี้ ควรมีแผนที่น้ำท่วมที่ชัดเจนสำหรับประชาชน เพื่อให้พวกเขาเห็นถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของตน คำถามสำคัญคือ เราได้ทำสิ่งเหล่านี้แล้วหรือยัง ? หากยังไม่ได้ทำ ความเสียหายก็จะเพิ่มขึ้นทันที อย่างน้อย 30% 

เส้นทางไหลส่งผลกระทบวงกว้างแค่ไหน จังหวัดไหนต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

ปริมาณน้ำที่ท่วมอยู่ในเชียงรายและแม่สาย แบ่งเป็นสองส่วน เริ่มจากเชียงรายก่อน น้ำที่ท่วมมาจากแม่น้ำกกและแม่น้ำฝาง ซึ่งแม่น้ำสองสายนี้ไหลมารวมกันที่เชียงใหม่ก่อนจะไหลลงสู่เชียงรายเป็นแม่น้ำกก โดยต้นน้ำของแม่น้ำกกอยู่ในพม่า 30% ดังนั้น ปริมาณน้ำทั้งหมดจากฝนที่ตกหนักจากพายุยางิ จะถูกกักเก็บในพม่าประมาณ 30% ก่อนส่งลงมาเชียงราย โดยปริมาณน้ำที่ท่วมเชียงรายตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนที่สองมาจากแม่น้ำแม่สาย ซึ่งต้นน้ำก็อยู่ในพม่าเช่นกัน แม่น้ำทั้งสองสายนี้จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อภาคกลาง ดังนั้นไม่ต้องกังวลในส่วนนี้ แต่จะส่งผลกระทบต่อภาคอีสาน เพราะน้ำที่ไหลลงแม่น้ำโขงจะทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น หากมีฝนตกหนักในภาคอีสานช่วงนี้ น้ำจะระบายไม่ทัน ซึ่งจากการคาดการณ์ของ รศ. เสรี ชี้ให้เห็นว่าช่วงวันที่ 18-20 กันยายน ฝนจะตกหนักในภาคอีสาน และเมื่อน้ำในแม่น้ำโขงสูงพอดี จะเกิดความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง หากน้ำไม่สามารถระบายได้ อาจเกิดน้ำท่วมในกรุงเทพฯ

สำหรับภาคกลาง ความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมแบบปี 2554 อยู่ที่น้อยกว่า 10% ซึ่งเราต้องเฝ้าดูปริมาณฝนที่ตกในลุ่มน้ำยม หากตกหนักในพื้นที่พะเยา แพร่ สุโขทัย หรือพิจิตร น้ำจะไหลลงมาภาคกลางทั้งหมด ส่วนฝนที่ตกในลุ่มน้ำปิงหรือน้ำน่าน เรายังมีเขื่อนขนาดใหญ่เช่น เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ที่สามารถรองรับน้ำได้พอสมควร

ถึงแม้โอกาสเกิดน้ำท่วมในภาคกลางจะน้อยกว่า 10% แต่เราก็ต้องเตรียมแผนรับมือให้พร้อม เพราะหากเกิดขึ้น ความเสียหายจะมาก เช่นเดียวกับปี 2554 ที่สร้างความเสียหายถึง 1.4 ล้านล้านบาท แม้โอกาสจะน้อย แต่หากเกิดขึ้นจริง เราจะต้องมีแผนการจัดการที่ชัดเจนว่าจะเก็บน้ำไว้ที่ไหน หรือจะจัดการกับบ้านเรือนและที่นาของประชาชนอย่างไร

สิ่งเหล่านี้ต้องถูกเตรียมเป็นแผนไว้ล่วงหน้า เพราะเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีพายุเข้ามากี่ลูกในเดือนกันยายน แม้โอกาสจะน้อย แต่การมีแผนพร้อมรับมือเป็นสิ่งจำเป็น

ภาคกลางและกรุงเทพฯ จะรอดไหม

มาถึงตรงนี้หากฝนตกในภาคเหนือ ก็อาจทำให้น้ำหลากเข้ามาได้ แต่โอกาสเกิดขึ้นมีน้อยกว่า 10% อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ฝนจะตกหนักในภาคกลางมีสูงมาก ซึ่งความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมในภาคกลางและกรุงเทพมหานครมาจากน้ำที่รอการระบาย ฝนตกหนักในพื้นที่โดยตรง แล้วต้องใช้เวลาหลายวันในการสูบน้ำออก บางครั้งอาจใช้เวลาถึง 3-5 วัน

รศ. เสรี กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือจะคลี่คลายลงใน 10 วัน แต่ทั้งนี้ต้องรอลุ้นกับปริมาณร่องฝน หากมีฝนตกมาจำนวนมากอาจเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ได้ ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในช่วง 30 วันต่อจากนี้ หากผ่านพ้นเดือนกันยายนไปได้ โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมก็ยิ่งน้อยลง

ได้อะไรจากบทเรียนนี้ เราควรจะไปพัฒนาส่วนไหน 

ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา มีความพยายามพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ถึงระดับที่ควรจะเป็น ดังนั้น เมื่อเห็นว่ามีผู้เสียชีวิตหรือเกิดความเสียหายขึ้น แสดงว่าระบบยังมีปัญหา เราต้องมาดูให้ละเอียด โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือตรวจสอบเหตุการณ์ เช่น กรณีเชียงรายว่าเกิดอะไรขึ้น เราต้องให้ความสำคัญกับระบบเตือนภัยอย่างชัดเจนและเข้าถึงทุกคน

สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมคือ 1) ระบบเตือนภัยต้องมาพร้อมกับแผนที่น้ำท่วมที่ชัดเจน 2) มีมาตรการรองรับล่วงหน้า เช่น ถ้ารู้ว่าฝนจะตกหนัก ก็สามารถวางแผนสร้างแก้มลิงเก็บน้ำล่วงหน้าได้ เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าพื้นที่อย่างเชียงราย

ในมุมมองของ รศ. เสรี เหตุการณ์แบบนี้สามารถคาดการณ์ได้ หลายคนอาจจะบอกว่า “เราไม่รู้ว่าฝนจะตกหนักแค่ไหน” แต่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทราบแน่นอน มืออาชีพรู้ล่วงหน้า ซึ่งมีการแจ้งเตือนไปตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน ว่าวันที่ 10 จะเกิดเหตุหนัก และมันก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ ดังนั้นเหตุการณ์นี้วิทยาศาสตร์สามารถคาดการณ์ได้ สิ่งที่สำคัญคือการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการร่วมมือระหว่างท้องถิ่นและหน่วยงานส่วนกลาง วัตถุประสงค์สุดท้ายคือทำให้ชุมชนเข้มแข็ง

การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน หมายถึงอะไร? คือ 1) ชุมชนมีระบบของตนเอง 2) ชุมชนมีมาตรการป้องกันและเตรียมรับมือที่ดี ทุกอย่างเกิดขึ้นที่ชุมชนเอง ดังนั้นสจึงต้องมี 3 อย่าง คือ

  • คนที่มีความรู้ในการวางแผน แผนที่น้ำท่วม และระบบเตือนภัย
  • งบประมาณ
  • เครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็น

สิ่งเหล่านี้ใช้เงินน้อยกว่าการฟื้นฟูหรือเยียวยาหลังเกิดภัย แต่คำถามคือ เราจะทำไหม? ทำเมื่อไหร่? และทำอย่างไร? นี่ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมีการทดลองทำกับหลายชุมชนแล้ว นี่คือประเด็นหลัก การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนตามหลักสากลคือ ให้ชุมชนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้โดยที่เราช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับพวกเขา

เราจะแก้ไขปัญหานี้ไปด้วยกันยังไง

รศ. เสรีทิ้งท้ายว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรถ่ายโอนอำนาจในการจัดการน้ำไปให้กับท้องถิ่น เพราะปัจจุบันท้องถิ่นยังค่อนข้างอ่อนแอ เนื่องจากขาดข้อมูล ขาดบุคลากร และขาดเครื่องมือที่จำเป็น รัฐบาลควรส่งมอบอำนาจนี้ให้ท้องถิ่นดูแลเอง แทนที่จะยึดการควบคุมไว้ที่ส่วนกลาง เพราะในปัจจุบัน ประเทศไทยมีความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมในทุกภูมิภาค ส่วนกลางไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึงแล้ว ทุกที่ล้วนประสบปัญหา เช่น ภูเก็ต ตราด น่าน สิ่งที่ต้องทำคือถ่ายโอนอำนาจการจัดการและงบประมาณให้ท้องถิ่นดูแลตัวเอง ท้องถิ่นจะเข้มแข็งขึ้น รัฐบาลกลางเพียงแค่ตรวจสอบการใช้งบประมาณ และการดำเนินการทางเทคนิคให้เป็นไปตามมาตรฐาน ไม่มีการทุจริตหรือคอร์รัปชัน ส่วนการกำกับดูแลมาตรฐานนั้นเป็นหน้าที่ของส่วนกลาง แต่เมื่อชุมชนเข้มแข็งแล้ว รัฐบาลกลางก็จะเหนื่อยน้อยลง เพราะชุมชนสามารถจัดการปัญหาได้เอง นี่คือเป้าหมายที่เราควรเดินไปให้ถึง