รูปลักษณ์และสีสันของธงชาติไทยนั้นถูกกำหนดครั้งล่าสุดในวันที่ 30 กันยายน 2560 ซึ่งคณะทำงานได้มีการนำธงชาติไทยจาก 3 แหล่งคือ 1. ธงชาติจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 2. ธงชาติจากพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย และ 3. ธงจากราชนาวี มาพิจารณาเป็นธงอ้างอิงในการวัดค่าสี ซึ่งสุดท้ายสีต้นแบบที่ราชการอ้างอิงชุดนี้มาจากธงของราชนาวี ซึ่งวัดด้วยเครื่อง Colorimetric spectrophotometer โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ

ซึ่งรหัสสีที่ระบุเป็นค่าแนะนำนี้ กำหนดในระบบสี L*a*b* ที่สามารถระบุเนื้อสีที่แท้จริงได้ โดยไม่ต้องระบุตัวแปรอื่นอย่างชนิดกระดาษหรือหมึกเหมือนระบบสี CMYK ที่ค่าสีเดียวกันจะพิมพ์ออกมาคนละสีกันบนกระดาษและหมึกที่ต่างกัน
ระบบสี L*a*b* หรือ CIELAB color space นั้นถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 1976 โดย International Commission on Illumination (ย่อว่า CIE ตามชื่อฝรั่งเศสคือ Commission internationale de l’éclairage) องค์กรกลางด้านแสง, การเรืองแสง, สี, ขอบเขตสีระหว่างประเทศ

โดยระบบสี L*a*b* นั้นพัฒนาขึ้นมาจากการรับรู้แสงสีของมนุษย์ อ้างอิงจากการศึกษาทฤษฎีสีตรงข้าม (Opponent process) และ ทฤษฎีสีสี่หลัก (Unique hues) ที่บอกว่า 4 สีหลักของมนุษย์คือ แดง, เขียว, น้ำเงิน, เหลือง L*a*b* จึงเป็นระบบสีที่สามารถกำหนดค่าของทุกสีที่มนุษย์มองเห็นออกมาได้ ซึ่งขอบเขตสีที่เราเคยได้ยินอย่าง sRGB, DCI-P3 ก็ล้วนเป็นขอบเขตที่แคบกว่าสีที่ L*a*b* ระบุได้

ระบบสีนี้ประกอบด้วย 3 แกนที่สามารถแสดงผลเป็นลูกบอล 3 มิติของสีได้

L* = Luminosity หรือความสว่าง มีค่าตั้งแต่ 0-100
a* = ค่าสีไล่ตั้งแต่เขียวถึงแดง มีค่าตั้งแต่ -128 (สีเขียว) ถึง 128 (สีแดง)
b* = ค่าสีไล่ตั้งแต่น้ำเงินถึงเหลือง มีค่าตั้งแต่ -128 (สีน้ำเงิน) ถึง 128 (สีเหลือง)

เพราะฉะนั้นการระบุสีของธงไตรรงค์ในเอกสารราชการเป็น L*a*b* โดยระบุค่า ∆E* (delta E) หรือความผิดเพี้ยนของสีเอาไว้ด้วย ก็เพื่อถ่ายทอดสีจริง ๆ ของธงไตรรงค์ออกมาได้ ทำให้สามารถนำไปแปลงเป็น RGB หรือ CMYK ที่เหมาะสมกับการใช้ต่าง ๆ ได้ถูกต้องที่สุด