งานเสวนา Future Trend Ahead 2025 ในหัวข้อ Thailand Ahead 2025: Economic & Business Outlook ร่วมวิเคราะห์อนาคตเศรษฐกิจโลกและไทย นำโดย ‘จูน–จรีพร จารุกรสกุล’ ประธาน WHA GROUP, ‘ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ ประธานสภาพัฒน์ และดำเนินรายการโดย ‘พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์’ หรือพี่หนุ่ย BT beartai ที่ชี้ให้เห็นความท้าทายและโอกาสที่ไทยต้องเผชิญ พร้อมแนะแนวทางการปรับตัวกับเมกะเทรนด์โลก

มุมมองเศรษฐกิจไทยในอนาคต

พี่หนุ่ยถามทั้งคู่ถึงอนาคตของประเทศไทยในปี 2025 นี้ว่าจะเป็นเช่นไร ? คุณจูน–จรีพร ชี้ให้เห็นปัญหา GDP ไทยที่โตต่ำกว่าภูมิภาค เนื่องจากการบริโภคชะลอตัวจากภาคครัวเรือนมีหนี้สูง ทำให้ธนาคารไม่กล้าปล่อยกู้

อย่างไรก็ตาม จากมุมมองของเธอมองว่าการลงทุน โดยเฉพาะจากนิคมอุตสาหกรรมอย่าง WHA, อมตะนคร และนิคมฯ อื่น ๆ ยังเติบโตได้ดี รวมถึงเมื่อลงทุนจนโรงงานต่าง ๆ สร้างเสร็จจะมีการกระตุ้นการจ้างงานคนในพื้นที่ และเพิ่มการส่งออกจะช่วยผลักดัน GDP ให้แตะ 3%

เศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากการเมืองสหรัฐฯ

ส่วน ดร. ศุภวุฒิเตือนว่า GDP ไตรมาส 4 ของไทยโตช้ากว่าที่คาด สะท้อนความสามารถการแข่งขันที่ลดลง โดยเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกมากกว่า 60% ของ GDP ซึ่งได้รับผลกระทบจากแนวทางการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะหากเกิดนโยบายทรัมป์ 2.0 ที่เน้นสงครามการค้าและดึงฐานการผลิตกลับประเทศ

เจาะลึกยุทธศาสตร์ทีมงานทรัมป์มุ่งเป้าจีนเป็นหลัก ทิ้งยุโรป-ตะวันออกกลางไว้ข้างหลัง โดยวางแผนการเมืองโลกด้วยการจัดลำดับความสำคัญใหม่ ซึ่งมองว่าจีนคือคู่แข่งหลักที่ต้องจัดการเป็นอันดับแรก ส่วนยุโรป ตะวันออกกลาง และพันธมิตรอื่น ๆ เป็นเพียงสมรภูมิรอง

  1. ยุโรป : ทีมทรัมป์มีแนวโน้มจะผลักภาระปัญหายูเครน-รัสเซียให้ยุโรปจัดการเอง โดยเปิดช่องเจรจากับปูตินเพื่อยุติสงครามเร็วที่สุด
  2. แคนาดาและ TSMC : มุ่งกดดันซัปพลายเชนเทคโนโลยีสำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์จาก TSMC และตั้งเงื่อนไขทางการค้ากับแคนาดา
  3. ตะวันออกกลาง : เน้นสนับสนุนอิสราเอลในการจัดการปัญหาปาเลสไตน์ มุ่งเป้าให้ไล่ผู้ลี้ภัยกาซาออกจากพื้นที่

บทบาทของอีลอน มัสก์ในการเปลี่ยนเกม

พี่หนุ่ยถามเสริมถึงบทบาทอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ในรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ช่วยในการเปลี่ยนแปลงเรื่องใดบ้าง ? ดร. ศุภวุฒิให้คำตอบว่า หน้าที่หลักของมัสก์นั้นมี 2 บทบาท อันดับแรกด้าน AI มัสก์ผลักดันการพัฒนา AI เพื่อให้สหรัฐฯ ได้เปรียบด้านเทคโนโลยีและลดการพึ่งพาจีน

และอันที่สองคือการคุมกระทรวง DOGE เพื่อการปฏิรูปภาครัฐ สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อลดระบบราชการ พร้อมเรียกร้องให้ลดจำนวนข้าราชการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐ

แนวทางการพัฒนาประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

คุณจูน–จรีพร กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องคำนึงถึงสามมิติหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม

โดยในด้านเศรษฐกิจ (Economic Growth) ประเทศไทยต้องส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง สนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่น และลงทุนในนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน นอกจากนี้ ควรปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลก

ในด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection) ประเทศต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดมลพิษ และรักษาทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน ด้านสังคม (Social Equality) ต้องมุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้ทุกภาคส่วนของสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เพื่อให้การเติบโตของประเทศเป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืน

3 สร้างเพื่ออนาคตไทย

คุณจูน–จรีพร ฝากข้อคิดว่า การพัฒนาไทยต้องมุ่งเน้น “3 สร้าง” คือ

  • สร้างคน : ลงทุนในการศึกษาและพัฒนาทักษะใหม่ ๆ
  • สร้างสู้ : เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระดับโลก
  • สร้างโอกาส : สร้างเครือข่ายและโอกาสใหม่ ๆ ในธุรกิจ

ในท้ายที่สุดพี่หนุ่ย-พงศ์สุข สรุปปิดเวทีไว้ว่า “อนาคตเศรษฐกิจไทยท่ามกลางความผันผวนโลกยังมีโอกาสเติบโต หากภาคธุรกิจและภาครัฐจับเทรนด์สำคัญและเสริมศักยภาพการแข่งขัน ด้วยแนวทาง “3 สร้าง” ไทยจะไม่เพียงอยู่รอด แต่จะก้าวหน้าในเวทีเศรษฐกิจโลกได้อย่างแน่นอน”