เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 ลึกประมาณ 10 กิโลเมตร โดยมีศูนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมา ตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเวลาประมาณ 13.20 น. และส่งแรงสั่นสะเทือนมาถึงหลายพื้นที่ในประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพฯ สร้างความตื่นตระหนกและสับสนให้กับผู้คน ทำให้หลายคนสงสัยว่า ตอนนั้นตัวเองเวียนหัว จะเป็นลม หรือเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ
นอกจากนี้ ยังมีรายงานการเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายครั้ง โดยมีความรุนแรงอยู่ระหว่าง 3.1 – 5.5 แม้ว่าความรุนแรงของอาฟเตอร์ช็อกจะค่อย ๆ ลดลง แต่เหตุการณ์นี้ก็สร้างความเสียหายอย่างหนัก หนึ่งในนั้นก็คือเหตุการณ์อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่กำลังก่อสร้างเกิดถล่มลงมา ทำให้เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่

แผ่นดินไหวครั้งนี้เราเรียนรู้อะไรบ้าง ?
แน่นอนว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้คนไทยหลายคนตระหนักถึงความสำคัญของภัยธรรมชาติ มาตรฐานความปลอดภัย และการเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน หลายคนได้เห็นแล้วว่าการเตรียมพร้อมเป็นสิ่งที่สำคัญ
นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสที่เราควรเรียกร้องให้มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่ดียิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องของโครงสร้างอาคาร ระบบเตือนภัย และแผนรับมือภัยพิบัติ เพื่อให้ทุกคนมีความมั่นใจและปลอดภัยมากขึ้นในอนาคต

การตระหนักรู้ในเรื่องของภัยธรรมชาติ
แผ่นดินไหวเป็นเรื่องที่หลายคนอาจไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง จนหลาย ๆ คนคิดไปว่าร่างกายตัวเองเป็นอะไรหรือเปล่านะ ทำไมเวียนหัวแปลก ๆ แต่ไม่ใช่ เพราะตอนนั้นแผ่นดินไหวมันเกิดขึ้นจริง ๆ และกว่าจะรู้ตัวว่าแผ่นดินไหว คนไทยก็คิดว่าตัวเองหน้ามืดไปครึ่งประเทศแล้ว
หลังจากเหตุการณ์นี้ ทำให้เราต้องหันมาใส่ใจและเตรียมตัวให้พร้อมมากขึ้น เราเริ่มรู้แล้วว่าไม่มีที่ไหนปลอดภัย 100% จากภัยธรรมชาติ สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่ประมาท และหาความรู้เกี่ยวกับวิธีเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้
หน่วยงานต่าง ๆ ก็ต้องพยายามให้ข้อมูลและจัดกิจกรรมเพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจและเตรียมพร้อมมากขึ้น เช่น การซ้อมอพยพ การเรียนรู้วิธีรับมือเบื้องต้น และการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับแผ่นดินไหว
วิธีการเอาตัวรอดที่เคยเห็นในสื่อประเภท ‘การช่วยชีวิต หรือการเอาตัวรอดในสถานการณ์วิกฤต’
เวลาที่เกิดแผ่นดินไหว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเอาตัวรอด และหลายคนคงเคยได้ยินวิธีที่เราควรทำจากหนังสือการ์ตูน หนังสือเรียน หรือแม้กระทั่งจากในหนัง เช่น การหลบใต้โต๊ะที่แข็งแรง หรือไปหาที่โล่งแจ้งที่ไม่มีอันตรายจากสิ่งของที่อาจตกลงมา
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวหลายครั้งที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าคนส่วนใหญ่สามารถควบคุมสติและจัดการตัวเองได้ดี หลายคนเลือกที่จะออกจากตึกสูงอย่างมีระเบียบ เพื่อไปอยู่ในที่โล่งที่ปลอดภัย ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
การที่เรารู้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรในช่วงเวลานั้นจึงสำคัญมาก เพราะไม่เพียงแค่ช่วยให้เรารอดจากเหตุการณ์รุนแรง แต่ยังทำให้เรารู้สึกมั่นใจและเตรียมตัวได้ดีมากขึ้น ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจริง ๆ
เห็นแบบนี้แล้ว การที่เราเคยเห็นหรือรู้วิธีการเอาตัวรอดจากหนังสือการ์ตูนหรือหนัง มันก็ช่วยให้เราไม่ตื่นตระหนกและรู้ว่าควรทำอะไรในตอนนั้นได้อย่างมีสติ และทำได้โดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ก็เป็นผลดีที่เราได้เรียนรู้จากการดูการ์ตูนหรือหนังที่นำเสนอวิธีการเอาตัวรอดในสถานการณ์เหล่านี้ด้วย

ทำไมบางคนยังคงมีอาการมึนหัวอยู่ ?
หลังจากแผ่นดินไหวผ่านไป หลาย ๆ คนก็ยังคงรู้สึกมึนหัว คล้ายกับว่ายังมีแรงสั่นสะเทือนอยู่ ซึ่งอาการนี้เรียกว่า “โรคสมองเมาแผ่นดินไหว” (Earthquake Drunk) เป็นอาการเวียนศีรษะ รู้สึกเหมือนตัวโคลงเคลงหรือเคลื่อนไหว ทั้งที่ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติแล้ว
สาเหตุเกิดจาก ระบบการทรงตัวในหูชั้นใน (Vestibular System) ที่ถูกรบกวน ทำให้สมองยังรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนแม้จะไม่มีแล้ว อาการนี้มักหายไปเองภายในไม่กี่ชั่วโมง แต่บางคน โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะวิตกกังวลหรือไมเกรน อาจเป็นต่อเนื่องนานหลายวัน หากอาการรุนแรงหรือไม่ดีขึ้น ก็ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลตัวเอง
มาตรฐานตึกที่ดี ?
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นย้ำว่า “มาตรฐานการก่อสร้างอาคารในกรุงเทพมหานครอยู่ในระดับดีมาก เชื่อมั่นได้ ที่เห็นว่ามีการพังเป็นอาคารที่กำลังก่อสร้าง เพราะยังมีความเปราะบางอยู่” การหลบใต้โต๊ะจึงยังคงเป็นวิธีที่แนะนำ เพราะช่วยป้องกันอันตรายจากสิ่งของที่อาจร่วงหล่นลงมา แต่ปัญหาหลักที่ทำให้ผู้คนกังวลกันก็คือ ‘เราไม่รู้ว่าตึกไหนแข็งแรงพอที่จะหลบอยู่ใต้โต๊ะได้จริง ๆ’
เรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยของตึกสูงและคอนโดมิเนียมเป็นประเด็นที่หลายคนเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดภัยพิบัติทุกรูปแบบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต มีกระทั่งการลิสต์รายชื่อผู้รับเหมาที่ไว้ใจได้ หรือรวมคอนโดมิเนียมที่ไม่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ครั้งนี้
หรือแม้แต่สระว่ายน้ำบนตึกสูงก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยเวลามีแผ่นดินไหว เพราะแรงสั่นสะเทือนอาจทำให้น้ำกระฉอกออกมาได้ และถ้าไม่มีระบบรองรับที่ดี น้ำที่ไหลทะลักลงไปอาจสร้างอันตรายต่อคนที่อยู่ด้านล่าง ทั้งจากแรงกระแทก และทำให้พื้นเปียก ก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

ดังนั้น การออกแบบสระว่ายน้ำบนอาคารสูงจึงต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
มาตรฐานของตึกที่ดีจึงควรมีการออกแบบและสร้างอย่างมีความรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ที่อาศัยอยู่ในอาคาร และสามารถรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ การตรวจสอบคุณภาพและความพร้อมของอาคารในด้านต่าง ๆ อยู่เสมอ พร้อมมีการรับรองที่เชื่อถือได้ จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ที่อยู่อาศัย ว่าไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์เร่งด่วนอะไรขึ้น พวกเขาจะสามารถเอาตัวรอดได้อย่างปลอดภัย


ระบบแจ้งเตือนฉุกเฉินที่เราควรได้รับ ?
พูดถึงมาตรฐานตึกแล้ว เราก็ควรมีมาตรฐานระบบแจ้งเตือนที่ดีด้วยเช่นกัน หลายคนอาจยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญของ Emergency Alert เพราะคิดว่า ‘เตือนล่วงหน้าไม่ได้ แล้วจะมีไปทำไม ?’ แต่จริง ๆ แล้ว การเตือนให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ณ ขณะนั้น มีประโยชน์อย่างมาก แม้จะเป็นแค่ไม่กี่วินาทีหรือไม่กี่นาที แต่มันช่วยให้เราตัดสินใจได้เร็วขึ้น ลดความสับสน และปรับตัวกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันที
หลายประเทศที่ต้องรับมือกับภัยพิบัติบ่อย ๆ อย่างญี่ปุ่น, สหรัฐ ฯ หรือเกาหลีใต้ ก็ใช้ระบบ Cell Broadcast กันหมดแล้ว เพราะมันเร็ว แม่นยำ และทำให้คนรู้ตัวทันทีว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ต่างจาก SMS ที่อาจจะมาช้าหรือไม่มาถึงเลย ถ้าไทยอยากพัฒนาระบบแจ้งเตือนที่มีประสิทธิภาพจริง ๆ ก็ควรผลักดันให้ Cell Broadcast เป็นมาตรฐานใหม่แทน
บทเรียนสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจและเตรียมตัวมากขึ้น
ภัยพิบัติอย่างแผ่นดินไหวอาจดูเหมือนไกลตัวสำหรับคนไทย แต่เมื่อเกิดขึ้นจริง หลายคนกลับไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เพราะขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของอาคาร รวมถึงวิธีรับมือที่ถูกต้อง
สิ่งสำคัญคือเราต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานอาคาร ระบบแจ้งเตือนฉุกเฉิน เพราะแนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ไม่ใช่แค่การหลบใต้โต๊ะเท่านั้น แต่รวมถึงการออกแบบโครงสร้างให้ปลอดภัย เช่น ระบบรองรับแรงสั่นสะเทือน สระว่ายน้ำบนตึกสูงที่ต้องมีการจัดการน้ำอย่างเหมาะสม และระบบแจ้งเตือนอย่าง Cell Broadcast ที่สามารถส่งสัญญาณเตือนได้รวดเร็วและทั่วถึง
สุดท้ายแล้ว ความพร้อมและความรู้ คือสิ่งที่ช่วยให้เรารับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้ดีที่สุด เพราะภัยพิบัติอาจมาเมื่อไหร่ก็ได้ และเมื่อถึงเวลานั้น การตัดสินใจเพียงไม่กี่วินาที อาจเป็นวินาทีที่ตัดสินความเป็นความตายที่ช่วยให้เรารอดชีวิตเลยก็ได้