กระแสสงครามการค้าดูจะร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศปรับขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าครั้งใหม่ ส่งผลให้บรรดาประเทศคู่ค้าและผู้ผลิตทั่วโลกต้องจับตาและเตรียมรับแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด มาตรการครั้งนี้สะท้อนว่าฝั่งวอชิงตันกำลังขยับกลับไปสู่ภาวะกีดกันทางการค้า ซึ่งอาจทำให้ภาคธุรกิจต้องเผชิญระเบียบที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจคือภาษีดังกล่าวครอบคลุมทั้งประเทศที่สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้าและประเทศที่สหรัฐฯ ได้เปรียบดุลการค้า นั่นหมายความว่าแม้กระทั่งพันธมิตรหลัก ๆ ก็อาจตกอยู่ในภาวะลูกหลงไปด้วย ขณะเดียวกันก็มีบางประเทศได้รับอัตราภาษีต่ำกว่ามาตรฐาน เนื่องจากสินค้าส่งออกหลักของตนอาจได้รับการยกเว้นชั่วคราว
หลายประเทศในเอเชียเจอแรงกระแทกหนักเป็นพิเศษ โดยกัมพูชาเจอภาษีมากถึง 49% เวียดนาม 46% ไทย 37% ไต้หวัน 32% และอินโดนีเซีย 32% ขณะที่กลุ่มสหภาพยุโรปได้รับอัตราภาษีระดับกลางที่ 20% แบบครอบคลุมทั้งภูมิภาค
ส่วนแต่ละประเทศในสหภาพยูโรปกลับได้รับผลลัพธ์ไม่เท่ากัน เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักแตกต่างกัน ยกตัวอย่าง ไอร์แลนด์ที่โดดเด่นด้านการผลิตยา จึงได้สิทธิ์ยกเว้นชั่วคราว ทำให้อัตราภาษีที่แท้จริงอยู่ต่ำกว่า 5% ส่วนสโลวาเกียที่พึ่งพาการผลิตรถยนต์ ต้องเผชิญอัตราภาษีเกิน 20%
จุดพลิกผันอีกประการคือ Friendly Fire หรือนโยบายยิงโดนฝ่ายเดียวกันเอง เพราะมาตรการภาษีขั้นต่ำ 10% ถูกใช้กับประเทศที่สหรัฐฯ ได้เปรียบดุลการค้าด้วย เช่น สหรัฐฯ มีเกินดุลกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ราว 19,500 ล้านเหรียญ (ประมาณ 643,500 ล้านบาท) ออสเตรเลีย 17,900 ล้านเหรียญ (ประมาณ 590,700 ล้านบาท) และสหราชอาณาจักร 11,900 ล้านเหรียญ (ประมาณ 392,700 ล้านบาท) ต่างก็ไม่รอดพ้นจากภาษีขั้นต่ำนี้
สถิติการค้าประจำปีอาจแกว่งไปมา ประเทศที่เคยขาดดุลกับสหรัฐฯ อาจพลิกเป็นเกินดุลในปีถัดมา ทำให้บางประเทศถูกตีความว่าควรเสียภาษีสูงเกินจริง ขณะที่บางประเทศที่เคยเกินดุลอาจโชคดีในปีที่ตัวเลขลดลงจนพ้นการจัดเก็บอัตราสูง ยกตัวอย่างกรณี นามิเบีย ถูกเก็บภาษีถึง 21% เพราะในปี 2024 เกิดการเกินดุลสูงสุดรอบทศวรรษ แม้สามในสี่ปีก่อนหน้านั้นจริง ๆ แล้วขาดดุลก็ตาม
อีกกรณีที่น่าแปลกใจ คือดินแดนเล็ก ๆ อย่างแซ็งปีแยร์และมีเกอลง ซึ่งมีประชากรราว 5,819 คน กลับถูกปรับภาษีเบื้องต้นถึง 50% เนื่องจากปี 2024 มีการส่งชิ้นส่วนอากาศยานมูลค่า 3.4 ล้านเหรียญ (ประมาณ 112.2 ล้านบาท) คืนให้สหรัฐฯ ทำให้ตัวเลขสถิติการค้าเบี่ยงเบนอย่างมาก จนกระทั่งทำเนียบขาวตัดสินใจปรับโครงสร้างภาษีใหม่อีกครั้ง
ทำให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่สหรัฐฯ มีดุลขาดดุลหรือเกินดุล ต่างอาจตกเป็นเป้าภาษีในอนาคตได้ทั้งสิ้น ท่ามกลางการพยายามปกป้องภาคการผลิตภายในประเทศ ผู้ส่งออกทั่วโลกจึงจำเป็นต้องติดตามและปรับกลยุทธ์ เพื่อรับมือกับคลื่นความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างทันท่วงที