foodpanda ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิลิเวอรียักษ์ใหญ่ ประกาศยุติการให้บริการในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป หลังจากดำเนินกิจการในประเทศไทยมากว่า 18 ปี โดยระบุว่าเหตุผลหลักคือสภาพตลาดที่ไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัท
เฟซบุ๊กแฟนเพจของ foodpanda ประเทศไทย ประกาศว่า “foodpanda Thailand ขอแจ้งยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน foodpanda มีผลตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2568 โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราภาคภูมิใจที่ได้ร่วมจัดส่งความสุขผ่านทุก ๆ ออเดอร์ให้แก่ลูกค้าทุกท่านในประเทศไทย แต่เนื่องจากสภาพตลาดในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์ระยะยาวของฟู้ดแพนด้า เราจึงต้องยุติการให้บริการในประเทศไทย”

การปิดตัวของ foodpanda ในประเทศไทยหลังจากให้บริการมาเป็นเวลา 18 ปี ถือเป็นการปิดตำนานของแอปพลิเคชันส่งอาหารที่มีบทบาทสำคัญในตลาดไทย ตั้งแต่การเริ่มต้นในปี 2555 ที่ให้บริการผ่านเว็บไซต์และโทรศัพท์ จนพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มดิลิเวอรีที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งการรับอาหารเองที่ร้าน การทานที่ร้าน และการสั่งสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต
แม้จะประสบความสำเร็จในช่วงแรก แต่ในท้ายที่สุด foodpanda ก็ไม่สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัทแม่อย่าง Delivery Hero SE ได้ ทำให้ต้องตัดสินใจยุติการให้บริการครั้งนี้แล้วปรับกลยุทธ์เชิงภูมิศาสตร์ โดยเน้นทรัพยากรไปยังตลาดอื่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีศักยภาพในการเติบโตและผลตอบแทนสูงกว่า เช่นเดียวกับการเลิกให้บริการในหลายประเทศก่อนหน้านี้ เช่น เดนมาร์ก กานา สโลวาเกีย และสโลวีเนีย
จากข้อมูลทางการเงินของ foodpanda ประเทศไทย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562-2566)
- ปี 2562
- รายได้รวม : 818,156,828.37 บาท
- ขาดทุนสุทธิ : 1,264,503,583.82 บาท
- ปี 2563
- รายได้รวม : 4,375,128,919.00 บาท
- ขาดทุนสุทธิ : 3,595,901,657.00 บาท
- ปี 2564
- รายได้รวม : 6,786,566,010.00 บาท
- ขาดทุนสุทธิ : 4,721,599,978.00 บาท
- ปี 2565
- รายได้รวม : 3,628,053,048.00 บาท
- ขาดทุนสุทธิ : 3,255,107,979.00 บาท
- ปี 2566
- รายได้รวม : 3,843,303,372.00 บาท
- ขาดทุนสุทธิ : 522,486,848.00 บาท
อย่างไรก็ตาม ทีมงานในประเทศไทยที่รับผิดชอบด้านการสนับสนุนต่าง ๆ เช่น การตลาดและการบริหารทรัพยากรบุคคลยังคงดำเนินงานตามปกติในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่อไป