ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาแผนสุดพลิกแพลง โดยอาจเพิ่มการนำเข้าข้าวจากสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรองเรื่องภาษีกับรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตามรายงานจากสื่อหลายสำนัก ในปัจจุบันญี่ปุ่นได้นำเข้าข้าวประมาณ 770,000 ตันต่อปีโดยไม่มีภาษีภายใต้ข้อตกลง “Minimum Access” ที่ลงนามกับองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 1995 ซึ่งเป็นผลมาจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนโยบายกีดกันทางการค้าที่เข้มงวด
ในปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ ภายใต้กรอบ WTO ถึง 346,000 ตัน ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นแหล่งนำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ทรัมป์เคยวิพากษ์วิจารณ์ระบบนี้ โดยกล่าวหาอย่างไม่ถูกต้องว่าญี่ปุ่นเก็บภาษีนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ สูงถึง 700% ซึ่งคาดการณ์ว่ามาจากตัวเลขที่กระทรวงเกษตรของญี่ปุ่นนำเสนอในการเจรจา WTO เมื่อปี 2005 ที่คำนวณจากราคาข้าวระหว่างประเทศในช่วงปี 1999-2001 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอัตราภาษีอาจสูงถึง 778% แต่จากการคำนวณปัจจุบัน อัตราภาษีที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่ประมาณ 227%
ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาที่จะเพิ่มโควตานำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ อย่างน้อย 70,000 ตันต่อปี เข้าไปในข้อตกลงทางการค้า โดยหวังว่าจะทำให้มีตัวเลือกหรือข้อได้เปรียบมากขึ้นในการเจรจาเรื่องภาษีกับสหรัฐฯ แนวคิดเรื่องการกำหนดโควตานำเข้าไม่ใช่เรื่องใหม่ ในข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ที่ลงนามในปี 2016 ก็มีการตกลงว่าญี่ปุ่นจะกำหนดโควตานำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ โดยปลอดภาษีประมาณ 70,000 ตัน แต่สหรัฐฯ ได้ยกเลิกข้อตกลงดังกล่าวเมื่อทรัมป์ตัดสินใจถอนตัวออกจาก TPP หลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีได้ไม่นาน
ในข้อตกลงทางการค้าระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ปี 2019 การบังคับใช้โควตานำเข้าข้าวอเมริกันแบบปลอดภาษีถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักของชาวญี่ปุ่น และการเพิ่มการนำเข้าถือเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่อาจส่งผลกระทบทางการเมือง และหลาย ๆ ฝ่ายในพรรครัฐบาลเสรีประชาธิปไตย (LDP) เกรงว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวจะนำไปสู่การสูญเสียคะแนนเสียงสนับสนุนจากเกษตรกร ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรค ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่จะมีขึ้น แผนการนี้เกิดขึ้นในขณะที่ราคาข้าวยังคงสูงเป็นประวัติการณ์ เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ราคาเฉลี่ยข้าว 5 กิโลกรัมในซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่ที่ 4,217 เยน ซึ่งมากกว่าสองเท่าของช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และเป็นสัปดาห์ที่ 15 ติดต่อกันที่ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น
เพื่อแก้ไขปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานที่ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มระบายข้าวสารสำรองฉุกเฉินตั้งแต่เดือนที่แล้ว โดยมีการเปิดประมูลรอบที่สามเมื่อวันพุธ อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังไม่เห็นผลกระทบจากการดำเนินการของรัฐบาล