วิกฤตวัยกลางคน (midlife crisis) คือ ช่วงอายุของบุคลระหว่าง 35 – 50 ปี ที่มีกระบวนการคิดประเมินชีวิตของตัวเองอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่มักเกิดจากการคิดว่า ชีวิตนี้เหลือเวลาอีกไม่นานแล้ว ซึ่งภาวะวิกฤตวัยกลางคนนี้ ไม่ใช่โรคทางกาย และไม่ใช่ความผิดปกติทางการแพทย์แต่อย่างใด พบได้ในคนทั่วไป ส่วนใหญ่ไม่มีอาการรุนแรง มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่กระบวนการคิดผลักดันให้เกิดการตัดสินใจทำอะไรรุนแรง โดยไม่ไตร่ตรอง เช่น หย่าขาดกับภรรยา , มีเมียน้อย , ลาออกจากงานประจำไปทำธุรกิจส่วนตัว หรือ เอาเงินเก็บทั้งหมดไปลงทุนทำอย่างอื่น เป็นต้น

ศาสตราจารย์ Calvin Colarusso คณบดีภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก” กล่าวว่า “ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องใหญ่ ๆ นี้อาจเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เพราะส่วนมากแล้ววัยกลางคนอาจจะต้องเผชิญหน้ากับช่วงเปลี่ยนผ่านของวัยกลางคน (Midlife Transition) ซะมากกว่า ซึ่งก็อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในชีวิตเล็ก ๆ น้อย ๆ คล้ายอาการวัยทอง”

ข้อมูลจาก kapook.com

เพราะอะไร วิกฤตวัยกลางคน (midlife crisis) ถึงเกิดกับบุคคลช่วงอายุนี้

  • การเสื่อมของร่างกาย : ในวัยนี้ร่างกายจะเริ่มเสื่อมลง ไม่แข็งแรงเท่ากับตอนวัยรุ่น ช่วงอายุนี้หลายคนมักรู้สึกว่าตัวเองไม่ฟิตเท่าเดิม เริ่มหัวเริ่มล้าน และเริ่มมีโรคประจำตัว
  • ฮอร์โมนเปลี่ยน : โดยเฉพาะในผู้หญิง จะเห็นชัดว่าผู้หญิงหลายคนจะเริ่มเข้าสู่ช่วงหมดประจำเดือน หรืออาการของคนที่กำลังจะเข้าวัยทองนั่นเอง
  • ต้องการความสำเร็จในชีวิต : ในช่วงอายุนี้นอกจากชีวิตครอบครัวแล้ว สิ่งที่สำคัญเลยคือเรื่องของการทำงาน ซึ่งมักจะคิดว่าทำงานมาแล้วเป็นสิบปี จึงต้องการที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้
  • กังวลเรื่องของเวลาการใช้ชีวิต :  ช่วงอายุนี้หลายคนจะเริ่มรู้สึกว่า “เหลือเวลาการใช้ชีวิตอีกไม่นานแล้วนะ” “จะเกษียณแล้ว” หรือ “ใกล้ความตายเข้าไปทุกที” และจะคิดว่า ควรจะต้อง “ทำอะไร” ซักอย่างแล้ว
  • การสูญเสียคนใกล้ชิด : ช่วงอายุนี้มักพบเหตุการณ์ที่ต้องสูญเสียคนใกล้ชิด ทั้ง พ่อ , แม่ ปู่ , ย่า ตา , ยาย หรือแม้กระทั่งเพื่อนฝูง

วิธีสังเกตความเสี่ยงของตัวเรา ว่ากำลังอยู่ในช่วงวัยวิกฤตวัยกลางคนหรือไม่

อาการที่เห็นได้เด่นชัดคือ ความคิดที่สับสนกับชีวิต ไม่พอใจหลายสิ่งในชีวิต ทั้งเรื่องงาน ชีวิตคู่ ที่อยู่อาศัย หรือสุขภาพ หรือการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ เช่น อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย จนถึงซึมเศร้า และมักจะแสดงออกให้เห็นชัดผ่านการกระทำที่รุนแรง และกะทันหัน สิ่งที่พบบ่อยอีกข้อนึงก็คือ รังที่ว่างเปล่า (Empty-nest syndrome) จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อลูก ๆ ต้องออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่น ไปเรียน แต่งงาน หรือทำงานที่อื่น ทำให้พ่อหรือแม่เกิดความรู้สึกเหงา เศร้า มักพบมากในผู้ที่มีความผูกพันกับลูกมาก

การจัดการกับวิกฤตวัยกลางคน

  • เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น : เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นคือเราต้องเข้าใจและยอมรับภาวะนี้ก่อน เมื่อรู้จักและยอมรับแล้ว ก็จะนำไปสู่การจัดการแก้ไขได้อย่างเหมาะสมต่อไป
  • ปรึกษาผู้อื่นเสมอในเรื่องที่สำคัญ : เป็นการระบายออกทางหนึ่ง ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการคิดมากในใจลงได้ จะช่วยให้เรามองเห็นว่า สิ่งที่เราจะทำมันสมเหตุสมผลแค่ไหน เพื่อลดโอกาสการตัดสินใจที่ผิดพลาดให้เหลือน้อยที่สุด
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ : การออกกำลังกายจะช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล และยังทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ป้องกันการเป็นโรคซึมเศร้าได้ ยิ่งวัยนี้มีความเสี่ยงที่สุขภาพจะเริ่มเสื่อมลง และเกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่าย การออกกำลังกายจึงเป็นเรื่องสำคัญและมีประโยชน์
  • หากิจกรรมทำทดแทน : ถือเป็นช่องทางอีกช่องทางนึงที่จะช่วยบรรเทาความเหงา ความเศร้าใจของเราลงได้ เช่น ออกกำลังกาย ไปเที่ยวพบปะสังสรรค์กับเพื่อน การเข้าร่วมชมรมต่าง ๆ หรือทำงานการกุศล เป็นต้น

อย่าปล่อยให้อายุและความชรา และภาวะวิกฤตวัยกลางคน มาเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเราเลยค่ะ ดังนั้นการเข้าใจ , ยอมรับและเตรียมพร้อมรับมือกับสภาวะนี้ จะทำให้เราก้าวผลช่วง วิกฤตวัยกลางคน (midlife crisis) ไปได้อย่างง่ายดาย  

ขอบคุณข้อมูลจาก : นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ