ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเข้าร่วมการเปิดทดลองระบบ ที่จะเปิดให้ชมแบบจำกัดรอบตั้งแต่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ถึง 14 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ โดยพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า เป็นพิพิธภัณฑ์ในเครือของ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ซึ่งสร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยจุดประสงค์เพื่อ แสดงให้เห็นหลักการคิด วิธีการทรงงานและกระบวนการค้นหาคำตอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ของในหลวงรัชกาลที่ 9  และให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

โดยนำผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับนานาชาติและของไทยมาร่วมทำงานกันกว่า 27 ชีวิตไม่ว่าจะเป็น ดร.ริชาร์ด เลน อดีต ผอ.ฝ่ายวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กอร์ดอน แรงค์มอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารพิพิธภัณฑ์ ประเทศอังกฤษ และ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ตัวพิพิธภัณฑ์พระราม 9 นั้นประกอบด้วย 6 ส่วนหลัก และต้องใช้เวลาเดินชมอย่างน้อย ๆ 2-3 ชั่วโมงเลยทีเดียว ส่วนว่าแต่ละส่วนจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น วันนี้เราจะเอามาเล่ากันครับ (ภาพอาจลงให้ดูไม่มาก – แม้ว่าผู้เขียนจะกดถ่ายมากว่า 600 รูปเลยทีเดียว – เพราะทาง อพวช. ยังไม่อยากให้เผยภาพภายในส่วนนิทรรศการนะครับ ก็จะเน้นเล่าเป็นตัวหนังสือให้ว่าแต่ละส่วนมีจุดน่าสนใจอย่างไรบ้าง และไม่ควรพลาดจุดไหนบ้างถ้าจะมาเยี่ยมชม)

การเดินทาง

ถ้าใครเคยไปพิพิธภัณฑ์ทรงลูกเต๋า หรือพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ คลองห้า ปทุมธานี มาแล้ว พิพิธภัณฑ์พระรามเก้าจะตั้งอยู่ด้านหลังตึกลูกเต๋าเลย จะขับรถไปด้านหลังแล้วจอดบริเวณที่จัดไว้ให้ก็เดินไม่ไกล หรือถ้าจอดด้านหน้าตรงตึกลูกเต๋าก็มีรถไฟฟ้าบริการพามาส่งถึงหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์พระรามเก้าเลยครับ บริการเรื่องการเดินทางถือว่าดีมาก ๆ

ส่วนใครที่ไม่เคยมาแถวนี้มาก่อน ก็สามารถไปได้หลายเส้นทาง เข้าไปดูวิธีเดินทางได้จาก ที่นี่ เลย หรือจะกดพิกัดจากแอปฯ แผนที่ google maps ก็สามารถดูได้จาก ที่นี่ เลย

ด้านหน้า และบริเวณโถงต้อนรับ

เมื่อมาถึงเราจะเข้าผ่านทางเข้าชั่วคราวก่อน ด้านหน้าตัวพิพิธภัณฑ์ให้ความรู้สึกทั้งทันสมัยและกลมกลืนกับธรรมชาติสีเขียว ๆ ได้ดี ด้วยความใหม่และความใหญ่ของมัน ก็ทำเอาเริ่มตื่นเต้นอยู่เหมือนกันว่าจะได้เจออะไรบ้าง โถงด้านหน้าเป็นส่วนต้อนรับ ที่จะมีห้องขายบัตรเข้าชมอยู่ขวามือ แต่ช่วงนี้จะเป็นการตั้งโต๊ะรับผู้เยี่ยมชมที่ลงทะเบียนไว้ล่วงหน้าแทน เมื่อเราติดต่อเรียบร้อยจะได้สายคาดข้อมือมา ซึ่งตัวสายคาดนี้จะมีคิวอาร์โค้ดซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการสแกนตรงประตูทางเข้าและทางออกให้ประตูเปิด ดังนั้นเก็บให้ดี ๆ อย่าทำหายหรือพังนะครับ เวลาเข้าห้องน้ำต้องระวังเลย

โถงด้านหน้าจะมีผนังสถาปัตยกรรมความสมดุลแห่งชีวิต และมีจอทรงกลมคล้ายลูกโลกแสดงภาพต่าง ๆ อยู่ด้านบนด้วย จากจุดนี้เราต้องขึ้นบันไดเลื่อนไปยังทางเข้าชั้น 2 เพื่อเข้านิทรรศการส่วนแรกกันเลยครับ

OUR HOME

ส่วนที่ 1 โลกและการปรับตัวของสิ่งมีชีวิต

หลังจากสแกนเข้าประตูมา เราจะเข้าสู่นิทรรศการส่วนแรก โดยต้องผ่านเข้าห้องครึ่งวงกลมที่ฉายวิดีโอ 360 องศา ว่าด้วยกำเนิดโลกและสิ่งมีชีวิต ตรงนี้กว้างขวางและมีที่นั่งวางไว้ตรงริมห้องรอบ สามารถนั่งแหงนมองหรือให้ดีก็นอนดูกันได้เลยครับ ตัววิดีโอทำได้น่าตื่นตาตื่นใจและสวยงาม ทั้งเข้าใจง่ายด้วย ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที เราก็จะได้ไปต่อกับโถงต่อไปเลย โดยส่วนนี้จะว่าด้วยความรู้เกี่ยวกับ โลกของเรา แบบจำลองการเคลื่อนของแผ่นเปลือกโลกให้ได้ลองเล่น มีหินหายากให้ได้ลองดูลองจับ มีกราฟิกชั้นบรรยากาศต่าง ๆ และลูกโลกที่แสดงฤดูกาล

เดินถัดมาอีกหน่อยจะแสดงสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ มีจอทัชสกรีนให้เราได้ลองเล่นหลากหลาย เช่น อินเตอร์แอกทีฟเกี่ยวกับ DNA ที่ดูจบหนึ่งตอนก็จะปลดล็อกปุ่มแสดงสิ่งมีชีวิตได้ 1 ชนิด ซึ่งเมื่อกดแล้วจะไปปรากฏบนเสาที่เป็นจอ LED เล่นเป็นภาพสิ่งมีชีวิตที่เราปลดล็อกได้ด้วย หรือจะเกมช่วยเต่าวางไข่ ที่ทำให้ได้รู้ว่ากว่าไข่เต่าทะเลแต่ละฟองจะรอดไปเป็นเต่านั้นต้องยากลำบากขนาดไหนด้วย ในโซนเดียวกันนี้ยังมีการจัดแสดงประเภทสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั้งขนาดที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น จนกระทั่งที่เราเห็นได้แต่อาจไม่เคยเห็นมาก่อนด้วย การจัดวางแสงสีสวยงามน่าชมมากครับ

ข้างกันเป็นหุ่นกลเจ้า สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส ไดโนเสาร์กินเนื้อที่ขุดพบในไทยขนาดเท่าจริง ซึ่งเคลื่อนไหวพร้อมส่งเสียงคำรามได้ ตรงนี้น่าจะเป็นจุดโปรดของเด็ก ๆ เลย ที่อยู่ถัดมาคือเจ้า ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน หรือไดโนเสาร์คอยาวตัวมหึมาที่ขุดพบในไทยคอยยืนต้อนรับเราอยู่ หลังเจ้าภูเวียงโกซอรัสก็จะเป็นการจำลองอุปกรณ์การทำงานของนักโบราณคดีที่ขุดหาฟอสซิลต่าง ๆ และโถงใหญ่ที่ติดกันคือ หุ่นจำลองของบรรพบุรุษมนุษย์ดึกดำบรรพ์หลากหลายเผ่าพันธุ์ ตรงนี้ทำมาได้สมจริง ตื่นตาตื่นใจมาก ทั้งมีจออธิบายใช้คำจูงใจได้อย่างน่าสนใจ และยังมีการจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ที่แสดงถึงพัฒนาการด้านเทคโนโลยีและศิลปะของยุคโบราณด้วย

OUR LIFE

ส่วนที่ 2 ระบบนิเวศและความหลากหลาย

เราจะได้พบระบบนิเวศหลากหลายแบบทั่วโลกเลย ตั้งแต่ แอนตาร์กติกา ทุนดรา ไทก้า เขตอบอุ่น เขตทะเลทราย และเขตร้อนเส้นศูนย์สูตร การดำรงชีพของเหล่าสัตว์และพืช ตลอดจนมนุษย์ในแต่สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ โดยเฉพาะวิถีชีวิตของคนป่าหลายเผ่าในเขตร้อนนั้นน่าสนใจมาก ไม่ว่าจะเป็นการใส่ชุดพรางล่องหนในป่า หรือการปีนต้นไม้ ดำน้ำจับปลา ในส่วนที่ 2 นี้จะกินพื้นที่ค่อนข้างมากทีเดียว เรียกว่าลากยาวตั้งแต่ปลายชั้น 2 ที่เป็นขั้วโลกลงมาเกือบทั้งโถงชั้น 1 ที่จัดโซนเป็นภูมิอากาศแบบต่าง ๆ คือเดินดูได้เพลินมาก และถ่ายรูปก็สวยหลายมุม สัตว์ และหุ่นจำลองที่อยู่ในฉากต่าง ๆ ดูสมจริงทั้งท่วงท่า แสง สี เสียง (บางจุดจะมีให้ฟังเสียงต่าง ๆ ด้วย เช่นเสียงไผ่เสียดสีเหมือนคนหวีดร้องน่ากลัว เสียงชนเผ่าที่ร้องรำทำเพลง ฯลฯ) บางจุดก็ใช้เทคโนโลยีจัดแสดงได้น่าสนใจ อย่าง สวมแว่น VR จำลองการอยู่ในป่าเขตร้อน หรือการจำลองการเดินของตัวลีเมอร์น้อยด้วยการหมุนโมเดลและกระพริบไฟอย่างรวดเร็ว จนเหมือนการชมม้วนฟิล์มหนังแบบสามมิติเลยทีเดียว

บางจุดมีกิจกรรมให้เด็กสามารถเล่นได้ด้วยเช่น ให้ลองก่อกระท่อมหิมะจำลองของชาวเอสกิโม ซึ่งทำด้วยบล็อกพลาสติก หรือการทดลองสวมบทแม่นกคอยป้อนอาหารลูกนกจำลอง บางจุดก็เป็นโต๊ะให้วาดระบายสี ไฮไลท์หนึ่งของโซนนี้คือห้องฉายหนัง 4 มิติ จำลองชีวิตในทะเลทราย ซึ่งจะเปิดเป็นรอบและรับคนได้เพียงครั้งละประมาณ 20 คนเท่านั้น เราจะได้ใส่แว่นสามมิติ ยืนบนพื้นห้องที่สั่นและเอียงได้ มีเอฟเฟ็กต์อย่าง ลม และฝนให้ได้สัมผัสกันแบบเต็ม ๆ ใช้เวลาดูประมาณ 7 นาทีก็จบ แนะนำให้เช็กเวลารับบัตรคิวและรอบฉายแต่เนิ่น ๆ ครับ พลาดแล้วรอรอบใหม่กันยาวเลย และส่วนป่าดงดิบก็มีการจำลองสัตว์ทั้งป่ามายืนแผงอย่างอลังการ มีจุดแสดงไม้ล้มให้เด็ก ๆ ปีนป่าย ส่วนเขตอบอุ่นก็มีต้นโอ๊คยักษ์ที่ปีนขึ้นไปเล่นสไลเดอร์ลงมาได้ด้วย เด็ก ๆ สนุกกันมากทีเดียว

ส่วนที่ 3 การจัดการทรัพยากรน้ำและดิน

เป็นส่วนที่ให้ข้อมูลการเรียนรู้มากมายทีเดียว อย่างส่วนของดิน ก็จะจัดดินและชั้นดินแต่ละประเภทมาแสดงให้ดูให้สัมผัสกัน ทำให้รู้ว่าดินที่เราเห็น ๆ นี่มีความหลากหลายแตกต่างมากทีเดียว ส่วนของน้ำก็จำลองระบบการบริหารจัดการน้ำมาเป็นโมเดลได้น่ารักมาก ๆ เด็ก ๆ ผู้ปกครองจะเล่นและเรียนรู้กันสนุกมาก เพราะจะได้ลองบริหารจัดการประตูน้ำ เขื่อน ต่าง ๆ ด้วยเป็นจุดที่สวยและสนุกจุดหนึ่ง

อีกบริเวณที่ไม่พูดถึงไม่ได้เพราะประทับใจมากเหมือนกันคือ ระบบนิเวศที่เป็นทะเล ซึ่งจำลองความเสียหายที่มนุษย์ทำต่อทะเลมาเป็นฉากขยะในทะเลจำนวนมหาศาลได้อย่างสวยงามและน่าตกตะลึง ใกล้กันจะมีอ่างน้ำให้เห็นว่าสัตว์ทะเลได้รับผลกระทบจากขยะมากเพียงใด ทั้งหอยที่ต้องอยู่ในกระป๋องแทนเปลือก หมึกที่ขดตัวในขวดแก้ว หรือปลาดาวที่ถูกอวนพันจนแกะไม่ออก ตรงนี้ยังมีจอให้เล่นเกมช่วยเก็บขยะทะเล ที่ทำได้ดีเลย เป็นจุดที่สร้างแรงบันดาลใจได้ดีมาก ๆ ด้วย

ส่วนที่ 4 ภูมินิเวศไทย และวนนิเวศของไทย

ออกมาอีกห้อง เราจะได้เรียนรู้เขตธรรมชาติต่าง ๆ ในประเทศไทย เช่นทุ่งรังสิตที่เคยมีสมันมากมาย เป็นต้น จุดที่น่าสะเทือนใจก็คงเป็นตู้คอนเทนเนอร์ ที่จำลองสถานที่เก็บของป่าผิดกฎหมายซึ่งตำรวจบุกจับได้ มีทั้งซากไม้ ทั้งซากสัตว์มากมาย น่าจะสร้างจิตสำนึกกับผู้มาเยี่ยมชมได้ดี ให้ต้องหวงแหนมรดกทางธรรมชาติของไทย หรือของโลกให้มาก เพื่อลูกหลานในวันข้างหน้าด้วย

และเมื่อออกมายังโถงใหญ่ จะเป็นการจำลองวนนิเวศของไทยขนาดใหญ่มาก ๆ เรียกว่ายกป่าย่อม ๆ มาเลยทีเดียว ตรงนี้จะมีหุ่นสัตว์คุ้มครองให้ชมก่อนเข้าไปในป่า ซึ่งเมื่อเดินทะลุป่าเข้าไปจะพบน้ำตกจำลองขนาดใหญ่ และไอความเย็นที่เสมือนเวลาเราเข้าป่าจริง ๆ มีไม้แปลกตา เช่น บัวผุด ให้ดูด้วย เมื่อเดินขึ้นไปชั้นบนของน้ำตกจะเป็นพื้นกระจกยื่นที่สามารถมองลงไปสูงกว่ายอดไม้ และยังเห็นป่าจากมุมสูงได้ด้วย ป่าจำลองนี้เป็นโซนจุดขายสำคัญของพิพิธภัณฑ์เลยทีเดียว จริง ๆ ตรงนี้มีโซนวนนิเวศด้านนอกอาคารให้ชมด้วย โดยจะมีหอชมวิวอยู่ภายนอก แต่ตอนที่ไปถึงท้องฟ้าคล้ายฝนจะตกเลยไม่ได้ออกไปดูครับ ไว้อาจจะไปเก็บอีกทีเมื่อเปิดอย่างเป็นทางการ

อ่อ ลืมบอกไปอีกเรื่องตลอดทั้งนิทรรศการที่ว่ามาทั้งหมดจนถึงตอนนี้มีการรองรับคนชราหรือคนพิการที่ต้องนั่งรถเข็นทั้งหมดเลย ทั้งทางลาด ลิฟต์ และอื่น ๆ เรียกว่าออกแบบมาอย่างรอบคอบทีเดียว และบนชั้นน้ำตกนี้ก็เช่นกันสามารถขึ้นลิฟต์มาได้ด้วย แต่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเท่านั้นเอง

OUR KING

ส่วนที่ 5 หอเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

ส่วนนี้เป็นนิทรรศการที่แสดงถึงพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีตลอดช่วงรัชกาลของพระองค์ โดยเน้นเรื่องของแนวคิด วิธีการแก้ปัญหาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ของพระองค์ ทั้งเรื่องการปลูกพืชชะลอน้ำป่าหลาก หรือการทำฝนหลวง บริเวณนี้จะมีการจัดแสดงรถ และจำลองเครื่องมือเครื่องใช้ที่พระองค์ใช้ประจำ จนถึงจำลองห้องทรงงานให้ชมด้วย ใกล้กันยังมีห้องทดลองวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กให้ทำกิจกรรมสนุก ๆ และก่อนออกจากโซนนี้จะมีเก้าอี้ให้สวมแว่น VR จำลองเป็นนักบินเครื่องทำฝนหลวง ซึ่งจะได้ดูตั้งแต่เครื่องขึ้น จนถึงการโปรยสารเคมีต่าง ๆ ที่จะมีกราฟิกขึ้นให้ความรู้ประกอบ และยาวจนกระทั่งเห็นเม็ดฝนลงเลยทีเดียว เป็นอีกจุดหนึ่งที่ไม่ควรพลาดครับ และเมื่อออกจากจุดนี้ก็จะเป็นทางออกให้สแกนสายคาดข้อมือของเรา เป็นอันจบนิทรรศการทั้งหมดอย่างประทับใจมาก ๆ ทีเดียว

สุดท้าย

จากที่เดินดูช่วงเปิดทดลองระบบต่าง ๆ และพนักงานประจำจุดต่าง ๆ ก็ถือว่ามีความพร้อมราว ๆ 80-90% เลยทีเดียว แต่ก็เป็นธรรมดาของช่วงทดลองที่จะยังมีบางอย่างต้องปรับปรุงเพิ่มอีก ซึ่งเชื่อว่าเมื่อถึงวันเปิดอย่างเป็นทางการช่วงปลายปีนี้ น่าจะได้ปรับแก้ให้ลงตัวและสมบูรณ์แบบ 100% ได้อย่างแน่นอน และที่นี่ก็จะเป็นหมุดหมายใหม่ในการเรียนรู้สำหรับเยาวชนและผู้สนใจ ที่ให้มากกว่าความรู้ นั่นคือแรงบันดาลใจ และจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ตลอดจนการน้อมนำพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการอนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติของประเทศต่อไปด้วย

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าชมช่วงทดลองระบบ โดยสอบถามได้ที่เบอร์ 0-2577- 9960 แนะนำให้โทรไปล่วงหน้าก่อนนะครับ