หลังจากบทความตามล่าป้ายอวยพรวันเกิด “หวังอี้ป๋อ” คราวที่แล้ว คราวนี้ก็มาถึงเมนหลักของเรา “เซียวจ้าน” กันบ้าง และแค่เริ่มหาข้อมูล เราก็เริ่มเห็นเค้าลางแห่งความบากบั่นทันที เพราะกลุ่มแฟนคลับหลากหลายกลุ่ม พากันจัดทำป้ายอวยพรให้พ่อหนุ่มหน้าหวานของเราหลายรูปแบบหลากสถานที่มาก ๆ เพื่อให้ไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน คราวนี้เราจึงทำตารางออกมาในโปรแกรม Excel กันเลยทีเดียว
สำหรับ “เซียวจ้าน” (หรือที่เราจะขอเรียกสั้น ๆ ต่อจากนี้ว่า “จ้าน”) นั้น เป็นไอดอล ดารา และนักร้องจีน ที่โด่งดังในบ้านเราจากบทบาทพระเอกในซีรีส์ ‘ปรมาจารย์ลัทธิมาร’ เช่นเดียวกับหวังอี้ป๋อ และจะมีอายุครบ 29 ปี ในวันที่ 5 ตุลาคมนี้
เพื่อให้บทความนี้เป็นทั้งการรีวิวและแนะนำเส้นทางการตามล่าเก็บป้ายตามสถานที่ต่าง ๆ อย่างแท้ทรู เราจึงเลือกไปก่อนวันเกิดจริง และต้องเป็นวันที่บรรดา ‘บ้าน’ น้อยใหญ่ (คำใช้เรียกกลุ่มแฟนที่รวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น มีฐานสนับสนุนเป็นกลุ่มใหญ่) เริ่มปล่อยป้ายหรือคลิปลงสื่อต่าง ๆ ฤกษ์งามยามดีของเราจึงตรงกับวันที่ 1 ตุลาคมนั่นเอง
ทันทีที่ถามไถ่เพื่อนร่วมชะตากรรมในทวิตเตอร์ และไล่สรุปกำหนดการออกมาเป็นที่เรียบร้อย เราก็กำหนดเส้นทางตามเก็บไปทันที เนื่องจากบ้านเราอยู่ฝั่งธนฯ บวกกับช่วงนี้ฝนมักตกตอนเย็นอยู่เสมอ เส้น BTS เป็นบริเวณ Outdoor เป็นส่วนใหญ่ ต่างกับป้ายในโซน MRT ที่อยู่ใต้ดิน Indoor ล้วน ๆ เราจึงเลือกที่จะเก็บป้ายที่อยู่ในบริเวณรถไฟฟ้า BTS ก่อน แล้วค่อยตามเก็บ MRT ทีหลัง แต่ถ้าบ้านใครใกล้หรือสะดวกแนว MRT มากกว่าก็ไม่ว่ากัน ดังนั้น…
การรีวิวนี้จึงเริ่มด้วยป้ายที่อยู่ในแนว BTS ก่อน ส่วนใครจะเริ่มที่ MRT ก็แค่ใช้ตารางสลับกัน และเลื่อนไปอ่านส่วนที่เป็น MRT ก่อนแทน
อนึ่ง ระยะเวันเวลาของแต่ละป้ายให้อิงตามตารางในทวีตฯ ด้านบนเลย ส่วนตัวอักษรหนาคือ สถานที่หรือตำแหน่งของแต่ละป้าย ตัวเอียงคือ ข้อสังเกต ของแต่ละจุด ดูกันให้ดี จะไม่ได้ขึ้น-ลง เดินไปผิดจุด (แบบที่เราเป็นมาแล้ว 555) และเสียเวลากันนะจ๊ะ
ส่วนตำแหน่งตั้งต้น หากเริ่มจาก BTS ให้ไปเริ่มที่จุดใหญ่ที่สุดอย่างที่ MBK (ลงสถานี BTS สนามกีฬาแห่งชาติ) ก่อนเป็นอันดับแรก แต่ถ้าเริ่มด้วย MRT ให้เริ่มจากสถานี MRT สุขุมวิท พหลโยธิน หรือเพชรบุรี สถานีใดสถานีหนึ่งก่อน เพราะทั้ง 3 สถานีมี ‘ป้ายเฉพาะ’ ที่อยู่นอกบริเวณแตะบัตร จะได้ไม่ต้องเสียเงินเข้า-ออกใหม่ และถ้าหากใครกลัวหลงกลัวพลาดให้ซื้อบัตร One day ของ BTS (ราคา 140 บาท) ไว้เลย (ส่วน MRT ไม่มีบัตรแบบนี้ ดังนั้นลำดับสถานีให้ดีล่ะ) ถ้ากายพร้อมใจพร้อมแล้วละก็……
เริ่มเดินทางกันโลด!!
เยื้องย่างเข้าสู่โซนสยามเมือง ‘เซียวจ้าน’ ยิ้ม
จุดแรก เราเดินทางไปลงที่ สถานี BTS สนามกีฬาแห่งชาติ เพื่อไปหาจอ LED หน้าศูนย์การค้า MBK ก่อนนั่นเอง ด้วยความที่เป็นป้ายใหญ่กลางเมืองสุด ๆ ป้ายนี้จึงได้รับเลือกลงคลิปอวยพรวันเกิดจากแฟนคลับเซียวจ้านถึง 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่
- #Shesees08051005 (@Shesees08051005)
- #XiaoZhanFCThailandBirthdayProject2020 (@LTzirTH1005)
- #RabbitDayProject (@RabbitDayXZ)
- #ZhanZhanThailandFanclubHappyBirthdayProject2nd2020
หากยืนดูแล้วยังมีไม่ถึง 4 คลิป แสดงว่ายังเก็บไม่ครบ แต่การันตีว่ารอไม่นานเลย และ ณ ปัจจุบันนี้ ‘ใบหน้า’ ของเซียวจ้านก็ปรากฏหมุนเวียนบ่อยกว่าใครในจอนั้นแล้ว แค่ประมาณ 10 นาทีกว่า ๆ ก็ไล่เก็บได้ครบทุกคลิปชิล ๆ ดูไปก็ปลื้มไปไม่หยุด เพราะแต่ละคลิปรวบรวมโมเมนต์น่ารัก ๆ ของเซียวจ้านมาเต็ม ๆ (มีแต่รอยยิ้มอันสว่างไสวของจ้านเต็มไปหมดเลย อ๊ากกกก…) หากถ่ายคลิปแล้วจะโพสต์ในทวีตฯ อย่าลืมใส่แฮชแท็กด้วยล่ะ บางบ้านบางกลุ่มเขามีเล่นเกมตามล่าป้ายรับของรางวัลกันด้วยนะ
โดยถ่ายจากมุมต่าง ๆ ในเวลากลางวันและกลางคืน
เลข 911005 แสดงถึงปี/เดือน/วันเกิดของเซียวจ้าน
นอกจากนี้ใน MBK Center ยังมีป้ายอวยพรวันเกิดที่ฉายคลิปวนอีก 11 จุดด้วย ป้ายนี้จะเหมือนกับที่ Future Park รังสิต 4 จุด / Gateway Ekamai 16 จุด / UTCC ม.หอการค้า 1 จุด / VRU ม.ราชภัฏมหาวไลยอลงกรณ์ 3 จุด เพราะเป็นของบ้าน #Shesees08051005 เหมือนกัน สะดวกตรงไหนก็ถ่ายเก็บตรงนั้นได้เลย
(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)
จากนั้น เดินไปที่สยาม (หรือใครใช้บัตร BTS One day ก็นั่ง BTS ไปลงสยามก็ได้) บริเวณทางเชื่อมเข้าสู่สยามสแควร์วันตรงตำแหน่งทางออก 2 จะมีจอ LED ของ #RabbitDayProject อยู่ ภาพสวยมากกกก เป็นภาพจ้านในผลงานละครเรื่องต่าง ๆ แต่ภาพแอบจะถ่ายยากนิดนึงด้วยระบบของจอ LED ที่รายละเอียดไม่สูงเท่าใดนัก (แต่ถ้ามองด้วยตามเปล่าก็ดีงาม หล่อเหลาเอาอยู่ทุกบทบาท) ใช้เวลารอประมาณ 10 นาที/รอบ (หรือหลังโฆษณาของชมพู่ อารยา 4 ครั้ง/รอบ)
ภาพซ้ายถ่ายในเวลากลางวัน ภาพขวาถ่ายในเวลากลางคืน
จะสังเกตว่ารายละเอียดของภาพถ่ายเวลากลางวันจะดีกว่าเล็กน้อย
เสร็จแล้วก็เดินไปยัง Center Point เก่า หรือ หลังสยามสแควร์วัน จะเจอจอ LED เหนือร้าน Milk Plus ฉายคลิปอวยพรวันเกิดของบ้านกระต่ายจ้าน (#XiaoZhanFCThailandBirthdayProject2020) ระยะรอประมาณ 7-8 นาที/รอบ
เมื่อถ่ายภาพจนจุใจแล้ว ให้เข้าไปในสถานี BTS สยาม มองจากบนสถานีลงไปบริเวณทางหลัก (ทางกว้าง ๆ ใหญ่ ๆ) ที่เชื่อมเข้าสู่สยามสแควร์วัน จะมีจอ LED อันใหญ่ยาว (Center Point of SQ) ฉายคลิปจากบ้านกระต่ายจ้านอีกหนึ่งคลิป (ปกติ ถ่ายจากบริเวณทางเข้าจะสวยกว่า แต่น่าเสียดายว่าช่วงนี้ มีการกางเต็นท์ออกร้าน จึงแนะนำว่าให้ถ่ายจากบนสถานีแทน) ซึ่งคลิปนี้ใช้เวลารอค่อนข้างนานพอดู ประมาณ 15-20 นาที/รอบ ระหว่างนั้นก็มีรถไฟฟ้าแล่นผ่านอีก ต้องใช้ความอดทนกันนิดนึง
มุมนี้ถ่ายจากบริเวณชานชาลาในสถานีรถไฟฟ้า
ในพื้นที่สยามนี้ยังมีจอ LED อวยพรวันเกิดจ้านอีกแห่ง ของกลุ่ม #SmileWith29thXiaoZhan ที่หน้าทางเข้า Lido Connect Siam ด้วย โดยเดิมมีกำหนดฉายคลิปวันที่ 5 ต.ค. เพียงวันเดียว แต่ตอนนี้ได้เปลี่ยนกำหนดการแล้วโดยมีคนตาดีเห็นว่าขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา และน่าจะฉายถึงวันที่ 7 ต.ค. นี้ โดยมีคลิปที่ฉายวนทั้งหมด 3 คลิปด้วยกัน แต่ละคลิปจะห่างกัน 7-8 นาที และมีระยะรอของชุดคลิป (ถ่ายวนครบ 3 คลิป) อยู่ที่ 15 นาที ดังนั้นใครไปแล้วเจอช่วงระหว่างชุดคลิปก็อย่าเพิ่งถอดใจ รอสักหน่อย พอมาเดี๋ยวก็รัวแล้ว น่ารักทั้งสามคลิปจริง ๆ
ฟินกันไปเรื่อยจนถึง ‘อโศก’ ซึ่งไม่โศกสมชื่อ
จบจากสยาม เราแวะไปยัง Centara Watergate Pavilion Hotel Bangkok ย่านประตูน้ำ ส่วนนี้ค่อนข้างห่างจากสถานีรถไฟฟ้าพอสมควร อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับโรงแรมอินทรา ถ้าเดินทาง BTS ให้ลงที่สถานีชิดลม แล้วเดินไปประมาณ 15 นาที (กดดูเส้นทางใน Google Map ได้เลย) หรือไม่ก็นั่งวินมอเตอร์ไซค์จากสยามไปก็ได้ ถ้าเดินไป จะงงนิดนึง เพราะป้ายจะอยู่หน้าโรงแรมโดยหันไปในทางที่ให้รถสวนมาเห็น ดังนั้นเดินไปถึงแล้วให้กลับหลังหันก็จะเจอป้ายไวนิลอวยพรวันเกิดจ้านของกลุ่มแฟนคลับ #HappyDayToyDay พอดี
อาจเพราะความไกลทำให้เราไม่เจอเพื่อนร่วมชะตาชาวไทยเลย แต่กลับเจอชายชาวจีนคนหนึ่งบังเอิญเดินผ่านมายกมือถือมาถ่ายเป็นเพื่อน ถ้าไม่ติดสถานการณ์โควิดละก็ ป้ายในตำแหน่งนี้น่าจะมีชาวจีนผ่านไปมาแวะถ่ายไม่น้อยเลย (ถือว่าเป็นป้ายแรร์นะนี่)
(อ่านต่อหน้า 3 คลิกด้านล่างเลย)
ไปต่อกันที่สถานี BTS อโศกกันบ้าง ที่นี่ป้ายทั้งหลายจะอยู่ที่ Terminal 21 ถือเป็นที่รวมคลิปของบ้านกระต่ายจ้านอีกหนึ่งแห่ง โดยแบ่งเป็นคลิปบนจอนอกศูนย์การค้า จอ LED ใหญ่ 1 จอ และจอ TV เล็ก 4 จอ คลิปบนจอภายในศูนย์การค้า จอ LED ใหญ่ 1 จอ และจอ TV เล็ก 50 จอ
มาถึงอย่าเพิ่งออกจากสถานี ลงจากรถไฟฟ้าปุ๊บเราจะเจอจอ LED ใหญ่ ถ่ายตรงนั้นก่อนได้เลย ระยะรอแค่ 2-4 นาที/รอบเท่านั้น เมื่อเดินออกจากสถานีไปยังทางเชื่อมให้สังเกตเหนือศีรษะจะเจอจอ TV Outdoor ที่ฉายคลิปอวยพรวันเกิดเซียวจ้านเช่นกัน
ภาพขวาถ่ายในช่วงบ่าย ภาพซ้ายถ่ายช่วงเย็น
เมื่อเดินเข้าไปในห้างจะเจอจอ LED ขนาดใหญ่ในห้างทันที แต่ตำแหน่งถ่ายภาพได้ดีที่สุดอยู่บริเวณชั้น 3 ให้เดินขึ้นบันไดเลื่อนอันยาวที่ข้ามชั้น 1 และ 2 ขึ้นไปเลย สำหรับจอ TV เล็กในห้างจะเป็นคลิปตัวเดียวกับที่ฉายในจอเหนือร้าน Milk Plus แต่ระดับความฟิน เรายกให้ที่นี่มากกว่าในแง่ที่เดินไปตรงไหนก็เจอ (ทั้งทางขึ้นลงบันไดเลื่อน หน้าลิฟต์ หน้าห้องน้ำ ยันศูนย์อาหาร แถมแต่ละจอรอแค่ 1-2 นาทีก็วนมาแล้ว งุ้ย…อยากจะเดินห้างนี้ทุกวันจังเลยยย)
และที่นี่เองเรายังได้เจอ แฟนคลับผู้มาแจก Give away (ของแจกให้คนที่ชื่นชอบศิลปินเหมือนกัน) แก่คนที่มาตามล่าป้ายอวยพรวันเกิดเซียวจ้าน คาดไม่ถึงว่าวันแรก ๆ แถมเป็นวันธรรมดา (วันพฤหัสบดี) แบบนี้ จะยังมีโอกาสได้เจอด้วย ถ้าวันจริงจะขนาดไหนกันละเนี่ย
ถัดจากนี้ มีป้ายที่ The EmQuartier และ The Emporium ของกลุ่ม #XZต้องรู้ว่านู๋รัก (@khaykhongsasom) (ลงสถานี BTS พร้อมพงษ์) และขึ้นป้ายแค่วันที่ 5 ต.ค. ที่เป็นวันตรงเท่านั้น และเพราะผนังของทั้งสองห้างนี้ขาวจัดมาก คลิปอวยพรวันเกิดเซียวจ้านที่มีในสีเทา ดำ และแดงเป็นหลักจึงยิ่งโดดเด่นขึ้นไปอีก
เอาละ จบการตามถ่ายป้ายอวยพรในเส้นทาง BTS แล้ว ต่อไปก็ถึงคราวของป้ายอวยพรที่อยู่ในละแวก MRT กันบ้าง
MRT แม้ความอลังไม่สู้สยาม แต่เด่นที่ ‘ความถี่’ เหนือชั้น
ด้วยความที่อยู่ภายในสถานีเป็นส่วนใหญ่ การเก็บป้ายในเส้น MRT จึงใช้เวลาโดยรวมและพละกำลังน้อยกว่าป้ายในเส้น BTS อย่างไรก็ตาม สำหรับป้ายที่เป็นจอ LED รอนานพอสมควรเลยทีเดียว ประมาณ 15 นาทีขึ้นไป/รอบ แต่พอวนมาถึงก็มีระยะฉายภาพค่อนข้างยาวจุใจ แถมยังมีเยอะแยะแทบจะทุกสถานี ทำให้หาถ่ายได้ไม่ยากนัก
แต่ที่พูดมานี้ ไม่ใช่ว่าป้ายใน MRT จะเหมือนกันไปหมดซะทีเดียว ป้ายในพื้นที่นี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ‘ป้ายที่หาได้ทั่วไป’ กับ ‘ป้ายที่มีเฉพาะสถานี’ ป้ายที่หาได้ทั่วไปเป็นผลงานของบ้าน #XiaoZhanTHProject2020 (@XiaoZhan1005_TH) ได้แก่ จอ TV 3 จอที่เรียงต่อกันรวมเป็น 1 จอ (3 Sheet) แบ่งเป็นจอที่อยู่ทางเข้าก่อนแตะบัตร (อยู่นอกสถานี) และทางขึ้น-ลงบันได ซึ่งมีทั้งภายในภายนอกสถานี โดยคลิปที่ฉายวนนี้จะเหมือนกันในทุกสถานี (ต่างแค่การจัดวางและภาพค้างที่เป็นกรอบของจอ เนื่องจากลักษณะของจอที่ต่างกัน)
จะเห็นว่าภาพที่อยู่ในแนวนอนจะเปลี่ยนไปเพราะการฉายคลิปที่ว่า ส่วนภาพแนวตั้งคือกรอบภาพที่ยังคงเดิมตลอดการฉายคลิป
ส่วนที่จะเปลี่ยนไปในจอนี้คือภาพที่อยู่ในกรอบจอด้านซ้ายสุด (คลิปเดียวกันกับจอที่หน้าทางเข้า-ออก)
ส่วนภาพที่คงเดิมคือภาพที่อยู่ตรงกลางและด้านขวาสุด
นอกจากนี้ ยังมีจอ LED คู่ที่อยู่ในรางรถไฟฟ้า ให้เรายืนรอที่ชานชาลา พอครบระยะรอ จะปรากฏภาพ ฝั่งหนึ่งเล่นคลิปแบบเดียวกัน ส่วนอีกฝั่งจะภาพนิ่งแช่แบบเดียวกัน (สำหรับอันนี้ ทุกสถานีหรือไม่ไม่แน่ใจ เพราะประกาศของทางบ้านแจ้งว่ามีที่สถานี MRT กำแพงเพชร สวนจตุจักร พหลโยธิน ลาดพร้าว ห้วยขวาง และศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย แต่เราดันไปเจอที่ สถานี MRT เพชรบุรี
(คลิปเดียวกันกับจอที่หน้าทางเข้า-ออก และทางขึ้น-ลงบันไดเลื่อน)
ภาพนี้ถ่ายที่สถานี MRT เพชรบุรี สถานีอื่นก็มีเช่นกัน แต่กรอบภาพไม่พอดีกับกรอบประตูเช่นที่สถานีนี้
ความพิเศษของ ‘เซียวจ้าน’ ใน MRT แต่ละแห่ง
สำหรับป้ายเฉพาะ แบ่งของเป็นป้ายที่เป็นผลงานของกลุ่ม #XiaoZhanTHProject2020 ซึ่งมีทั้งจอภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวในจอ LED คู่ขนาดใหญ่ โดยคลิปที่เล่นในจอ LED คู่นี้จะเหมือนในแต่ละสถานี แต่ต่างกันที่ภาพที่แช่ในจอที่อยู่ด้านซ้าย จอทั้งสองแบบนี้ จะกระจายตัวอยู่ในสถานี MRT สุขุมวิท พหลโยธิน เพชรบุรี และสีลม และมีระยะรอประมาณ 15 นาที เช่นเดียวกัน (แต่ไม่รู้ทำไมเรารู้สึกเหมือนมันนานกว่านั้นมาก ๆ เลย สงสัยจะเริ่มเพลียแล้ว)
นอกจากนี้ ยังมีจอ Light box ภาพนิ่ง ของ#RabbitDayProject ที่สถานี MRT สุขุมวิท และ #MADETOLOVEDAYTOY ที่สถานี MRT เพชรบุรี และเนื่องจากเรามาจาก Terminal 21 ที่อยู่ในตำแหน่งสถานี MRT สุขุมวิทพอดี เราจึงเริ่มการเดินทางในพื้นที่ MRT กันที่สถานีนี้ และจะไปต่อกันที่ > สถานี MRT พหลโยธิน > เพชรบุรี > สีลม ตามลำดับ
(อ่านต่อหน้า 4 คลิกด้านล่างเลย)
ใน สถานี MRT สุขุมวิท มีจอที่ต่างกับสถานีอื่นคือ จอ Light box ภาพนิ่ง ของ#RabbitDayProject ที่บอกข้างต้น และจอ LED คู่ โดยทั้ง 3 จอนี้เรียงถัดกันไปใกล้ทางออก 3 ภายในสถานี
(แต่ยังอยู่ในบริเวณสถานี)
จอซ้ายเป็นภาพแช่นิ่ง ส่วนจอขวาเป็นคลิปวน (ซึ่งแน่นอนว่าก็คลิปเดียวกันจอ LED ทั่วไปอื่น ๆ นั่นแหละ)
นอกจากนี้ยังมีจอ TV 4 จอเรียงต่อกันรวมเป็น 1 จอ (4 Sheet) ที่สถานี MRT สุขุมวิท และสีลมด้วย โดยภาพที่ฉายในจอจะเป็นภาพค้างแช่ไว้ ไม่มีวนคลิป แต่ต้องรอเช่นกัน
ไปต่อกันที่ สถานี MRT พหลโยธิน ที่นี่มี Light box ภาพนิ่งขนาดใหญ่ บริเวณสถานีก่อนออกไปยังทางออก 2-3-4 และเมื่อแตะบัตรออกมาที่ทางออกนั้นก็จะเจอจอ LED โค้งขนาดใหญ่ อีกจอหนึ่ง
ต่อมาไปยัง สถานี MRT เพชรบุรี มี Light box ภาพนิ่งขนาดใหญ่ 2 จอติดกันของกลุ่ม#MADETOLOVEDAYTOY ด้านในสถานี และ Light box ภาพนิ่งขนาดใหญ่อีกจอ ใกล้ทางออก 3 อยู่ด้านในสถานี จากนั้นให้แตะบัตรออก ไปยังทางออก 2 ก็จะพบกับจอ Light box ภาพนิ่งอีกจอ
สำหรับจอ LED คู่ ที่มีภาพกรอบแช่ค้างไม่เหมือนสถานีอื่นอีกจอ อยู่ภายใน สถานี MRT สีลม น่าเสียดายที่เราไปถึงสถานีห้าทุ่ม แม้ว่า MRT จะปิดการบริการเที่ยงคืน แต่เขาปิดจอไปแล้ว (ดังนั้นใครจะถ่ายล่าป้ายใน MRT ทีหลัง เราแนะนำว่าให้บริหารเวลาให้ดี เก็บให้ครบก่อน 4 ทุ่มจะดีที่สุด)
ขณะนี้ ท่านได้เดินทางมาถึงยังสถานีปลายทางแล้ว…
มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า ที่พูดมาทั้งหมดนี่มันเก็บได้ภายในวันเดียวจริง ๆ หรอ ระยะรอของจอ LED แต่ละที่รวม ๆ กันแล้ว มหาศาลเอาเรื่องอยู่มากจริง ๆ แต่หากไม่ต้องตระเวนถ่ายจุดที่มีป้ายซ้ำให้ครบ ทำตามนี้ก็น่าจะเก็บได้ครบภายในหนึ่งวันแน่นอน เพราะเราเองก็ตามล่าป้ายทั้งหมดที่เขียนมาภายใน 1 วัน เช่นกัน แต่เพราะมัวงม ๆ แต่ตามหาป้ายและจอให้เจอด้วยตัวเอง แถมยังปักหลักถ่ายรูปที่หนึ่งนาน ๆ เพื่อเช็กระยะรอของแต่ละป้าย และให้ได้ภาพที่ผ่านมาตรฐานความพอใจของตัวเอง (โธ่เรื่องเยอะนี่เรา 555) การตามล่านี้จึงยาวนานเป็นพิเศษ
ดังนั้น ถ้าใช้รีวิวนี้เป็นไกด์แล้วละก็ ออกจากบ้านเช้า กลับบ้านหัวค่ำก็น่าจะเอาอยู่นะ
และถึงแม้จะเหนื่อยเพียงไหน แต่หลังการออกไปค้นหาและลุ้นรอ แค่ได้เห็น ‘เซียวจ้าน’ ที่ตามหา ความเหน็ดเหนื่อยก็พลันหายไปเอง และถ้าได้เจอ ‘เพื่อนร่วมชะตา’ ที่รอจอฉายภาพอันไหนนาน ๆ ด้วยกันแล้วละก็ นาทีที่ได้เจอ จะยิ่งฟินและพากันชวนกรี๊ดกร๊าดอย่างอดไม่อยู่ ช่วยเพิ่มความบันเทิงไปได้หลายเท่าเลยทีเดียว
สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณทุก ๆ บ้าน ทุก ๆ กลุ่ม ที่ร่วมกันจัดทำป้ายและคลิปต่าง ๆ มาให้พวกเราผู้คลั่งไคล้เซียวจ้านได้ชุบชูใจกัน และหวังว่าความปรารถนาดีนี้จะส่งไปถึง ‘เซียวจ้าน’ ที่รักยิ่งของพวกเรากันนาาา ^^
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส