เมื่อไม่นานมานี้ทีมงานเว็บแบไต๋ได้มีโอกาสร่วมงานเปิดบ้าน Critical Care Complex ศูนย์การแพทย์แห่งใหม่ของโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิทที่กำลังจะเปิดตัวในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ เราจึงขอเก็บเรื่องราวมาเล่าให้ฟังกันครับ

Critical Care Complex เป็นศูนย์การแพทย์แห่งใหม่ที่ประกอบด้วยห้องผ่าตัด ห้องคลอด ห้องสวนหัวใจและห้องปฏิบัติการรักษาผู้มีบุตรยาก รวมทั้งสิ้นจำนวน 8 ห้องด้วยกัน ซึ่งจุดเด่นของศูนย์การแพทย์แห่งนี้คือการนำเอาเทคโนโลยีล่าสุดในวงการแพทย์มาสร้างเป็นห้องปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการทำงานของแพทย์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมทั้งลดความผิดพลาดในกระบวนการต่างๆ ลง ซึ่งห้องแรกที่อยากแนะนำให้รู้จักกันคือห้องผ่าตัด 3 มิติครับ

นพ.ดุลย์  ดำรงศักดิ์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชม

นพ.ดุลย์ ดำรงศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชม Critical Care Complex

นายแพทย์ชิงเยี่ยม ปัญจปิยะกุล ศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาลสมิติเวช อธิบายความแตกต่างระหว่างการผ่าตัดแบบสอดกล้องและการผ่าตัดธรรมดา

นายแพทย์ชิงเยี่ยม ปัญจปิยะกุล ศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาลสมิติเวช อธิบายความแตกต่างระหว่างการผ่าตัดแบบสอดกล้องและการผ่าตัดธรรมดา

ห้องผ่าตัด 3 มิติ เทคโนโลยีสนับสนุนแพทย์ให้แม่นยำขึ้น

การผ่าตัดนั้นเป็นเรื่องใหญ่เสมอสำหรับคนทั่วไปนะครับ เพราะเมื่อนึกถึงการผ่าตัด ภาพที่ตามมาคือการผ่าเปิดร่างกายให้แพทย์จัดการกับอวัยวะที่มีปัญหาได้ แต่ปัจจุบันการผ่าตัดไม่จำเป็นต้องเป็นการผ่าตัดใหญ่เสมอไปครับ เพราะด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ทำให้แพทย์มีทางเลือกที่จะใช้เทคนิคการสอดกล้องพร้อมเครื่องมือขนาดเล็กเข้าไปในร่างกายเพื่อทำการผ่าตัด ซึ่งจะทำให้ร่างกายรับผลกระทบจากการผ่าตัดน้อยลงเพราะไม่ต้องเปิดปากแผลขนาดใหญ่ ลดระยะการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และคุณภาพชีวิตหลังผ่าตัดดีขึ้นด้วย

แต่แน่นอนว่าการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับอวัยวะภายในร่างกายมนุษย์เป็นอย่างดี เพราะมุมมองภาพที่ได้จากกล้องนั้นจะแตกต่างมุมมองที่เห็นด้วยตาเปล่าจากการผ่าตัดปกติ ซึ่งในอดีตแพทย์ส่องกล้องจะต้องมีประสบการณ์ในการกะระยะภายในร่างกาย เพราะภาพสดจากกล้องในร่างกายนั้นเป็นภาพ 2 มิตินั้นเองครับ

จอภาพ 3 มิติจาก Sony ราคาราว 300,000 เพราะต้องทำงานเร็วพอที่จะแสดงภาพในวินาทีเดียวกับที่กล้องจับภาพได้

จอภาพ 3 มิติที่ทำงานเร็วจนสามารถแสดงภาพในวินาทีเดียวกับที่กล้องจับภาพได้

แว่นตา 3 มิติสำหรับแพทย์

แว่นตา 3 มิติสำหรับแพทย์

ซึ่งเทคโนโลยีที่โรงพยาบาลสมิติเวชนำมาใช้ในห้องผ่าตัดนี้คือกล้องผ่าตัดรุ่นใหม่ที่ให้ภาพ 3 มิติ โดยแพทย์จะใส่แว่นตาพิเศษเพื่อดูภาพจากจอมอนิเตอร์ 3 มิติ ก็เหมือนตอนที่เราดูหนัง 3 มิตินั้นแหละครับ ก็ด้วยเทคโนโลยีใหม่นี้ ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นและกะระยะภายในร่างกายของเราได้ง่ายขึ้น ลดความผิดพลาดในการผ่าตัดให้น้อยลง และสิ่งสำคัญที่ทำให้เทคโนโลยีนี้ใช้งานได้จริง คือระบบจะต้องทำงานเร็วในระดับเดียวกับมนุษย์ ห้ามมีการแลคเด็ดขาด ในวินาทีที่กล้องรับภาพอะไรได้ แพทย์ก็ต้องเห็นภาพนั้นในวินาทีนั้นด้วย การผ่าตัดจึงจะไม่ผิดพลาดครับ

Operation Room – Spherical Image – RICOH THETA

ภายในห้องผ่าตัดของ Critical Care Complex

การออกแบบภายในยุคใหม่ สะอาด รวดเร็ว ปลอดภัย

ภายในห้องผ่าตัดของ Critical Care Complex ได้รับการออกแบบด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่นะครับ เริ่มตั้งแต่ผนังห้องทำจากวัสดุชนิดพิเศษที่มีความแข็งแรง อย่างกระจกนิรภัยในห้องผ่าตัด 3 มิติ หรือผนังเรียบพิเศษในห้องผ่าตัด ที่นอกจากจะให้ความสวยงามแล้ว ยังเป็นแผ่นเดียวเรียบสนิทไปทั้งหมด เพื่อให้ทำความสะอาดง่าย ไม่มีร่อง ไม่มีซอกให้เชื่อโรคเข้าไปสะสม เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ในห้องผ่าตัดจะเก็บอยู่ในแขนยึดจากเพดาน เพื่อให้สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายปรับตำแหน่งภายในห้อง นอกจากนี้ระบบไฟและอุณหภูมิภายในห้องยังสามารถสั่งการแบบรวมศูนย์ได้จากจุดเดียว ทั้งการปรับแสงโคมไฟผ่าตัด แสงไฟในห้อง เพื่อให้แพทย์เห็นภาพที่ต้องการได้ชัดเจนที่สุด และรวดเร็วที่สุด เช่นในขณะผ่าตัดส่องกล้อง แพทย์สามารถเปลี่ยนแสงไฟในห้องให้เป็นแบบสลัวๆ เพื่อให้เห็นภาพจากจอมอนิเตอร์ได้ชัดเจน แต่ก็สามารถกลับมาเปิดไฟเคลียร์เพื่อจัดการกับแผลผ่าตัดได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

Critical Care Complex Hallway – Spherical Image – RICOH THETA

โถงทางเดินของ Critical Care Complex ที่เพดานตกแต่งด้วยแสงสีน้ำเงิน

นอกจากนี้การออกแบบบริเวณโดยรวมยังใส่ใจต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วย ทั้งการใช้แสงสีน้ำเงินในบริเวณห้องผ่าตัด เพื่อลดความเครียดของผู้ป่วย แต่ในบริเวณห้องคลอดจะใช้แสงโทนอุ่นเพื่อให้คุณแม่รู้สึกอบอุ่นปลอดภัยแทน และการตกแต่งที่โรงพยาบาลสมิติเวชให้ความสำคัญคือเพดานทั้งหมด ทั้งโถงทางเดิน และในห้องปฏิบัติการ ที่จัดระบบแสงอย่างสวยงาม เพราะเพดานเป็นบริเวณที่คนป่วยจะต้องเห็นมากที่สุดนั้นเอง

นอกจากนี้โรงพยาบาลสมิติเวชยังได้ตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมตามนโยบายโรงพยาบาลสีเขียว (Green Hospital) โดยใช้ระบบโซล่าเซลล์ร่วมกับฉนวนกันความร้อนเป็นส่วนประกอบของโครงสร้างผนัง ซึ่งจะช่วยลดความร้อนที่กระทบผนังทำให้ลดการใช้เครื่องปรับอากาศส่งผลประหยัดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 20% นับเป็นการช่วยโลกของเราอีกด้วย

ระบบฝอกอากาศของ Critical Care Complex

ภายในบริเวณ Critical Care Complex ความสะอาดเป็นเรื่องสำคัญมาก ภายในห้องผ่าตัดและห้องปฎิบัติการติดตั้งระบบกรองอากาศด้วย HEPA (High-efficiency particulate arrestance) filter ซึ่งสามารถกำจัดเชื้อโรคในอากาศได้ และระบบ Laminar Air Flow ซึ่งเปรียบเสมือนม่านอากาศสำหรับพื้นที่สะอาด (Sterile Area) ช่วยป้องกันอากาศที่อาจมีอนุภาคของสิ่งปกปรกเจือปนไหลเข้าสู่พื้นที่ผ่าตัด นอกจากนี้บุคลากรที่เกี่ยวข้องยังต้องผ่านกระบวนการทำความสะอาดก่อนเข้าบริเวณนี้ ซึ่งห้องที่ต้องใช้ระดับความสะอาดสูงสุดคือห้องผสมตัวอ่อนกับไข่ในส่วนปฎิบัติการรักษาผู้มีบุตรยาก ที่ต้องปลอดเชื้อ และมีฝุ่นละอองภายในอากาศไม่เกินพันอนุภาคต่อ 1 ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น โดยบริเวณทางเข้าจะมีห้อง Air Shower สำหรับผู้ผ่านเข้าออกได้ทำความสะอาดก่อน

Airlock ที่คอยขจัดฝุ่นก่อนเข้าห้องที่ต้องใช้ความสะอาดสูง

Air Shower ที่คอยขจัดฝุ่นก่อนเข้าห้องเก็บไข่ที่สะอาดในระดับคลาสพัน

ห้องคลอด มีทั้งแบบปัจจุบันและวิถีธรรมชาติ

นอกจากบริเวณของห้องผ่าตัดแล้ว ภายใน Critical Care Complex ยังมีส่วนของห้องคลอดอีกด้วย โดยมีทั้งห้องคลอดสมัยใหม่ และห้องคลอดวิถีธรรมชาติ

Birth Room: Modern – Spherical Image – RICOH THETA

ห้องคลอดสมัยใหม่ที่ตกแต่งในลักษณะเดียวกับโรงแรม

ห้องคลอดสมัยใหม่ของสมิติเวชนั้นจะมีลักษณะเหมือนห้องพักในโรงแรม ซึ่งทางโรงพยาบาลได้สำรวจมาแล้วว่าว่าที่คุณแม่ต้องการบรรยากาศโปร่งสบายเหมือนอย่างในคอนโดมิเนียมหรือโรงแรม โดยห้องคลอดนี้ว่าที่คุณแม่จะเข้ามาพักตั้งแต่เจ็บท้องคลอด จนกระทั่งช่วงคลอดที่แพทย์จะปรับเตียงของคนไข้ให้มีลักษณะเป็นขายั่งเพื่อดำเนินการคลอด ซึ่งหลังจากคลอดแล้ว 2-3 ชั่วโมงจึงจะคุณแม่ย้ายไปสู่ห้องพักฟื้นต่อไป

เตียงภายในห้องคลอดที่สามารถปรับขายั่งออกมาได้

เตียงภายในห้องคลอดที่สามารถปรับขายั่งออกมาได้

ห้องคลอดวิถีธรรมชาติที่ทางสมิติเวชบอกว่าได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ

ห้องคลอดวิถีธรรมชาติที่ทางสมิติเวชบอกว่าได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ

ในส่วนของห้องคลอดวิถีธรรมชาติ ภายในห้องจะมีเตียงเตี้ยๆ ที่สามารถขยายออกมาเป็นที่นั่งสำหรับแพทย์ พร้อมเชือกเพื่อให้คุณแม่ได้จับผยุงตัว นอกจากนี้ยังมีอ่างน้ำร้อนเพื่อดำเนินการคลอดใต้น้ำอีกด้วย (ทางสมิติเวชเล่าว่าการคลอดแบบธรรมชาติได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติมาก)

โดยห้องคลอดทั้ง 2 แบบ จะมีห้องน้ำที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับว่าที่คุณแม่ที่เคลื่อนไหวไม่สะดวกด้วย

ห้องน้ำสำหรับห้องคลอดที่ทำประตูใหญ่กว่าห้องน้ำปกติ และภายในมีที่จับ

ห้องน้ำสำหรับห้องคลอดที่ทำประตูใหญ่กว่าห้องน้ำปกติ และภายในมีที่จับ

ทั้งหมดนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งจาก Critical Care Complex ศูนย์การแพทย์ทันสมัยจากโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิทที่จะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้นะครับ ก็ต้องขอบคุณทางโรงพยาบาลสำหรับการพาทีมงานเว็บแบไต๋เปิดบ้านในครั้งนี้ด้วย ก็จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบต่างๆ ที่อยู่ภายในโรงพยาบาลสมิติเวชแห่งนี้ สร้างโดยยึดแนวคิดที่ให้คนไข้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของคนไข้ ทีมแพทย์และทีมงานทุกคนมุ่งมั่นที่จะมอบบริการทางการแพทย์ด้วยคุณภาพและบริการด้วยใจ เพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้ผู้ป่วยครับ