ไบโอเอ็นเทค (BioNTech) ประกาศว่าจะจัดตั้งสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศสิงคโปร์และจะสร้างโรงงานผลิตวัคซีนในหัวเมือง เพื่อผลิตวัคซีนแบบเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) สำหรับรักษาโรคติดเชื้อและมะเร็ง

การจัดตั้งสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ครั้งนี้คาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีน mRNA ได้หลายร้อยล้านโดสในแต่ละปีขึ้นอยู่กับวัคซีน โดยเบื้องต้นวางไว้ว่าโรงงานแห่งนี้จะสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2566 ทางบริษัทกล่าวว่าโครงการนี้จะช่วยให้สามารถขยายฐานการผลิตวัคซีนหรือยารักษาสำหรับชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากการแพร่ระบาดในอนาคต

ไบโอเอ็นเทคร่วมกันพัฒนาวัคซีนสำหรับต้านโควิด-19 กับผู้ผลิตยาของสหรัฐอเมริกาอย่างไฟเซอร์ (Pfizer) โดยใช้เทคโนโลยีตรวจหาเชื้อแบบ mRNA ซึ่งใช้สารแบบเฉพาะทาง เพื่อกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อไวรัส
ซึ่งการขยายตัวของไบโอเอ็นเทคครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้กระทรวงการค้า อีกทั้งมีการคาดกันว่าจะสามารถสร้างงานเพิ่มได้มากถึง 80 ตำแหน่งในประเทศ

อูกูร์ ซาฮิน (Ugur Sahin) ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งไบโอเอ็นเทคกล่าวในแถลงการณ์ว่า “การมีหลายโหนดในเครือข่ายการผลิตของเราถือเป็นขั้นตอนเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญในการก้าวไปอีกขั้นและขยายขีดความสามารถของเราไประดับโลก” “ด้วยโรงงานผลิต mRNA ที่วางแผนไว้นี้เราจะเพิ่มขีดความสามารถของเครือข่ายโดยรวมและขยายความสามารถในการผลิตและส่งมอบวัคซีนและการบำบัด mRNA ให้กับผู้คนทั่วโลก”

นับตั้งแต่เริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด -19 ประเทศต่าง ๆ ได้พยายามดิ้นรน เพื่อให้สามารถเข้าถึงวัคซีนที่เพียงพอสำหรับฉีดให้กับประชากรของตน เมื่อเดือนที่แล้วองค์การอนามัยโลกกล่าวว่าประเทศที่ร่ำรวยได้รับวัคซีนโควิด -19 เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ประเทศยากจนได้รับวัคซีนน้อยกว่า 1%
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส