การเมืองตะวันออกกลางเป็นดินแดนการประลองสงครามข่าวสารของสำนักข่าวยักษ์ใหญ่ต่างประเทศมาเป็นเวลากว่า 30 ปี ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย (1990 ถึง 1991) ซีเอ็นเอ็น (CNN) เป็นสำนักข่าวเดียวที่รายงานสดสงครามอ่าวเปอร์เซียอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ช่วงนั้นไม่มีคู่แข่ง สามารถรายงานข่าวแบบไหน ช่วงไหนก็ได้
ขณะนี้มีสำนักข่าวต่างประเทศยักษ์ใหญ่ 5 แห่งแข่งกันรายงานข่าวต่างประเทศ นอกจากอัลจาซีรา (Al Jazeera), ซีเอ็นเอ็น, บีบีซี (BBC) ตอนนี้มีสำนักข่าวยักษ์ใหญ่น้องใหม่จากจีนและรัสเซียเข้ามาสมทบ ซีจีทีเอ็น (China Global Television Network) และอาร์ที (Russia TV)
แต่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ข่าวร้อนคือภาพตึกอัลโซรุก 11 ชั้นในพื้นที่ฉนวนกาซาที่มีสำนักข่าวต่างประเทศรวมทั้งอัลจาซีราและสำนักข่าวเอพีที่ถูกกองทัพอากาศอิสราเอลระดมยิงทำลายจนตึกทั้งหลังพังทลายลงมา
สำนักข่าวอัลจาซีราโดดเด่นที่สุด ได้รายงานข่าวอย่างละเอียดการต่อสู้ระหว่างนักรบกลุ่มฮามาสกับทหารอิสราเอลตั้งแต่เริ่มมีการปะทะขับเคี่ยวกันมากว่าหนึ่งอาทิตย์ มีการรายการข่าวชั่วโมงต่อชั่วโมง พร้อมทั้งข่าวอัปเดตการต่อสู้อย่างสม่ำเสมอ ในขณะเดียวกัน สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นและสำนักข่าวบีบีซีก็มีการรายงานข่าวความขัดแย้งนี้เช่นกัน แต่จะให้รายละเอียดที่ต่างกัน
อัลจาซีราจะเน้นประเด็นกรณีชาวปาเลสไตน์ในเขตกาซาถูกรังแก ซึ่งเกิดจากการกดขี่ของรัฐบาลอิสราเอลและกลุ่มอิทธิพลการเมืองในประเทศ การรายงานสดจากพื้นที่จะมีภาพเด็กวัยรุ่นออกมากต่อต้านตำรวจ ขว้างก้อนหิน ยิงหนังสติ๊กสู้กับกองทัพอิสราเอล พร้อมทั้งสัมภาษณ์ชาวปาเลสไตน์ที่มีสมาชิกในครอบครัวถูกฆ่าตาย หรือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการจู่โจมทั้งทางอากาศและพื้นดิน
อัลจาซีรามักจะตอกย้ำว่าการปะทะครั้งนี้มีสาเหตุใหญ่มาจากตัวนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) ผู้ซึ่งดวงอนาคตการเมืองกำลังริบหรี่ อาจจะถูกเขี่ยออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเร็ว ๆ นี้ เพราะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ตามที่ได้มอบหมาย เจ้าตัวต้องการกอบกู้อนาคตการเมืองตัวเอง ด้วยวีธีการตอบโต้อย่างรุนแรงกับกลุ่มฮามาสซึ่งเคยเป็นคู่อริทางการเมืองอยู่แล้ว
ที่น่าสนใจคือ ซีเอ็นเอ็นและบีบีซีใช้เวลาส่วนใหญ่พยายามอธิบายถึงความจำเป็นที่กองทัพอิสราเอลต้องปฏิบัติการอย่างเด็ดขาดและต่อเนื่องในพื้นที่กาซา เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มฮามาสสามารถยิงจรวดถล่มใส่บ้านช่องคนอิสราเอล จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 8 คน ฝั่งปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้ว 119 คน
ทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษถือว่ากลุ่มฮามาสเป็นกลุ่มก่อการร้าย ที่พยายามเสี้ยมไม่ให้เกิดสันติภาพในตะวันออกกลาง และประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างอิงอยู่บ่อยครั้งในรายงานข่าวของสำนักข่าวสองแห่งนี้คือ ความมุ่งมั่นของกลุ่มฮามาสที่จะกำจัดชาวยิวให้หมดไปจากโลกใบนี้
การที่ทหารอิสราเอลทำลายตึกมีสำนักข่าวต่างประเทศ โดยเฉพาะอัลจาซีราและเอพี อาจเป็นเพราะว่าสำนักข่าวสองแห่งนี้ถูกกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่อิสราเอลว่า รายงานข่าวด้วยความเห็นอกเห็นใจกลุ่มฮามาสและวัยรุ่นชาวปาเลสไตน์ ซึ่งความจริงแล้วนักข่าวของเอพีมีชื่อเสียงในการรายงานข่าวแบบเจาะลึกการเมืองอิสราเอลมาเป็นเวลานานแล้ว มักมีบทวิจารณ์นโยบายและการกระทำของนายกรัฐมนตรีคนนี้ ส่วนเหตุผลที่รัฐบาลอิสราเอลนำมาอ้างว่า กลุ่มฮามาสใช้ตึกนี้เป็นกำบังของฐานที่มั่นยิงจรวดใส่ที่มั่นทหารอิสราเอล ซึ่งทางสำนักข่าวสองแห่งได้ปฏิเสธอย่างแข็งขัน
ครั้งนี้ไม่ใช่เป็นครั้งแรกที่สำนักข่าวต่างประเทศในตะวันออกกลางถูกตกเป็นเป้าการโจมตี ย้อนกลับไปในช่วงสงครามอิรัก นักข่าวโทรทัศน์อัลจาซีราที่กรุงแบกแดดถูกยิงเสียชีวิต เพราะฝ่ายทหารอเมริกันเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ก่อการร้าย
นอกจากนี้ยังมีสถานีข่าว 24 ชั่วโมงที่รองลงมาคือ สถานีเอ็นเอชเค (NHK) ของญี่ปุ่น, อารีรัง (Arirang) ของเกาหลีใต้, ดีดับบลิว (DW-Deutsche Welle) ของเยอรมนี, ฟรานส์ 24 (France 24) ของฝรั่งเศส และซีเอ็นเอ (Channel News Asia) ของสิงค์โปร์
ในสมัยของรัฐบาลชวน หลีกภัย ก็เคยมีแนวที่จะพัฒนาสถานีข่าว 24 ชั่วโมงเช่นกัน โดยตั้งใจใช้ชื่อว่า ‘Thailand International Television Network’ แต่ปรากฎว่าต้องใช้งบประมาณมหาศาล แผนงานนี้เลยถูกยกเลิกไป
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส