เมื่อวานนี้ (27 พฤษภาคม) วิลเลียม ไฮเน็กกี้ (William Heinecke) ประธานกรรมการบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (Minor International) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย เพื่อเรียกร้องให้ช่วยเหลือภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทย หลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ในจดหมายมีใจความประมาณว่าท่ามกลางการระบาดระลอกที่ 3 ที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 2,000 คนต่อวันและมีผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้นเป็นเลข 2 หลัก โดยทางไฮเน็กกี้เข้าใจดีว่ารัฐบาลไทยกำลังเผชิญกับภารกิจอันยิ่งใหญ่ในการดึงประเทศออกจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้
ฉะนั้น ทางไมเนอร์ ที่ดำเนินธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวมาตลอดจึงอยากจะเสนอไอเดียในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญในไทย ซึ่งคิดเป็น 20% ของเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมีข้อเสนอ ดังนี้
1. เร่งฉีดวัคซีนให้กับทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งจำเป็นต้องเร่งฉีดให้เต็มอัตรา ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้น แต่คนต่างชาติในประเทศก็ต้องได้รับวัคซีนด้วย อย่างเช่น รัฐบาลจีนที่ได้ส่งวัคซีนมายังประเทศไทย เพื่อฉีดวัคซีนให้กับชาวจีนที่อาศัยอยู่ที่นี่แล้ว อีกทั้งรัฐบาลก็ควรสนับสนุนให้สถานทูตต่างประเทศอื่น ๆ (เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและประเทศในยุโรปอื่น ๆ ) ช่วยเหลือพลเมืองของตนอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะประเทศที่มีวัคซีนเกินพอแล้ว นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของวัคซีนแอสตร้าเซนนกา ที่ถูกเลื่อนระยะเวลาในการฉีดเข็มที่ 2 ออกไป เนื่องจากมีวัคซีนไม่เพียงพอ รัฐบาลควรดำเนินการอย่างสุดความสามารถเพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีวัคซีนเพียงพอที่จะฉีดให้กับประชาชนตามเวลาและตามแผนการที่กำหนดไว้ และควรหาวัคซีนทางเลือกอื่น ๆ ด้วย เพราะการระบาดในประเทศยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอด
2. อนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เข้ามาในประเทศโดยไม่ต้องกักตัว ซึ่งการเข้ามาในประเทศโดยไม่ต้องกักตัวมีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จในการจะเปิดประเทศอีกครั้ง โดยการที่แค่ลดระยะเวลากักตัว ไม่เพียงพอที่จะทำให้ภาคธุรกิจฟื้นฟูขึ้นได้ นอกจากนี้ ควรยกเลิกมาตรการกักตัวกับทั้งทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่ 6 สถานที่ท่องเที่ยวนำร่องเช่น ภูเก็ต กระบี่ พังงา พัทยา สมุย เชียงใหม่ เท่านั้น เพราะนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้ว ถือว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำในการแพร่เชื้อไวรัสและควรได้รับการเดินทางได้อย่างอิสระ ตราบใดที่พวกเขามีผลตรวจเป็นลบ
3. เร่งสรุปรายชื่อวัคซีนที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ในวัคซีนพาสปอร์ตและข้อจำกัดในการขอวีซ่า รัฐบาลควรจัดระบบที่ชัดเจน เพื่อรองรับการใช้งานของวัคซีนพาสปอร์ตของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทย ขั้นตอนการเข้าประเทศควรจะง่ายและคล่องตัว ตราบใดที่พวกเขามีหนังสือเดินทางวัคซีนและผลตรวจโควิดเป็นลบ
4. จัดให้มีการตรวจโควิดให้ประชาชนแบบฟรีหรือแบบไม่แพง เพราะค่าใช้จ่ายในการตรวจเชื้อ ไม่ควรเป็นอุปสรรคในการรักษาสุขภาพของบุคคลและชุมชน การรู้ว่าใครติดเชื้อเมื่อใดและที่ไหนเป็นสิ่งสำคัญในการยับยั้งการแพร่กระจายของโรค อีกทั้งการตรวจเชื้อกับนักท่องเที่ยวก็จะเป็นเสมือนด่านแรกในการป้องกันเชื้อโรคด้วย
5. ส่งเสริมความเชื่อมั่นของประชาชน เรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน ความสำเร็จของการฉีดวัคซีนในหมู่กว้างได้ ขึ้นอยู่กับความไว้วางใจของประชาชนในวัคซีนที่จัดหามาให้ รัฐบาลควรทำงานร่วมกับพันธมิตรและสนับสนุนองค์กรชุมชน เพื่อเพิ่มพูนความรู้ของประชาชนในการฉีดวัคซีน
6. ออกมาตรการเงินสนับสนุนค่าจ้างพนักงาน สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่มีพนักงานอยู่ในระบบประกันสังคม รัฐบาลควรใช้กองทุนประกันสังคม เพื่อช่วยเหลือพนักงานในภาคการบริการ เพราะพนักงานโรงแรมหลายคนกำลังดิ้นรนกับการสูญเสียรายได้จำนวนมากในช่วงโควิด บางที่ก็ถึงกับโดนปลดออกจากงาน ซึ่งหากนับตั้งแต่มีการระบาดในระลอกที่ 3 นี้ ภาคการท่องเที่ยวยังคงไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ จากประกันสังคมแบบที่เคยได้รับในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ในปีที่แล้ว
7. อนุญาตให้มีการยกยอดขาดทุนของบริษัทไปหักล้างกับกำไรสุทธิ รัฐบาลควรพิจารณาให้เวลาเพิ่มอีก 5 ปี จากแต่ก่อนที่มีกำหนดไว้ที่ 5 ปี รวมทั้งสิ้นเป็น 10 ปี สำหรับธุรกิจที่ได้รับความเสียหายในช่วงการแพร่ระบาด ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การฟื้นตัวเป็นไปได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ก็ยังมาตรการอื่น ๆ ที่รัฐบาลอาจพิจารณาดำเนินการ ได้แก่ การลดค่าสาธารณูปโภคสำหรับธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการขยายการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอีก 90% เป็นเวลาเพิ่มเติมอีก 2 ปี ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับภาคการบริการควรได้รับการยกเว้นหรือลดลง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยนโยบายดังกล่าวจะช่วยให้ธุรกิจท่องเที่ยวมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการรอดชีวิตจากโควิด -19
พร้อมปิดท้ายด้วยว่า “ผมหวังว่าจะทำในสิ่งที่ทำได้ เพื่อสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลไทยในการจัดการกับวิกฤตที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแบบนี้”
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส