ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวดังที่โผล่มาแทรกท่ามกลางข่าวโควิด-19 ที่ยังเป็นหัวข้อข่าวที่น่าสนใจอยู่ทั่วโลก นั่นก็คือข่าวการจับตัว โรมัน โปรตาเซวิช (Roman Protasevich) นักข่าวหนุ่มวัย 26 ปี ชาวเบลารุส ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับประธานาธิบดีเบลารุสมาอย่างยาวนาน คือถ้าเป็นการล้อมจับธรรมดามันก็คงไม่เป็นข่าวใหญ่หรอก แต่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ประธานาธิบดีเบลารุส สั่งให้เครื่องบินรบ 2 ลำ ตามประกบเครื่องบินพาณิชย์สายการบินไรอันแอร์ ให้ลงจอดฉุกเฉิน เหตุเพราะนายโรมันอยู่บนเครื่องบินลำนี้ หลังจากที่นายโรมันหนีไปลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในลิธัวเนียมาอย่างยาวนาน แต่ยังคงมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองโจมตีการบริหารงานของประธานาธิบดีลูคาเชนโกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประธานาธิบดีสั่งปฏิบัติการชิงตัวกลางอากาศ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติใด เหตุใดประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก (Alexander Lukashenko)ถึงต้องลงใช้ปฏิบัตการเด็ดขาดเช่นนี้ เรามาย้อนความถึงความบาดหมางของคู่ปรับคู่นี้กันเสียก่อน
รู้จักกับสาธารณรัฐเบลารุส
สาธารณรัฐเบลารุส (Belarus) เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ตั้งอยู่ในภูมิภาคยุโรปตะวันออก มีอาณาเขตติดต่อกับรัสเซียทางตะวันออก และยูเครนทางตะวันตก ส่วนทางเหนือและตะวันตกติดต่อกับโปแลนด์ ลิทัวเนีย และลัตเวีย เมืองหลวงของประเทศคือกรุงมินสค์ ขนาดประเทศ 207,600 ตารางกิโลเมตร ปัญหาความไม่สงบภายในเบลารุสนั้นสืบเนื่องมาจากตัวประธานาธิบดีลูคาเชนโก ที่ถือครองอำนาจมาอย่างยาวนานถึง 27 ปี จนได้ฉายานามว่า “เผด็จการคนสุดท้ายแห่งยุโรป” ด้วยเหตุนี้จึงมีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านอำนาจของลูคาเชนโกภายในประเทศอย่างมาก ประชาชนต้องการการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย ต้องการปฏิรูปเศรษฐกิจ
แม้จะมีเสียงต่อต้านมากมาย แต่เมื่อมีการเลือกตั้งเมื่อ 9 สิงหาคม 2020 ลูคาเชนโกกลับชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย พรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลตะวันตกหลายประเทศก็ประนามประธานาธิบดีลูคาเชนโกว่าโกงการเลือกตั้ง ผลก็คือประชาชนไม่เห็นด้วยกับผลการเลือกตั้งและออกมาประท้วงบนท้องถนนกันอย่างมากมาย ประธานาธิบดีลูคาเชนโกจึงส่งกำลังตำรวจจำนวนมากเข้ามาควบคุมสถานการณ์ด้วยวิธีการรุนแรง มีประชาชนหลายคนที่ออกมาประท้วงโดนทุบตี ผู้นำการชุมนุมหลายคนโดนจับเข้าคุก ส่วนที่หนีรอดได้ก็หลบหนีออกนอกประเทศ
ทำไมโรมัน โปรตาเซวิช ถึงเป็นที่ต้องการตัวของรัฐบาล
หลังจากควบคุมความสงบได้แล้ว ประธานาธิบดีลูคาเชนโกก็สั่งปิดสื่อที่ทำข่าวต่อต้านเขาทั้งหมด แต่ก็ยังคงมีสื่ออิสระบางรายที่ยังเล็ดลอดอยู่ได้ หนึ่งในนั้นก็คือสำนักข่าว NEXTA ที่ร่วมกันก่อตั้งโดย โรมัน โปรตาเซวิช และ สเตพาน พูลิโต (Stepan Putilo) โดยโปรตาเซวิชรับหน้าที่บรรณาธิการข่าว NEXTA เป็นสำนักข่าวที่เผยแพร่เนื้อหาผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน Telegram รัฐบาลจึงไม่สามารถปิดได้ ทำให้สื่อ NEXTA ของโปรตาเซวิช กลายเป็นหนามยอกอกตัวสำคัญของประธานาธิบดีลูคาเชนโกมาอย่างยาวนาน เพราะ NEXTA นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ต่อต้านรัฐบาลที่บริหารโดยประธานาธิบดีลูคาเชนโกมาโดยตลอด
เหตุที่โปรตาเซวิชรอดพ้นเงื้อมมือของประธานาธิบดีลูคาเชนโกมาได้ตลอด ก็เพราะเขาบินหนีออกนอกเบลารุสไปลี้ภัยอยู่ในลิธัวเนีย มาตั้งแต่ปี 2019 แล้ว แม้ตัวจะอยู่ในลิธัวเนีย แต่โปรตาเซวิชก็ยังคงทำหน้าที่สื่อที่ให้ข้อมูลแฉการทำงานและโจมตีการปกครองของประธานาธิบดีลูคาเชนโกอย่างต่อเนื่อง โดยพื้นเพของโปรตาเซวิชนั้น เขาไม่ใช่หน้าใหม่สำหรับรัฐบาลของประธานาธิบดีลูคาเชนโกแต่อย่างใด แต่เขาเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา โปรตาเซวิชเริ่มถูกจับตามองจากฝ่ายรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2011 ในวันนั้นเขาเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านการปกครอง ทำให้โปรตาเซวิชโดนไล่ออกจากมหาวิทยาลัยเบลารุส แล้วเขาก็กลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของประธานาธิบดีลูคาเชนโกมานับแต่นั้น
วันเผด็จศึก
วันปฏิบัติการกระฉ่อนโลกของประธานาธิบดีลูคาเชนโก เกิดขึ้นในวันที่ 23 พฤษภาคม ในวันนั้นโปรตาเซวิชเดินทางไปร่วมประชุมทางเศรษฐกิจในประเทศกรีซ ร่วมกับ สเวตลาน่า ติกรานอฟสกายา (Svetlana Tikhanovskaya) ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของเบลารุส โปรตาเซวิชบินกลับจากกรีซมาลิธัวเนียด้วยสายการบินไรอันแอร์ เที่ยวบิน FR4978 บรรทุกผู้โดยสารทั้งหมด 170 คน ใช้เวลาในการบินมาถึงลิธัวเนียประมาณ 3 ชั่วโมง แต่ที่สำคัญคือเส้นทางบินนี้ต้องผ่านน่านฟ้าของเบลารุส ในช่วงที่ใกล้จะหลุดพ้นน่านฟ้าเบลารุสแล้วนั้น ก็พลันมีเครื่องบินรบ MiG-29 บินมาประชิดข้างเครื่องบินไรอันแอร์ลำที่โปรตาเซวิชโดยสารอยู่นี้ อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะผู้ที่ออกคำสั่งให้เครื่องบินรบออกปฏิบัติการพิเศษนี้ก็คือตัวประธานาธิบดีลูคาเชนโกนั่นเอง โดยเป้าหมายคือให้นักบิน MiG-29 แจ้งกับเครื่องบินไรอันแอร์ว่า “มีระเบิดบนเครื่องบิน” เพื่อป้องกันเหตุร้ายนี้ ให้เครื่องบินไรอันแอร์หันหัวกลับและลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินมินสค์
โมนิกา ซิมคีน (Monika Simkiene) ผู้โดยสารรายหนึ่งบนเครื่องเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า ขณะที่โปรตาเซวิชรู้ตัวแล้วว่าเครื่องบินลำนี้จะต้องร่อนลงที่มินสค์ เขามีอาการตื่นตระหนกอย่างเห็นได้ชัด
“เขาหันมาเปรยกับทุกคนบนเครื่องว่า เขาจะต้องเจอโทษประหารชีวิตอย่างแน่นอน”
ไรอันแอร์ร่อนลงที่สนามบินมินสค์เมื่อเวลา 13:16 น. หลังเครื่องร่อนลงแล้ว แน่นอนว่าไม่มีการค้นหาระเบิดบนเครื่องตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ผู้โดยสารทุกคนได้รับคำสั่งให้ออกจากตัวเครื่อง แล้วเจ้าหน้าที่ก็เข้ามาควบคุมตัวโปรตาเซวิชออกไปจากกลุ่มผู้โดยสาร มีพยานหลายคนให้การว่า ขณะที่ถูกคุมตัวไปนั้นโปรตาเซวิสมีอาการตื่นกลัวอย่างสุดขีด โซเฟีย ซาเพกา (Sofia Sapega) แฟนสาวของโปรตาเซวิชวัย 23 ปี ก็โดนควบคุมตัวไปด้วยกัน เธอผู้นี้เป็นชาวรัสเซียโดยกำเนิด เธอเป็นนักศึกษาเอกนิติศาสตร์ที่ มหาวิทยาลัยศิลปศาสตร์ในลิธัวเนีย
วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม กระทรวงคมนาคมเบลารุสก็ได้ปล่อยสำเนาบันทึกบทสนทนาระหว่างหอควบคุมการบินกับนักบินไรอันแอร์ FR4978 ออกสู่สาธารณชน ในการสนทนานี้ได้บันทึกไว้ว่า เจ้าหน้าที่หอควบคุมการบินได้ให้คำแนะนำหลายครั้งกับนักบินไรอันแอร์ว่า ควรนำเครื่องลงจอดที่สนาบินมินสค์ โดยกำชับว่า “นี่คือคำแนะนำของเรา” โดยถ้อยคำดังกล่าวในบันทึกนี้ได้ขัดแย้งกับแถลงการณ์จากรัฐบาลเบลารุสก่อนหน้านี้ว่า การนำเครื่องลงจอดที่มินสค์นั้นเป็นการตัดสินใจโดยนักบินไรอันแอร์เอง
หลังปฏิบัติการอุกอาจนี้กลายเป็นข่าวไปทั่วโลก แน่นอนว่ารัฐบาลหลายประเทศต้องออกมาประนามการกระทำของประธานาธิบดีลูคาเชนโก หนึ่งในนั้นคือ แอนโธนี เจ. บลินเค็น (Antony J. Blinken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ที่ทวีตว่า “เป็นการกระทำที่ไร้ยางอายและน่าสะเทือนขวัญอย่างมากกับการบังคับให้สายการบินพาณิชย์ต้องเปลี่ยนเส้นทางการบินเพียงเพื่อจะจับตัวนักข่าวคนหนึ่งเท่านั้น เราขอเรียกร้องให้นานาชาติได้ร่วมกันสอบหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้และร่วมมือกับบรรดาพันธมิตรของเราในการสืบสวนขั้นต่อไป ในการนี้สหรัฐอเมริกาขอประกาศจุดยืนว่าจะอยู่ข้างฝ่ายประชาชนของเบลารุสจากนี้ไป”
ด้านประธานาธิบดีลูคาเชนโก ก็ออกแถลงการณ์แก้ต่างเมื่อวันพุธที่ 26 พฤษภาคม โดยยืนกรานว่าสาเหตุในปฏิบัติการครั้งนี้สืบเนื่องมาจากเบาะแสว่ามีระเบิดบนเครื่องบิน
“เราต้องยึดถือมาตรการที่เราคิดว่าเหมาะสมแล้วเพื่อการปกป้องผืนแผ่นดินของเรา”
โปรตาเซวิชจะต้องเผชิญกับอะไรบ้างหลังถูกควบคุมตัว
ตลอดเวลาที่ผ่านมา โรมัน โปรตาเซวิช ได้ถูกบันทึกเป็นหนึ่งในรายชื่อ “ผู้ก่อการร้าย” ของหน่วยงาน K.G.B. ตามคำแนะนำของหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติเบลารุส ตามข้อกล่าวหานี้ ถ้าเขาถูกคุมตัวและพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดจริงตามโทษนี้ โปรตาเซวิชอาจจะได้รับโทษประหารชีวิต ส่วนข้อหาปลุกระดมให้เกิดความไม่สงบ และยุยงให้เกิดความเกลียดชังในสังคมนั้น มีโทษต้องจำคุกไม่ต่ำกว่า 12 ปี
เมื่อวันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม กลุ่มผู้สนับสนุนลูคาเชนโกก็ได้ปล่อยวิดีโอความยาว 29 วินาที ผ่านทางแอปพลิเคชัน Telegram เป็นภาพของโปรตาเชวิชที่บอกกับทุกคนว่า เขาได้ถูกควบคุมตัวไว้ที่ทัณฑสถานกลางหมายเลข 1 และได้เข้ากระบวนการ “ปรับทัศนคติอย่างเข้มงวดที่สุด” วิดีโอของโปรตาเซวิชที่ถูกปล่อยออกมานี้ ก็เหมือนกับผู้ต่อต้านประธานาธิบดีลูคาเชนโกทุกรายที่ถูกจับก่อนหน้านี้ ก็มักจะถูกบังคับให้บันทึกวิดีโอขณะที่ถูกคุมขัง
“จากนี้ไปผมจะให้ความร่วมมือในการสอบสวน และขอสารภาพว่าผมเป็นผู้ริเริ่มก่อความไม่สงบของมวลชนในกรุงมินสค์”
โปรตาเซวิชกล่าวในวิดีโอ
นาตาเลีย โปรตาเซวิช (Natalia Protasevich) แม่ของโรมันกล่าวว่าเธอนอนไม่หลับเลยตั้งแต่รู้ข่าวว่าลูกชายถูกจับตัวไป
“ฉันขอร้อง ฉันขอความกรุณา ฉันขอเรียกร้องให้องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกได้โปรดช่วยลูกชายฉันด้วย เขาเป็นเพียงแค่นักข่าวคนหนึ่งเท่านั้น เขาเป็นลูกชายคนเดียวของฉัน ได้โปรด ได้โปรด ฉันขอเรียกร้องความช่วยเหลือ ได้โปรดช่วยเขาด้วย พวกนั้นมันกำลังจะฆ่าเขาในคุกนั่น”
เธอกล่าวทั้งน้ำตาระหว่างให้สัมภาษณ์กับสื่อในเมืองวรอตซวาฟ ทางตอนใต้ของโปแลนด์
นาตาเลียยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าลูกชายของเธอเปรียบเสมือน “นักสู้เพื่อความยุติธรรม”
“พวกนั้นส่งเครื่องบินรบเพื่อมาจับตัวลูกชายฉัน นี่มันเรียกได้ว่าการก่อการร้ายชัด ๆ ฉันไม่คิดว่าจะสรรหาคำอื่นใดเหมาะไปกว่านี้อีกแล้ว เขาถูกจับเป็นตัวประกัน นี่มันเป็นการแก้แค้นชัด ๆ ลูกชายฉันยังเป็นเด็กหนุ่มอยู่เลย เขาเพียงต้องการป่าวประกาศให้โลกรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศ เขาไม่ได้ทำอะไรผิดเลย”
สเตพาน พูลิโต เป้าหมายต่อไปของประธานาธิบดีลูคาเชนโก
ถึงตอนนี้ช่องข่าว NEXTA บนแอปพลิเคชัน Telegram มีผู้ติดตามแล้วมากกว่า 1 ล้านคน เมื่อปีที่แล้วช่อง NEXTA ก็ใช้เป็นสื่อกลางในการนัดหมายฝูงชนให้ออกมาประท้วงบนถนน สตพาน พูลิโต (Stepan Pulito) คือเพื่อนของโปรตาเซวิชผู้ร่วมก่อตั้ง NEXTA ได้กล่าวถึงรัฐบาลประธานาธิบดีลูคาเชนโกว่า “พวกเขากลัวเราเพราะพวกเรานำเสนอข้อเท็จจริง”
พูลิโตเป็นเพื่อนกับโปรตาเซวิชมาตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัย แต่พูลิโตอายุน้อยกว่าโปรตาเซวิชเล็กน้อย เขาลี้ภัยมาจากเบลารุสตั้งแต่อายุได้ 20 ปีเท่านั้น
“พวกเรานำเสนอเนื้อหาที่พวกเขาพยายามปกปิด การที่พวกเขากังวลถึงกับต้องบังคับให้เครื่องบินของโรมันลงจอดแบบนี้ แปลว่าพวกเรามาถูกทางแล้ว และเราจะต่อสู้ต่อไป”
“สำหรับพวกเขาแล้ว โรมันนี่คือบุคคลอันตรายที่สุดในจำนวนนักโทษทางการเมืองในเบลารุส เขานี่แหละศัตรูโดยตรงของลูคาเชนโกเลย”
หลังโปรตาเซวิชถูกจับตัวไป พูลิโตก็คอยเช็กข่าวสารจากโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา หวังว่าจะได้ยินข่าวคราวของโปรตาเซวิช แต่ก็ไม่มีข่าวคืบหน้าให้เขาได้อุ่นใจเลย
ปัจจุบันสำนักข่าว NEXTA ก็ยังคงดำเนินการต่อไป มีเจ้าหน้าที่หนุ่มสาวดำเนินการร่วมกันอยู่ 6 คน ทุกคนต่างลี้ภัยมาด้วยกัน และไม่ขอเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณชนเพื่อความปลอดภัย พวกเขาทั้ง 6 ยังมีพ่อแม่ที่อยู่ในเบลารุส ที่พวกเขายังกังวลถึงความปลอดภัยของพ่อแม่ แต่พวกเขาก็มองว่างานนี้คือหน้าที่ที่พวกเขาต้องดำเนินต่อไปด้วยสำนึกรับผิดชอบที่จะต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในบ้านเกิด
พูลิโตยอมรับว่า เขารู้ตัวดีว่ากลายเป็นเป้าหมายสำคัญต่อไปของประธานาธิบดีลูคาเชนโกแล้ว ที่ผ่านมาเขาค่อนข้างรู้สึกปลอดภัยกับการใช้ชีวิตลี้ภัยในโปแลนด์ แต่ทุกวันนี้ แม้ว่าที่หน้าประตูสำนักงาน NEXTA มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นายคอยให้การอารักขาอยู่ตลอดเวลา แต่สถานการณ์ในวันนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว แม้แต่จะเดินบนถนนในกรุงวอร์ซอว์เขาก็ไม่รู้สึกปลอดภัยอีกต่อไปแล้ว