สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าการทิ้งสารเคมีในน่านน้ำแคลิฟอร์เนีย กลายเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดมะเร็งในระดับสูงสุดแก่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด โดยเฉพาะสิงโตทะเล

และนี่ก็เป็นอีกหนึ่เคส เมื่อเหล่าแพทย์จากเดอะ มารีน แมมอล เซนเตอร์ (The Marine Mammal Center) กำลังช่วยเหลือสิงโตทะเลเพศเมียตัวหนึ่งที่มาเกยตื้นบนฝั่งที่ชายหาดแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเจ้าหน้าที่รู้ได้ทันทีเลยว่าต้องมีบางอย่างผิดปกติแน่นอน

สิงโตทะเลตัวนี้ได้รับยาระงับประสาทโดยศูนย์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลในซอซาลิโต เมื่อแพทย์ลองอัลตราซาวนด์ดูระบบภายในร่างกายพบว่ามันมีอาการที่น่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากไตทำงานผิดปกติอย่างรุนแรง สุดท้าย แพทย์วินิจฉัยว่าสิงโตทะเลตัวนี้ไม่น่าจะรอดชีวิตได้แน่นอน จึงตัดสินใจทำการการุณยฆาต

ตามการศึกษาของฟรอนเทียร์ อิน มารีน ไซเอนซ์ (Frontier in Marine Science) ที่ตีพิมพ์ในเดือนธันวาคมกล่าวไว้ว่าโรคที่ไม่สามารถรักษาได้และมักพบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมคือโรคมะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเกือบ 25% ของสิงโตทะเลแคลิฟอร์เนียที่โตเต็มวัยแล้ว มักจบชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งชนิดนี้

จากการศึกษาที่รวมตัวอย่างจากสิงโตทะเลเกือบ 400 ตัว ในระยะเวลา 20 ปียังพบว่าสาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็งดังกล่าวมาจากสารเคมี 2 ชนิดอย่างยาฆ่าแมลง และโพลีคลอริเนตไบฟีนิล ที่ถูกสั่งห้ามใช้งานมาเป็นเวลานานแล้ว นักวิจัยพบว่าสารเคมีดังกล่าวถูกพบในเนื้อเยื่อของสิงโตทะเลและเป็นตัวก่อให้เกิดมะเร็ง

นักวิจัยกล่าวว่า “นี่เป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างมาก เพราะนับเป็นอัตราการเกิดมะเร็งในสัตว์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่สัตว์จะเป็นมะเร็งได้ แต่โดยปกติแล้วจะเป็นแบบตัวต่อตัวหรืออาจเป็นจำนวนน้อยมาก แต่ในแคลิฟอร์เนีย  พบว่าสิงโตทะเลเป็นมะเร็งที่ระบบทางเดินปัสสาวะค่อนข้างเยอะ เราไม่เคยเห็นตัวเลขที่เยอะขนาดนี้ มันไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย ดังนั้น มลพิษในสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องที่เราต้องกังวลและย้ำเตือนว่าเราจะต้องใส่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรให้มากกว่านี้”

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส