เราอาจเคยเห็นการนำเสนอภาพรวมหรือแผนที่โลกมาแล้วหลายแบบ แต่แผนที่โลกแบบนี้เชื่อว่าคุณอาจยังไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนแน่ ๆ นี่คือผลงานของ ‘Louisa Bufardeci’ ศิลปินที่ออกแบบ ‘Ground Plan’ แผนที่โลกแสดงการกระจายตัวของประชากรในแต่ละประเทศ

Ground Plan ผลงานของ Louisa Bufardeci

‘Ground Plan’ เป็นแผนที่แสดงการกระจายตัวของประชากร จึงไม่เป็นแปลกใจว่าทำไมเราถึงเห็นประเทศออสเตรเลียมีขนาดที่เล็กกว่าอินโดนีเซีย นั่นแสดงให้เห็นว่าพลเมืองของออสเตรเลียรักที่จะอยู่ในพื้นที่ของตัวเองมากกว่าจะเคลื่อนย้ายออกไปที่อื่น ทำให้เราไม่อาจนำความคิดเรื่องภูมิศาสตร์มาใช้กับแผนที่โลก ‘Ground Plan’ ได้นั่นเอง

แม้ว่าแผนที่โลกทั่วไปจะนิยมใช้ระบบแผนที่แบบเมอร์เคเตอร์ (Mercator) ในปี 1569 ที่เป็นการแสดงแผนที่โลกบนพื้นผิวสัมผัสทรงกระบอกหรือแปลภาพทรงกลมให้มาลงอยู่บนกระดาษแผ่นเดียว ทำให้มีความคลาดเคลื่อนไปบ้างจากเส้นศูนย์สูตร โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรจะมีขนาดเล็กกว่าปกติ Bufardeci จึงตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบภูมิศาสตร์นี้ โดยรวบรวมข้อมูลสถิติจาก UNESCO การสำรวจสำมะโนครัวของประชากร โพลแสดงความคิดเห็น ไปจนถึงข้อมูลจริงจาก CIA

‘Ground Plan’ ของ Bufardeci จะแสดงภาพการกระจายตัวของประชากรโลกผ่านห้องต่าง ๆ ในอาคารหลังใหญ่คือโลก โดยแต่ละห้องเปิดประตูไว้ แนวเส้นประแสดงถึงชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่ได้อ้างอิงการเมืองปัจจุบันแต่อย่างใด ส่วนประตูที่แสดงถึงเขตพรมแดนจะเปิดหรือปิดนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละช่วงเวลามีสงคราม วิกฤตผู้ลี้ภัย ข้อตกลงการค้า ไปจนถึงข้อตกลงเรื่องสันติภาพหรือไม่นั่นเอง

ผลงานของ Bufardeci แสดงผลเป็นข้อมูลเชิงปริมาณในรูปแบบแผนผังสถาปัตยกรรมมากกว่าแผนภูมิวงกลม กราฟหรือไดอะแกรมที่แสดงข้อมูลสถิติทั่วไป ‘Ground Plan’ ไม่เพียงแต่แสดงความสัมพันธ์ทั่วโลกระหว่างผู้คนและพื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ รวมถึงการกระจายตัวของประชากรแล้ว ยังแสดงให้เห็นทรัพยากร ความมั่งคั่งและแน่นอนที่สุดคือ ‘อำนาจ’ ของแต่ละประเทศอีกด้วย

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส