วันศุกร์ที่ผ่านมา ที่นครนิวยอร์กมีข่าวใหญ่พาดหัว คือไทยได้งดออกเสียงในการลงคะแนนเพื่อรับรองข้อมติสมัชชาสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในเมียนมา ทำให้เกิดมีเรื่องวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดในสื่อทุกแพลตฟอร์มประนามรัฐบาลไทยว่าไม่มีจุดยืนเป็นของตัวเอง ชอบเดินตามหลังจีน สนับสนุนรัฐบาลทรราช ไม่ใยดีต่อการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย นอกจากนั้นยังมีเหตุผลอื่น ๆ เต็มไปหมด ทั้งที่ไทยเราไม่มีผลประโยชน์กับข้อเรียกร้องการยุติขายอาวุธให้กับกองทัพเมียนมา ซึ่งเป็นประเด็นหลักของมตินี้
สมาชิกองค์การสหประชาชาติที่งดออกเสียงมี 36 ประเทศ นอกจากไทยยังมีสมาชิกอาเซียนอีก 3 ประเทศคือ บรูไน ลาว และกัมพูชาเข้าสมทบ นอกนั้นเป็นสมาชิกยักษ์ใหญ่อย่างเช่น จีน และรัสเซีย มี 119 ลงคะแนนสนับสนุนมตินี้ ที่ประนามรัฐบาลทหารเมียนมาใช้ความรุนแรงเข่นฆ่าประชาชน พร้อมกับเรียกร้องให้นานาประเทศห้ามขายอาวุธให้กองทัพเมียนมา รวมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยนางอองซานซูจีและยุติความรุนแรงต่อผู้ประท้วงอย่างสันติ
ความคิดเห็นเหล่านี้น่าทำความเข้าใจมาก มันสะท้อนถึงมุมมองที่หลากหลายในสังคมไทยในประเด็นร้อนแรงที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวโยงกับเมียนมาและผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อไทย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตั้งแต่นี้ต่อไปประเด็นเมียนมาและสิ่งท้าทายที่ตามมาจะเป็นข่าวเด่น มีความจำเป็นที่เราต้องทำความเข้าใจสภาพกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกของไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านประเทศนี้
คนไทยต้องไม่ลืมสภาพความเป็นจริงที่ลึกซึ้งมาก ๆ พร้อมกับพลวัตของสายสัมพันธ์สองประเทศนี้ ทั้งระหว่างรัฐต่อรัฐและระหว่างประชาชนต่อประชาชน ในช่วงสิบปีที่ผ่านมามิตรภาพของเมียนมากับไทยดีมากแต่ก็ยังมีประเด็นที่ละเอียดอ่อนคั่งค้างอยู่ เพราะเคยรบราเป็นศัตรูกันมาในอดีต
ในทศวรรษที่ผ่านมาความร่วมมือทุก ๆ ด้านเป็นไปอย่างใกล้ชิดเพราะเมียนมาต้องพึ่งไทยอย่างมากทุกด้าน ตั้งแต่ความร่วมมือทางด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เกษตรกรรมและสาธารณสุข เป็นต้น หลังการยึดอำนาจ มิติทางด้านความมั่นคงและความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทั้งสองประเทศต้องให้ความสนใจ
ขณะนี้มีแรงงานเมียนมาในไทยเกือบ 6 ล้านคน ครึ่งหนึ่งของจำนวนแรงงานนี้ได้มีการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการเรียบร้อยและได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน นอกจากนี้แล้ว ยังมีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาอีกเกือบ 100,000 คนที่ยังรอโอกาสกลับภูมิลำเนาเดิมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ตรงบริเวณชายแดนไทยกับเมียนมายังเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธ์ต่าง ๆ ที่ติดอาวุธครบมือต่อสู้กับรัฐบาลทหารเมียนมามาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี
อย่าลืมว่าคนเมียนมารวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในไทยและบริเวณชายแดนไทยนั้น ไทยต้องรับผิดชอบเรื่องการป้องกันและรักษารวมทั้งการฉีดวัคซีนด้วย นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่มีชาวเมียนมาหลบหนีเข้ามาไทยตามช่องทางธรรมชาติเพื่อหางานและรักษาสุขภาพ ตัวเลขที่แบไต๋ได้มาคือ ตั้งแต่กรกฎาคมปีที่แล้วถึงพฤษภาคมปีนี้ มีคนหลบหนีเข้าเมืองจากฝั่งเมียนมาไทยถึง 34,000 คนหรือโดยเฉลี่ยวันละ 170-180 คนต่อ วัน
อาทิตย์แรกหลังยึดอำนาจมีนักเคลื่อนไหวชาวเมียนมาอาศัยอยู่ในไทยได้ไปประท้วงและชุมนุมหน้าสถานทูตเมียนมาสร้างความอลหม่านให้กับรัฐบาลไทยเป็นอย่างมาก ช่วงนั้นฝ่ายความมั่นคงไทยเกรงว่านักเคลื่อนไหวเหล่านี้อาจจะใช้วิธีการที่มีความรุนแรงและประท้วงที่ลากยาว ยุยงให้คนเมียนมาในไทยออกมาต่อต้านรัฐบาลทหาร ปรากฎว่าสถานการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
การงดออกเสียงที่องค์การสหประชาชาติในครั้งนี้ ไทยมีความจำเป็นเนื่องจากสภาพสิ่งแวดล้อมที่กลืนไม่เข้าคลายไม่ออกดังกล่าวข้างต้น ด้านกระทรวงต่างประเทศก็ได้ออกมาชี้แจ้งเพิ่มเติมเกี่ยวกับการงดลงคะแนนเช่นกันโดยเน้นถึงการกระทำทุกอย่างของไทยต่อวิกฤติในเมียนมาต้องทำอย่างรอบคอบและคำนึงถึงผลที่จะตามมาทุกด้าน
รัฐบาลไทยหวังว่าอาเซียนและประชาคมโลกจะร่วมมือกันเพื่อหาข้อยุติความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองระหว่างคู่กรณีทุกฝ่ายในเมียนมา ถ้าปล่อยไว้ ยิ่งนานวัน ไทยเราจะต้องรับเคราะห์กรรมจากความขัดแย้งที่ยืดเยื้อต่อไป
เป็นที่เข้าใจกันดีว่า ตอนนี้คนเมียนมา นักต่อสู้ และนักรณรงค์ประชาธิปไตยได้แสดงอาการเกลียดชังอาเซียนรวมทั้งประเทศที่ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตในเมียนมาได้ทันที แถมยังสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา ประเด็นนี้มีการอธิบายมาบ่อยครั้งว่า อาเซียนต้องพัวพันกับผู้ก่อเรื่อง เพราะต้องการหาข้อยุติการใช้ความรุนแรงอย่างเร่งด่วน
แบไต๋ได้ข้อมูลล่าสุดในวันอาทิตย์ (20 มิถุนายน) จากกรุงย่างกุ้ง มีคนไทยที่ยังอยู่ในเมียนมารวมกันถึง 739 คน กลับมาไทยแล้ว 2,893 คน หลังการยึดอำนาจ รัฐบาลไทยได้อำนวยความสะดวกสำหรับคนไทยที่อยากกลับมาขณะนี้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส