31 ปีในวงการทีวี และประสบการณ์ด้านงานข่าวของ ‘นารากร ติยายน’ หรือ ‘คุณต๊ะ’ ที่เรารู้ัจักคุ้นเคยกันดี ณ วันนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธในฝีมือที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ผ่านงานผู้สื่อข่าว พิธีกร และผู้ประกาศข่าวในหลายรายการ หลายรูปแบบ ในยุคทีวีอนาล็อก คุณต๊ะคือผู้ประกาศข่าวที่เคยทำงานกับทุกช่องมาแล้ว

แต่ในฐานะทาเลนต์ข่าวเช้า beartai BRIEF นี่ถือว่าเป็นครั้งแรกที่คุณต๊ะได้มีโอกาสรับหน้าที่รายงานข่าวในรูปแบบออนไลน์ แถมยังเป็นข่าวไอที ข่าววิทยาการเข้มข้นในแบบฉบับของ #beartai เป็นครั้งแรกในชีวิตอีกต่างหาก คนข่าวอย่างคุณต๊ะปรับตัวอย่างไร และมีมุมมองต่อสื่อ ทั้งสื่อในยุคก่อน และสื่อในยุคนี้ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่มาเร็วและมาแรงอย่างไร ตอนนี้คุณต๊ะออนไลน์ เปิดกล้อง เปิดไมค์ รอเล่าให้ฟังแล้ว


ต๊ะ นารากร ติยายน

คำถามแรก อยากให้คุณเล่าก่อนว่าคุณเองทำอะไรมาบ้าง โดยเฉพาะในวงการทีวี

จริง ๆ อาชีพหลัก ๆ ก็คือทำงานเกี่ยวกับทีวีนี่แหละค่ะ เริ่มจากการเป็นนักข่าวก่อน แล้วก็เป็นผู้ประกาศข่าวที่ช่อง ITV เป็นช่องแรก คนที่เกิดหลังปี 2550 คงไม่รู้จักไอทีวีแล้วล่ะ เพราะว่ามันปิดไปแล้ว แล้วก็ไปอ่านข่าวที่ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 เรียกว่าทำมาหมดแล้วทุกช่องในยุคแอนะล็อก พอเข้ายุคทีวีดิจิทัล ก็ได้เข้าไปทำงานกับช่อง ONE31 ไปเป็นผู้อำนวยการฝ่ายงานบริหารข่าว สร้างทีมฝ่ายข่าวช่อง ONE31 ขึ้นมาในยุคแรก

ส่วนถ้าเป็นงานอื่น ๆ ก็เคยเป็นพิธีกรรายการ ‘เจาะใจ’ แล้วก็เคยทำวิทยุด้วย จนตอนนี้ก็มาเป็นทาเลนต์ในรายการ beartai BRIEF นี่แหละค่ะ อ้อ แล้วตอนนี้ก็ทำรายการ ‘คม ชัด ลึก’ ที่ช่อง Nation TV 22 ด้วยค่ะ เป็นรายการ News Talk เป็นพิธีกรด้วย แล้วก็เป็นผู้บริหารของรายการ เป็นหัวหน้าทีมงานของรายการด้วยค่ะ

ต๊ะ นารากร ติยายน

คุณอยู่ในวงการทีวีมากี่ปี ก่อนหน้านี้ทำอะไรมาบ้าง

ตัวต๊ะเองทำงานทีวีมาตั้งแต่ปี 2533 นะ มาถึงปีนี้ก็ 31 ปีแล้ว เริ่มทำงานตอนเรียนจบมหาวิทยาลัยพอดี พอได้ยินเลขปี บางคนก็อาจจะรู้สึกว่า ปีนั้นหนูเพิ่งจะเกิดเลยค่ะ (หัวเราะ) แล้วก็ทำงานแรกเลยก็คือเป็นเบื้องหลัง เป็นฝ่ายผลิตรายการ ‘มาตามนัด’ สมัยนั้นเป็นรายการที่ดังมาก จากนั้นก็เริ่มขยับขึ้นมาเป็นพิธีกรภาคสนาม แล้วก็ไปอยู่กับ CP ก็ยังทำเกี่ยวกับฝ่ายผลิตรายการโทรทัศน์อีก สรุปก็คือทำงานทีวีมาตลอด 31 ปีค่ะ

ในฐานะที่คุณทำงานด้านสื่อ คุณมีมุมมองเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสื่อในทุกยุคสมัยอย่างไรบ้าง

ด้วยความที่ตัวเราเองไม่ได้เป็นคนนอกที่มองเข้าไป เราก็อยู่ในแวดวงนี้ตลอด เวลาสื่อมีการเปลี่ยนแปลงอะไร เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งด้วย ด้วยความที่เราเริ่มต้นทำงานจากทีวี ที่ในสมัยนั้นมีอิทธิพลมากเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว คนที่ทำงานเกี่ยวกับทีวีถือว่าเป็นผู้มีอิทธิพลมาก แต่ว่า 5 ปีที่่ผ่านมา โซเชียลมีเดียได้รับความสนใจขึ้น ใคร ๆ ก็สามารถมีกล้องได้ แล้วก็สามารถผลิตสื่อได้ด้วยตัวเอง ใครที่มีความสามารถ หรือมีความมั่นใจก็สามารถทำสื่อได้ เพราะฉะนั้นมันเลยเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ใคร ๆ็สามารถมีช่องทางเป็นของตัวเองได้

แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นสื่อมวลชนได้ เพราะสื่อมวลชนคือคนที่นำเสนอข่าวสารที่มีประโยขน์์ มีผลกระทบ มีการเปลี่ยนแปลงของคนในสังคม ทุกคนอาจจะเป็นสื่อได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นสื่อมวลชนที่ดีได้ค่ะ

ต๊ะ นารากร ติยายน

ในฐานะที่คุณเป็นสื่อมวลชน คุณมองเห็นและคิดอย่างไรกับสื่อใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นบ้าง

ต๊ะขอแยกแบบนี้แล้วกัน สื่อที่เป็นสื่อเฉพาะบุคคล ที่สมัยนี้ที่เขาเรียกว่าเน็ตไอดอลในช่องทางต่าง ๆ ที่สร้างตัวเองขึ้นมาจนมีอิทธิพลสำหรับคนกลุ่มที่ติดตาม กับสื่อที่เป็นสำนัก หรือที่เรียกว่าเป็นสำนักข่าวที่ได้รับการยอมรับ ยกตัวอย่างถ้าเป็นสื่อออนไลน์ก็เช่น #beartai นี่แหละ หรือแม้แต่สื่อที่ทำทีวีมาก่อน หรือทำทีวีควบคู่กันไป

แต่ไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์หรือออฟไลน์ สิ่งที่สำนักข่าวยังคงยึดถือก็คือความเป็น ‘สื่อมวลชน’ นั่นก็คือ เวลาที่นำเสนอข่าวหรือคอนเทนต์ที่ต้องอิงกับกระแส อิงกับประโยชน์ของประชาชน และอิงกับเรื่องราวที่ดี แต่บางทีสื่อต่่าง ๆ ที่มีคนติดตามเป็นล้าน ๆ พอเข้าไปแล้วไม่ค่อยมีอะไรเลย ถ้าในมุมของคนเสพสื่ออย่างเรา ๆ ที่อายุ 50 กว่าแล้วก็จะมองว่าไม่มีอะไร แต่มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กและวัยรุ่นส่วนใหญ่ก็จะชื่นชอบสื่อแบบนั้น

สื่อในตอนนี้มันเลยมีความหลากหลายมาก แล้วคนดูก็จะถูกแบ่งแยกออกจากกันเลย ตามเพศ วัย อายุ ความสนใจ เรื่องที่ชอบ มันก็เลยจะขึ้นอยู่กับคนดูเป็นสำคัญ อย่างตัวต๊ะเอง ต๊ะก็จะดูสื่อที่นำเสนอข่าว เพราะว่าเราอยู่ในวงการสื่อ วงการข่าว ในขณะเดียวกันเราก็ชอบดูเรื่องที่เกี่ยวกับผู้หญิง เช่น แฟชัน ของแบรนด์เนม ก็เลยจะชอบดู Influencer ที่เกี่ยวกับด้านแฟชัน ชอบเรื่องบ้านก็ไปดูเรื่องบ้าน อะไรแบบนี้

ต๊ะ นารากร ติยายน

คุณคิดว่าตัวคุณเองปรับตัวทันไหม เพราะคงมีหลาย ๆ คนที่เจอความเปลี่ยนแปลงแบบเดียวกับคุณ แต่ดันตกขบวนเพราะปรับตัวไม่ทัน

ต๊ะคิดว่าตัวเองปรับตัวอยู่นะ คิดว่าปรับตัวทัน แต่ก็คงไม่ได้ถึงขนาดตามทันได้อยู่เรื่อย ๆ แบบคุณหนุ่ย (พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์) อย่างคุณหนุ่ยนี่ถือว่านำกระแสเลยนะ โดยเฉพาะการปรับตัวจากทีวี และมาเป็นผู้นำบนโลกออนไลน์ได้ ถือว่าเป็นคนที่ปรับตัวได้ทันท่วงที และปรับตัวได้เรื่อย ๆ

แต่อย่างพี่ต๊ะเอง เมื่อ 5 ปีที่แล้วที่เราเคยอยู่ในทีวีแอนะล็อก พอปรับมาเป็นดิจิทัล เราเองก็ยังรู้สึกงง ๆ อยู่ ถ้าสังเกตก็คือ 3 ปีที่ผ่านมา เราเองอยู่เงียบ ๆ ยังไม่ได้ไปทั้งทีวีหรือออนไลน์ เพราะว่าตอนนั้นเรายังงง ๆ อยู่ ก็ถือว่าเป็นช่วงปรับตัวว่าจะเอายังไงดี จนกระทั่งเราเริ่มเห็นว่า โซเชียลมีเดีย หรือสื่อใหม่ต่าง ๆ ที่ใคร ๆ ก็สามารถมีได้ เราก็เริ่มปรับตัวกับสื่อออนไลน์มากขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นเร็วแบบขนาดสร้างคอนเทนต์และมีคนติดตามเยอะ ยังทำไม่ได้ขนาดนั้นค่ะ

คุณเองรู้สึกว่าเทคโนโลยีในโลกตอนนี้เปลี่ยนเร็วแค่ไหน

ก่อนหน้าที่ต๊ะเองจะมาเป็นทาเลนต์ให้กับ beartai BRIEF ทุกเช้า ไม่ค่อยเห็นหรอกว่าเทคโนโลยีมันเปลี่ยนเร็วแค่ไหน อย่างมากเราก็เห็นแค่ตอนที่มือถือเปิดตัว หรือ iPhone, iPad, Macbook รุ่นใหม่ออกมา หรือพวกทีวี หรือรถยนต์แค่นั้นเอง แต่ว่าพอมาเป็นทาเลนต์อ่านข่าว beartai BRIEF ทุกเช้า เราได้เห็นแล้วล่ะ ว่าเทคโนโลยีมันเปลี่ยนเร็ว ซึ่งมันก็ถือว่าเป็นโอกาส

เพราะแม้ว่าเราจะอยู่ในเจนเนอเรชันเอ็กซ์ ซึ่งเจนเอ็กซ์บางคนก็ตามอะไรพวกนี้ไม่ทัน แต่พอเราได้มาทำรายการนี้ พูดแบบตรงไปตรงมาเลยนะ ไม่ได้ว่าจะอวย beartai BRIEF หรืออวยคุณหนุ่ย แต่ว่าการทำรายการนี้ทำให้เรารู้และตามทันจริง ๆ ถ้าเกิดไม่ได้มานั่งดูหรือนั่งฟังแบบนี้ เราก็จะกลายเป็นคนตกยุค

พี่สาวของพี่ต๊ะเองอายุประมาณ 60 แน่นอนว่าเขาคงไม่ได้อยู่กับเทคโนโลยีเลย บางทีเราไปเล่าเรื่องพวกนี้ให้เขาฟัง เขาก็จะบอกว่า อ๋อ เหรอ ไม่เคยรู้เลย แน่นอนว่าก็คงมีอีกหลายคนที่เป็นแบบนี้เหมือนกัน หน้าที่ของเราคือต้องเล่าหรือสื่อสารเรื่องพวกนี้ให้ ให้เข้าใจได้เป็นเนื้อเดียวกัน ในยุคที่เทคโนโลยีมันเปลี่ยนเร็วขนาดนัี้

ต๊ะ นารากร ติยายน

เทคโนโลยีอะไรที่คุณมองว่า เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก

ที่เห็นเร็ว เห็นชัดที่สุดก็โซเชียลมีเดียนี่แหละค่ะ ที่บอกว่าเปลี่ยนเร็วเพราะว่า เราสามารถที่จะแสดงความคิดเห็น และสื่อความคิดของตัวเองออกมาได้ทันทีผ่านคอมเมนต์ได้ทันที ในขณะที่เราอยู่ในวงการทีวีมาก่อน เราเป็นคนอ่านข่าวทีวี ถ้าเกิดมีอะไรที่คนดูไม่ชอบใจ เร็วที่สุดที่เราจะรู้ฟีดแบ็กได้ก็คือโทรศัพท์มาที่สถานี และมีโอเปอเรเตอร์คอยรับสายให้ สองก็คือจดหมายส่งถึงสถานี กว่าจะได้รับก็หลายวัน หรือบางทีคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์เขียนวิจารณ์เรา มันก็ต้องรออีกหลาย ๆ วันอยู่ดี

แต่ว่าตอนนี้ฟีดแบ็กที่มาถึงเรา มันรวดเร็วมาก ถ้าเขาไม่ชอบอะไร ฟิมพ์ลงไปในเฟสบุ๊ก ไม่ถึงนาทีก็มาถึงเราแล้ว อันนี้แหละที่มันเปลี่ยนเร็วมาก และทุกคนตอนนี้ก็เหมือนว่ากำลังอยู่ในโลกเดียวกัน เพียงแต่ว่าใครจะปรับตัวหรือยอมรับได้เร็วขนาดไหน ส่วนเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่นรถ EV เรารู้ว่ามันมาแล้วแหละ แต่มันยังมาไม่ถึงเรา แต่สิ่งที่มันเปลี่ยนเร็วมาก ก็คือโลกของเรานี่แหละ ที่เราตอบโต้กันได้ แสดงออกได้ทันที

ต๊ะ นารากร ติยายน

สำหรับคุณ อะไรคือหัวใจสำคัญที่สุดในการนำเสนอเนื้อหา หรือการแข่งขันของข่าวออนไลน์ในยุคนี้

ตอนที่มีข่าวออนไลน์แรก ๆ เราก็จะนึกว่าความเร็วสำคัญที่สุด ใช่ไหม ต้องมาเร็วที่สุด ด่วนที่สุด แต่ตอนนี้พอผ่านไปหลาย ๆ ปี เราก็รู้แล้วแหละว่าความเร็วอาจจะไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญที่สุด แต่ความถูกต้อง ความลึกของข่าวที่มา ความเฉพาะเจาะจง และการนำเสนอที่แตกต่างจากคนอื่นสำคัญกว่า

เพราะว่ายังไงก็ตาม ข่าวที่ลงออนไลน์ ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะได้เห็นพร้อมกันทั้งหมด ไม่เหมือนรายการทีวีที่มีผังรายการบอกเวลา พอถึงเวลานี้ ๆๆ ก็มาดูพร้อม ๆ กัน แต่กับข่าวออนไลน์ สมมติว่า #beartai โพสต์ข่าวอะไรปุ๊บ บางคนก็อาจจะได้ เห็นทีหลังก็๋มี เพราะฉะนั้น ถ้าสื่อไหนมีความถี่ ความลึก มีการนำเสนอที่น่าสนใจและโดดเด่นก็จะครองใจผู้ชมได้มากกว่าค่ะ

ต๊ะ นารากร ติยายน

อย่างที่เราทำ beartai BRIEF ทุกวันนี้ แน่นอนว่าในช่วงเวลา 7.00 น. – 8.00 น. ตอนนี้มีหลายรายการที่นำเสนอข่าวเหมือนกับเรา แม้ว่ารายการที่เราทำ คนดูอาจจะไม่ได้เยอะมากมหาศาล แต่พอเราได้อ่านคอมเมนต์ของคนดู เราได้อ่านทุกวัน ๆ เห็นคอมเมนต์ของคนที่เข้ามาดูประจำ เราดีใจนะ เพราะว่ามีคนเข้ามาดูเราเป็นประจำ และพอดูเป็นประจำแล้ว มีการโต้ตอบกับเรา เวลาเราพูดผิด เขาแก้ให้เรา เวลาเราถามอะไร เขาตอบจากมุมมองของเขาเอง ซึ่งตรงนี้แหละที่ทำให้เรารู้สึกดี

มันเหมือนกับว่า ตอนนี้ beartai BRIEF ได้สร้าง Community ขึ้นมาในทุก ๆ เช้า เป็นเหมือนคนในสังคมเดียวกัน ที่มีความคิดเห็นและความสนใจในเรื่องเดียวกัน และได้เข้ามาอยู่ใน Community นี้ แม้ว่าคนจะไม่ได้มากถึงเป็นหมื่นเป็นแสน แต่ว่าเป็นเหมือนเพื่อนที่คุยสนุก เหมือนอยู่ในวงกาแฟเดียวกันทุก ๆ เช้า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกสนุก ไม่รู้สึกขี้เกียจในการตื่นขึ้นมาทำรายการในทุก ๆ เช้า

คิดอย่างไรกับข่าว beartai BRIEF บ้าง ชอบตรงไหน หรือมีอะไรที่อยากปรับปรุงบ้าง

จุดที่ชอบ พี่ต๊ะพูดไปเยอะแล้วแหละ ใช่มั้ย อย่างเช่นเวลาอ่านข่าว มันทำให้เราได้รู้เรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น ตามทันกระแสมากขึ้น ซึ่งชอบมาก และเราได้กลุ่มแฟน ๆ รายการที่ชอบเรื่องเดียวกัน คุยกันได้ เตือนกันได้ ทำให้เรามีแรง มีพลังที่จะตื่นมาทุกเช้า แต่สิ่งที่พี่คิดว่าน่าจะต้องปรับ ก็คือการทำให้ข่าวเข้าถึงคนมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ ทีมงาน beartai BRIEF ก็คงพยายามทำอยู่ เพื่อให้มีคนเข้ามาดูเยอะ ๆ ทำให้ Community มันกว้างและใหญ่มากขึ้นค่ะ

เข้าใจว่าคุณเองไม่เคยอ่านข่าวเทคโนโลยีอะไรพวกนี้มาก่อนเลย พอต้องมาอ่านข่าวเทคโนโลยีเข้มข้นขนาดนี้เป็นครั้งแรก คุณหนักใจบ้างไหม

ไม่เคยอ่านเลยค่ะ เมื่อก่อนอ่านบ้าง แต่ถึงอ่านก็ไม่เข้าใจ (หัวเราะ) ตอนที่คุณหนุ่ยชวนมาทำ แรก ๆ ก็มีบ้างค่ะ เพราะเราเห็นข่าวใน #beartai แต่ละเรื่องนี่ เราไม่รู้เรื่องเลย แรก ๆ ก็เลยมีหวั่น ๆ บ้าง แต่พอเริ่มมาอ่านช่วงทดลองแรก ๆ (beartai LIVE NEWS) ก็มีนะ บางทีก็อ่านไปแบบงง ๆ ก็มี ก็จะเป็นอยู่ประมาณ 2-3 สัปดาห์แรก

แต่สิ่งที่เราต้องขอบคุณก็คือ ทาเลนต์ร่วมรายการของเรา ทั้งคุณหนุ่ย คุณนท (ทศพล พิชญโยธิน) คุณแม็ก (ธีระชาติ ก่อตระกูล) คุณโบ๊ท (พชร อารยะการกุล) และล่าสุดคือคุณขยล (ขยล ตันติชาติวัฒน์) แต่ละคนมาเติม มาเสริม มาอุดรอยรั่วของต๊ะเองได้ทุกส่วนเลย แล้วพอเราทำไปสักพัก เรามีทักษะในการจับประเด็น ในการอ่าน แต่ว่าถ้าเรื่องไหนที่เราไม่รู้ เราก็กล้าที่จะบอกว่าเราไม่รู้ และทาเลนต์เหล่านี้ก็จะบอกในสิ่งที่เราไม่รู้

ตอนนี้ที่ทำมาตั้ง 6 เดือนแล้ว อย่างน้อย ๆ เราก็มั่นใจได้ว่า จะไม่รู้ 100% ก็คงไม่ใช่ เรื่องไหนที่เรารู้อยู่แล้วก็เก็บไว้เป็นข้อมูล ถ้าเกิดมีเรื่องใหม่ ๆ เข้ามา ก็รู้เพิ่มเข้าไป เป็นการเพิ่มพูนความรู้รอบตัวของเราในทุกวัน ๆ

ต๊ะ นารากร ติยายน

เทคโนโลยีอะไรในข่าวที่คุณเองนำเสนอ ที่คุณคิดว่ามันน่าทึ่ง หรือว้าวสำหรับคุณบ้าง

ที่พี่รู้สึกว้าวก็คือ เทคโนโลยีในการรักษามะเร็ง โดยเฉพาะวัคซีนต่าง ๆ ที่ว้าวก็เพราะว่าเรารู้ว่า โรคมะเร็งมันคร่าชีวิตคน และก็ยังไม่มีทางรักษาให้หาย สองก็คือ เรื่องของหุ่นยนต์ โดยเฉพาะหุ่นยนต์ที่เลียนแบบสุนัขที่วิ่งตามคนได้ เพราะว่าเราเองก็เป็นคนรักหมาด้วยไง ก็เลยรู้สึกว้าว รวมถึงหุ่นยนต์แบบอื่น ๆ ที่คอยช่วยเหลือคนในเรื่องต่่าง ๆ ได้ สามก็คือ สตาร์ตอัปที่พยายามสร้างพลังงานจากสิ่งของเหลือใช้ เพื่อที่จะลดมลพิษในโลก เป็นสิ่งที่ว้าวค่ะ

ตอนนี้คนสมัยนี้มุ่งในการสร้างสิ่งต่าง ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะมุ่งไปข้างหน้า แต่ไม่ลืมที่จะหันหลังกลับมามองเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม มลพิษ ไม่ทำร้ายโลก คือการนึกถึงคนอื่น ๆ น่ะ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ชอบมากเลยค่ะ

ต๊ะ นารากร ติยายน

คำถามสุดท้าย คุณคิดว่า ข่าวดี ๆ ทันสมัย จะช่วยให้ชีวิตของเราดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง

มันก็อยู่ที่ว่า คนที่ฟังเรา เขาสนใจในสิ่งที่เราสื่อไหม หรือว่าถึงเขาจะไม่เคยสนใจมาก่อน ถ้าเขาพยายามจะฟัง แล้วเขาจะสนใจไหม เรายอมรับค่ะว่าคนก็มีหลายประเภท คนที่ไม่สนใจเทคโนโลยีก็มี บางทีเปิดมาดู พูดเรื่องเทคโนโลยีอะไรก็ไม่รู้ ก็ปิดไป

แต่คนที่ฟังเราเนี่ย เรารู้สึกว่า หนึ่ง เขาเป็นคนที่สนใจเรื่องของเทคโนโลยี หรือเรื่องการลดมลพิษอยู่แล้ว พอเขาฟังเขาก็สนใจ ต๊ะเองก็พยายามจะแทรกเรื่องต่าง ๆ เช่นการทิ้งขยะ การไม่ทำร้ายสัตว์ เป็น ต้นลงไปด้วย ซึ่งคนที่ดูเขาก็จะคอมเมนต์ตอบกลับมาว่า เขาเห็นด้วย เขาส่งเสริมสนับสนุนเรา นี่แหละคือสิ่งที่เขาจะได้ประโยชน์จากการชมเนื้อหาที่เรานำเสนออยู่ในทุกเช้าค่ะ

แนะนำ :
คุยอุ่นเครื่องเรื่องเทคโนโลยี ต้อนรับ ‘ขยล ตันติชาติวัฒน์’ ทาเลนต์ใหม่ข่าวเช้า beartai BRIEF
เตรียมตัวต้อนรับสู่อนาคต กับ ‘ทศพล พิชญโยธิน’ ทาเลนต์ข่าวเช้า beartai BRIEF

พบกับรายการข่าว beartai BRIEF ทันเทรนด์อนาคต กับข่าวสดยามเช้า
ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ 7 โมงเช้า ที่เพจ
beartai BRIEF

ติดตาม beartai BRIEF ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/beartaiBRIEF
Twitter : https://twitter.com/beartaiBRIEF
Blockdit : https://www.blockdit.com/beartaibrief

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส