ลุ่มแม่น้ำโขงจะเป็นพื้นที่มหาอำนาจอยากเข้ามามีบทบาทเพื่อสร้างอิทธิพลในแผ่นดินใหญ่เอเชียอาคเนย์ ปัจจุบันนี้ ลุ่มแม่น้ำโขงเป็นพื้นที่ซึ่งมีทรัพยากรและชีวภาพหลากหลาย กำลังเนื้อหอมดึงดูดมหาอำนาจให้เข้ามาปักหมุด
นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ไทยพยายามจะฟื้นฟูยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategies: ACMECS หรือ แอ็กเม็กส์) เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงกับมหาอำนาจ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป เป็นต้น
แอ็กเม็กส์เป็นข้อริเริ่มของไทย จัดตั้งขึ้นในปี 2546 มี 5 ประเทศที่ตั้งอยู่ในแม่น้ำโขงตอนล่าง ได้แก่ กัมพูชา ลาว เวียดนาม เมียนมา และไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเวทีส่งเสริมการพัฒนาในลุ่มแม่น้ำโขงในแง่มุมต่าง ๆ รวมทั้งความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ การสอดประสานด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืนและมีนวัตกรรม
ช่วงที่ผ่านมาแอ็กเม็กส์ไม่ค่อยกระตือรือล้นหรือมีผลงาน เพราะประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงต่างมีปัญหาภายในประเทศที่ต้องดูแล 2 ปีที่แล้วไทยเป็นประธานอีกครั้งได้รื้อฟื้นกรอบภูมิภาคนี้ให้มีพลังและพลวัตรทางยุทธศาสตร์ความมั่นคงรวมกับทางด้านเศรษฐกิจ
ไทยเห็นว่าสหรัฐอเมริกา และจีนได้หันมาแข่งขันกันในลุ่มแม่น้ำโขงมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นและออสเตรเลียตอบโต้สิ่งที่เป็นรูปธรรมที่จีนได้ประสบความสำเร็จทางด้านการลงทุนและขยายเครือข่ายความเชื่อมโยงซึ่งมีมากกว่า 500 โครงการ
อีกไม่ช้าไทยอาจจะได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกในการจัดตั้งสำนักเลขาธิการแอ็กเม็กส์ที่กรุงเทพฯ ตอนนี้กำลังล็อบบีกันอยู่ เพื่อแสดงความจริงใจและมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างแอ็กเม็กส์ รัฐบาลไทยได้สนับสนุนเงินทุนถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 6,000 ล้านบาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นวงเงินที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของความร่วมมือระหว่างประเทศที่ไทยให้ความช่วยเหลือในด้านกองทุน
วิเคราะห์เจาะลึกจะพบว่า ไทยต้องการดึงมหาอำนาจต่าง ๆ เข้ามาร่วมมือแทนการประจันหน้ากันในกรอบแอ็กเม็กส์ โดยได้ชักชวนให้ประเทศที่มีแสนยานุภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจเข้ามาเป็นหุ้นส่วน ตอนนี้กลุ่มที่หนึ่งมีญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา เกาหลี จีน และอินเดีย ส่วนกลุ่มที่สองมีนิวซีแลนด์และอิสราเอล ประเทศทั้งหมดนี้ได้สัญญาจะช่วยเหลือในกรอบของแอ็กเม็กส์และเครือข่ายแอ็กเม็กส์อย่างเต็มที่
ประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญขณะนี้คือการบริหารและจัดการเรื่องน้ำในแม่น้ำโขงซึ่งยาวถึง 4,350 กิโลเมตร เนื่องจากมีความผันผวนมาก ตั้งแต่ต้นน้ำจากเทือกเขาในทิเบตถึงปลายน้ำไหลออกตรงสู่ทะเลจีนใต้ ที่เวียดนามใต้ ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงต้องการกักน้ำมาใช้ในประเทศ จีน ลาว และกัมพูชาได้สร้างเขื่อนมากมายเพื่อกักน้ำและผลิตกำลังไฟฟ้า
ไทยมีชายแดนติดกับลาวยาวกว่า 900 กิโลเมตรที่เป็นแม่น้ำโขง ต้องอาศัยน้ำจากลำนำโขงในการประมงและเพื่อการเกษตรในภาคเหนือตอนบนและภาคอีสาน
ในอนาคต สิ่งที่ท้าทายสำหรับแอ็กเม็กส์คือความจำเป็นที่ต้องหามาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาคุณภาพและปริมาณการใช้น้ำในแม่น้ำโขง
มากไปกว่านั้นไทยต้องส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ที่มีลักษณะพิเศษของภูมิภาคแม่โขงที่เป็นแหล่งชีวิตของประชาชนมีพื้นเพอยู่บนลุ่มน้ำ มีประชาชนกว่า 60 ล้านคนที่อาศัยอยู่ลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 5 ประเทศ และเพื่อป้องกันไม่ให้มหาอำนาจเข้ามาชิงความเป็นเจ้าในพื้นที่นี้
สุดท้ายคือ ไทยต้องการปกป้องความเป็นแกนกลางของลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส