ในขณะที่หลายประเทศกำลังถูกคุกคามจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์เดลตา (Delta) แต่องค์การอนามัยโลกกำลังจับตามองไวรัสสายพันธุ์ใหม่ชื่อ “แลมบ์ดา” (Lambda) ซึ่งเริ่มระบาดในหลายประเทศและมีพิษสงในการกลายพันธุ์อยู่ไม่น้อย
โคโรนาไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ดา หรือ C.37 ถูกค้นพบการระบาดในทวีปอเมริกาใต้ โดยเฉพาะในประเทศเปรู ซึ่งพบครั้งแรกที่นั่นในเดือนสิงหาคม 2020 และเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2021 องค์การอนามัยโลกหรือ WHO เพิ่งจัดให้ไวรัสสายพันธุ์นี้อยู่ในประเภท ‘สายพันธุ์ไวรัสเฝ้าระวัง’ หลังจากที่พบการระบาดจากไวรัสสายพันธุ์นี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในปีนี้ “ไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ดาแพร่กระจายและติดต่อกันอยู่ในกลุ่มชุมชนในหลายประเทศ แต่ถ้าเริ่มเกิดชุกชุมขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะนำไปสู่การเพิ่มเคสของโควิด-19 ได้” องค์การอนามัยโลกกล่าว
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2021 พบการระบาดของสายพันธุ์แลมบ์ดาใน 29 ประเทศ อาทิ ชิลี อาร์เจนตินา เปรู เอกวาดอร์ บราซิล โคลัมเบีย รวมถึงสหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนี สเปน อิสราเอล ฝรั่งเศส และอังกฤษ เป็นต้น แต่พบมากที่สุดคือกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกาใต้ โดยที่ประเทศเปรู นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2021 พบกว่า 81% ของเคสโควิด-19 มีความเกี่ยวข้องกับสายพันธุ์แลมบ์ดา ขณะที่ในประเทศชิลี พบการติดเชื้อจากสายพันธุ์แลมบ์ดามากขึ้นเรื่อย ๆ โดยจากรายงานใน 60 วัน พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ถึง 32%
แลมบ์ดาน่ากลัวแค่ไหน? จากการวิจัยขององค์การอนามัยโลก พบว่าไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ดามีโปรตีนหนามที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ที่ซับซ้อนและไม่ธรรมดา ด้วยความสามารถในการเปลี่ยนศักยภาพของตัวเองเพื่อต่อสู้หรือต่อต้านวัคซีนได้ จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยชิลีที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาพบว่าสายพันธุ์แลมบ์ดาสามารถติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อัลฟา (Alpha) ที่พบในอังกฤษครั้งแรก แต่นักวิทยาศาสตร์หลายคนก็ออกมาบอกว่าแลมบ์ดาไม่น่ากลัวเท่าสายพันธุ์เดลตาที่กำลังระบาดหนักในขณะนี้
ขณะเดียวกัน ดร.แอลเจลา ราสมุสเซน (Dr. Angela Rasmussen) นักไวรัสวิทยาของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ก็ออกมายืนยันผ่านทวิตเตอร์ของเธอว่าวัคซีนโควิด-19 (ไม่ได้ระบุว่าวัคซีนยี่ห้อใด) ยังใช้ได้ผลกับสายพันธุ์แลมบ์ดา ทางด้านศาสตราจารย์ฟาฮีม โยนัส (Dr.Faheem Younus) หัวหน้าแผนกโรคติดต่อของโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ก็ทวีตว่า แลมบ์ดายังไม่ใช่ไวรัสสายพันธุ์ที่เราควรตื่นตระหนกในตอนนี้ แต่ก็ควรจับตาเฝ้าระวังไว้
‣ อ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส