เจมส์ ทีก (James Teak) ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกผ่านเว็บไซต์ www.astrazeneca.com เพื่อส่งสาส์นถึงพี่น้องชาวไทยว่าสิ่งที่แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ให้ความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดในขณะนี้ คือ การเร่งผลิตและส่งมอบวัคซีนที่มีคุณภาพเพื่อปกป้องคุณและคนที่คุณรักให้ได้โดยเร็วที่สุด
โดยทางแอสตร้าเซนเนก้าก็มีความกังวลและเป็นห่วงกับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมา เราได้มีการหารือกับกรมควบคุมโรคมาโดยตลอดเกี่ยวกับผลกระทบจากการกลายพันธุ์ของไวรัส และแนวทางที่แอสตร้าเซนเนก้าจะสามารถช่วยสนับสนุนโครงการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้
ทางบริษัทชี้แจงว่าวัคซีนของพวกเขาเป็น ‘ชีววัตถุ’ ที่เริ่มต้นด้วยการเพาะเลี้ยงเซลล์ที่เป็นส่วนประกอบในกระบวนการผลิต จึงมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน จำนวนเซลล์ ‘ที่สามารถนำไปใช้’ เพื่อการผลิตวัคซีนในแต่ละรอบการผลิตจึงมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตระยะแรกจากศูนย์การผลิตวัคซีนแห่งใหม่ ถึงแม้จะมีข้อจำกัดมากมาย แต่เราคาดการณ์ว่าจะสามารถจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศไทยได้โดยเฉลี่ย 5-6 ล้านโดสต่อเดือน
จนถึงขณะนี้ แอสตร้าเซนเนก้าได้ส่งมอบวัคซีนให้กับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว 9 ล้านโดส และมีกำหนดส่งมอบอีก 2.3 ล้านโดสในสัปดาห์หน้า รวมเป็นยอดส่งมอบ 11.3 ล้านโดส ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากแผนการจัดหาวัคซีนจำนวน 61 ล้านโดสให้กับประเทศไทย
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า เราพยายามอย่างสุดความสามารถและเสาะหาทุกวิถีทางที่จะเร่งการผลิตและส่งมอบวัคซีนให้ได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยความร่วมมือจากพันธมิตรผู้ผลิตอย่างสยามไบโอไซเอนซ์ เราได้พยายามเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม และเรามั่นใจว่า จะสามารถส่งมอบวัคซีนได้มากขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
พร้อมกับให้ความมั่นใจว่าวัคซีนของพวกเขามีประสิทธิภาพที่ดี โดยอิงข้อมูลจากการใช้วัคซีนล่าสุดจากประเทศแคนาดาที่แสดงให้เห็นว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม มีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อรุนแรงในระดับที่ต้องเข้านอนรับการรักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าได้มากถึง 87% ดังนั้น วัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งกับประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
ซึ่งในจดหมายเปิดผนึกมีการระบุปิดท้ายว่า “พวกเราทุกคนล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การยุติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้ ซึ่งจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในทุกที่ เชื้อไวรัสแพร่ระบาดไปอย่างไร้พรมแดน ดังนั้น หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศเพื่อนบ้านยังคงทวีความรุนแรงก็ถือเป็นภัยคุกคามต่อประเทศไทยด้วยเช่นกัน หนทางเดียวที่จะยุติการแพร่ระบาดนี้ได้คือ ความร่วมมือร่วมใจกันของพวกเราทุกคน”
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส