ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 44 ที่มีสาธารณรัฐจีนเป็นเจ้าภาพ ได้มีการพิจารณาข้อเสนอของไทยที่เสนอให้กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ต่อจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง ในปี พ.ศ. 2534 และกลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ ในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งมติออกมาแล้วว่า “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
การลงมติในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเป็นไปด้วยการจัดประชุมผ่านระบบออนไลน์ทางไกล ซึ่งมีมติเห็นชอบแล้วว่าให้แก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแถลงหลังการประชุมว่า นี่ถือเป็นของขวัญให้กับคนไทยทุกคนและขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“วันนี้ ผืนป่าแก่งกระจานที่มีพื้นที่กว่า 2.5 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 4 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ตั้งแต่จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกสำเร็จแล้ว จากการทำงานอย่างเต็มกำลังกว่า 16 ปี ประกอบกับความพยายามถึง 4 ครั้ง ในการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก และสำเร็จลงในครั้งที่ 4 นี้”
“การที่ผืนป่าแก่งกระจาน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ทำให้ผืนป่าแห่งนี้เป็นผืนป่าของประชาชนทั่วโลก ที่พวกเราจะต้องช่วยกันอนุรักษ์ รักษาไว้ และต้องทำให้สภาพผืนป่าดีที่สุด ที่ส่งต่อให้ลูกหลาน ป่าแก่งกระจาน เป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ มีความอุดมสมบูรณ์ทางความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำหลายสายของประเทศไทย”
พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน นับเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 6 ของประเทศไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของไทย ซึ่งพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เนื่องจากเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่ใกล้สูญพันธุ์ และมีคุณค่าโดดเด่นระดับโลก รวมไปถึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี เป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ (4,089 ตารางกิโลเมตร) มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่ มากกว่า 200 กิโลเมตร โดยพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ภายใต้เกณฑ์ข้อที่ 10 ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส