พื้นที่เจ็ดแสนกว่าตารางกิโลเมตรตรงกลางผืนแผ่นดินใหญ่ในเอเชียอาคเนย์ที่มีแม่น้ำโขงไหลผ่านหลายประเทศ คือ เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชาและเวียตนาม กำลังจะกลายเป็นสนามรบแห่งใหม่สำหรับมหาอำนาจทั้งหลายที่จะมาใช้ประลองฝีมือกัน
ปัจจุบัน ลุ่มแม่น้ำโขงมีความสำคัญทั้งทางด้านยุทธศาตร์ในเรื่องความมั่นคงและการค้า เนื่องจากการเมืองระหว่างประเทศหลังโรคโควิดจะแตกต่างไปจากเดิม มีการแก่งแย่งชิงพื้นที่เพื่อเพิ่มอิทธิพลในบริเวณนี้
ในอดีต ลุ่มแม่น้ำโขงมีภาพลักษณ์เป็นพื้นที่ด้อยพัฒนา น้ำโขงไหลเชี่ยวในฤดูฝน แต่ในฤดูแล้งน้ำจะเหือดหาย ชาวบ้านอาศัยอยู่ตามชายแดนไทย-ลาว สามารถเดินข้ามไปมาอย่างสบาย ไม่มีแรงกดดันจากภายนอก
คงจำกันได้ในปี 1963 เพลงฮิต “เอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง” ร้องโดย รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส ได้รับความนิยมมาก จนคนไทยพูดติดปาก ถ้ามีความทุกข์หรือโศกเศร้าใด ๆ ให้เอาไปทิ้งที่แม่น้ำโขง “ให้มันไหลลงไหลลงทะเลลับไป” รู้แล้วรู้รอด
แต่ตอนนี้ลุ่มแม่น้ำโขงกำลังเนื้อหอม เป็นพื้นที่บริสุทธิ์ที่เปิดโอกาสให้มหาอำนาจเข้ามาสร้างและสะสมอิทธิพลในพื้นที่ได้ จึงไม่แปลกใจ ในปัจจุบันมีโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาแม่น้ำโขงมากถึง 13 โครงการ เกี่ยวโยงกับประเทศคู่เจรจาเกือบทุกประเทศ สับสนพอสมควร
ในขณะนี้ ทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนกำลังจะเผชิญหน้าในลุ่มแม่น้ำโขง เนื่องจากกรุงวอชิงตันได้ตัดสินใจท้าทายอิทธิพลจีนแถวนี้ ช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จีนได้ส่งเสริมความร่วมมือกับห้าประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงอย่างกระตือรือร้น จนมีโครงการมากมายภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ลานช้างที่จีนเป็นผู้ริเริ่มถึง 500 กว่าโครงการ ทางฝ่ายจีนได้ให้เงินช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ มากกว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
เนื่องจากไทยเป็นประเทศหนึ่งบนลำน้ำโขง ไทยต้องแสดงวิสัยทัศน์และความเป็นผู้นำเพื่อสร้างอัตลักษณ์ร่วมในบริบทของแม่น้ำโขง เพื่อป้องกันไม่ให้มหาอำนาจต่างชาติเข้ามาป่วน ฉะนั้นความร่วมมือและความสามัคคีจะต้องมีการปลูกฝังตั้งแต่เนิ่น ๆ ทั้งในภาครัฐและประชาชน โดยผ่านยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง
นอกจากนั้นยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่ต้องผลักดันในลุ่มแม่น้ำโขงเช่นการบริหารจัดการน้ำ ความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข รวมทั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 การสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ การพัฒนาภูมิภาคยังยั่งยืนและเป็นวัตถุกรรม เพื่อการนี้ จึงมีแนวคิดจัดตั้งกองทุนจำนวน 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะนี้ไทยได้ให้คำมั่นจะเข้าร่วมกองทุนนี้ 200 ล้านเหรียญ
ไม่น่าแปลกใจ ในวันที่ 2 สิงหาคม สถาบันแม่โขง (Mekong Institute) ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะได้รับรางวัลอาเซียนในฐานะที่เป็นองค์กรสนับสนุนความร่วมมือสมาชิกอาเซียนและกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส