กลางปีค.ศ. 1981 ทหารไทย-สหรัฐอเมริกาเริ่มฝึก คอบร้า โกลด์ ร่วมกันครั้งแรกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสู้รบปรบมือกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคอมมิวนิสต์ หลังสงครามเย็นภัยแดงได้ลดหายไป ต้องปรับกลยุทธ์การฝึกให้เข้ากับสถานการณ์ ขณะนี้คอบร้า โกลด์เป็นการฝึกร่วมทหารนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในอินโด-แปซิฟิก มี 29 ประเทศเข้าร่วมฝึกและสังเกตการณ์
ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา การฝึกร่วมเพื่อช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมและภัยพิบัติจึงเป็นวาระหลักของคอบร้า โกลด์ เนื่องจากมีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง รวมทั้งเหตุการณ์สึนามิที่ภาคใต้ ที่อินโดนีเซีย และเหตุการณ์แผ่นดินไหว เช่นในเนปาล และภาคใต้ของฟิลิปปินส์
ในการฝึกแต่ละครั้งมีองค์ประกอบคือ การเคลื่อนพลขึ้นบก ฝึกยิงกระสุนจริง ซ้อมรบในสมรภูมิจำลอง รวมทั้งการฝึกร่วมการสั่งและการควบคุมแบบรวมศูนย์
ปีนี้ครบรอบ 40 ปี ตอนแรก ทหารทั้งสองฝ่ายเตรียมการเฉลิมฉลองพร้อมจัดเต็มเพื่อโชว์ความสำเร็จของการฝึกร่วมกันที่เป็นมาด้วยดี บังเอิญเจอโรคระบาดโควิด-19 ต้องระงับไป ในการฝึกร่วมครั้งนี้ระหว่างวันที่ 3 ถึง 13 สิงหาคม ต้องลดจำนวนทหารเข้าฝึกร่วมทั้งไทยและสหรัฐเหลือเพียงไม่ถึงส 2,000 คน ทหารอเมริกันมีแค่ 600 คนเท่านั้น กิจกรรมบางส่วนต้องยกเลิกไป เช่น การเคลื่อนพลขึ้นบก เป็นต้น
คำถามที่ได้ยินบ่อยคือ ไทยได้อะไร? สหรัฐอเมริกาได้อะไร? แล้วจะทำอย่างไรต่อไป?
ตอบตรง ๆ คือไทยได้เงินเข้าประเทศหลายพันล้านบาท ยังได้ฝึกร่วมกับทหารสหรัฐอเมริกาที่มีประสบการณ์ในการรบจากพื้นที่อื่น ได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ทดลองอาวุธทันสมัยที่ทางกองทัพอเมริกันนำเข้ามาฝึกร่วม สร้างเครือข่ายความมั่นคงในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ช่วงหลังการฝึกร่วมเน้นการช่วยเหลือทางด้านภัยพิบัติและมนุษยธรรม
สหรัฐอเมริกาได้ผลประโยชน์มหาศาล เพราะสหรัฐฯมีนโยบายยุทธศาสตร์ความมั่นคงที่ครอบคลุมทั่วโลก ฉะนั้นการฝึกร่วมคอบร้า โกลด์มีความสำคัญมาก ๆ ต่อการเตรียมพร้อมของการเข้าร่วมยุทธการสงครามที่จะเกิดขึ้นฉับพลันไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม ทหารจากประเทศพันธมิตรและที่เป็นมิตรจะเรียนรู้พร้อมกันจะให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนในการสั่งการในสนามรบ
นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นถึงสมรรถภาพแสนยานุภาพของความพร้อมของทหารอเมริกันและพันธมิตร ในการที่จะร่วมรบด้วยกันถ้ามีความจำเป็น นี่คือสาเหตุหนึ่งที่รัฐบาลอเมริกันไม่เคยสั่งยกเลิกการฝึกร่วมคอบร้า โกลด์แม้แต่ครั้งเดียว ทั้ง ๆ ที่ต้องคว่ำบาตรทุกครั้งรัฐบาลทหารหลังจากการยึดอำนาจในไทย และตัดความร่วมมือการติดต่อการทูตชั่วคราว
ความสำคัญของคอบร้า โกลด์อาจจะลดลงเรื่อย ๆ เพราะสหรัฐอเมริกามีทางเลือกทางมากขึ้น โดยเฉพาะกับประเทศที่พร้อมเข้าเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ในอาเซียนมี 3 ประเทศคือ สิงคโปร์ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ รู้ ๆ กันว่ามีนโยบายต้านอิทธิพลจีนในภูมิภาคที่เข้าทางนโยบายของกรุงวอชิงตัน
อีกประเด็นสำคัญคือความใกล้ชิดที่ไทยมีต่อจีน จะเป็นแรงถ่วงสายสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐฯ ตราบใดก็ตราบนั้น ความขัดแย้งและการชิงความเป็นเจ้าในภูมิภาคของสองมหาอำนาจคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง และจะส่งผลโดยตรงต่อมิตรภาพไทย-สหรัฐอเมริกาที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชีย
กองทัพไทยต้องคิดหนักว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับการฝึกร่วมในอนาคตที่อาจจะมีจีนเป็นเป้าหมาย เนื่องจากแนวโน้มที่ไทยจะเพิ่มความสนิทสนมกับจีนมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกมิติ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส