เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสหรัฐฯ เปิดเผยเคสการติดเชื้อที่หาได้ยาก โดยพบว่า เด็กคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ที่ทางเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนียได้ติดเชื้อในสมองจากอะมีบาที่อยู่ในทะเลสาบน้ำจืด
เด็กคนดังกล่าวมีอายุเพียง 10 ปี และถูกวินิจฉัยพบโรคอะมีบากินสมอง (Primary amebic meningoencephalitis: PAM) ที่มีความอันตรายอย่างมาก ซึ่งมาจากอะมีบาชนิดนีเกลอเรีย (Naegleria fowleri) ที่พบได้ในแหล่งน้ำจืดที่อบอุ่น เช่น ทะเลสาบ แม่น้ำ หรือน้ำพุร้อน
มีการคาดเดาว่า สาเหตุการติดเชื้อมาจากการที่เด็กคนนี้ว่ายน้ำในทะเลสาบในเทฮามา ซึ่งน้ำในทะเลสาบปนเปื้อน และอาจจะสำลักน้ำเข้าจมูกอย่างรุนแรง ทำให้อะมีบาชนิดดังกล่าวที่ปนอยู่ในน้ำผ่านทางจมูกเข้าสู่สมอง จนติดเชื้อในที่สุด
แม้จะถือเป็นเคสที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่สถิติจากการติดเชื้อทั่วโลกระบุว่า PAM มีความรุนแรงอย่างมาก มีอัตราการรอดชีวิตเพียงแค่ 3% เท่านั้น โดยไม่มีการอธิบายว่า ปัจจัยใดที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถรอดชีวิตได้ อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยสามารถตรวจพบเชื้อได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะมีโอกาสรอดชีวิตได้มากขึ้นจากการให้ยาและรักษาเพื่อลดอาการอักเสบของสมอง
จากกรณีที่เกิดขึ้น ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า เราควรหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในแหล่งน้ำจืด หรือหากเราต้องการว่ายน้ำในแหล่งน้ำจืดก็ควรลดการเอาหัวลงไปใต้น้ำ หรือไม่ก็ควรใส่คลิปบีบจมูก (Nose Clip) เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าจมูก
อ้างอิง: LiveScience
พิสูจน์อักษร : สุขยา เกษจำรัส