หน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาทุกหน่วยพลาดอย่างแรง ฟันธงก่อนหน้านี้ว่าทหารรัฐบาลอัฟกานิสถานสามารถจะต้านทานกองกำลังตาลีบันได้พักหนึ่ง เพื่อให้โอกาสกระบวนการสันติภาพที่ดำเนินอยู่ในกรุงโดฮา สัมฤทธิ์ผลเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การหยุดยิงและการจัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์
ปรากฏว่าหลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน สั่งถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานได้ไม่ถึง 5 สัปดาห์ กลุ่มตาลีบันสามารถยึดครองทั้งประเทศได้รวดเร็วกว่าที่ทุกคนคาดคิด ปรากฏว่าเย็นวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (15 สิงหาคม 2021) กลุ่มตาลีบันได้เคลื่อนกองกองกำลังเข้ายึดกรุงคาบูลอย่างง่ายดาย ไม่มีการปะทะหรือการต่อต้านจากกองกำลังฝ่ายรัฐบาล สรุปได้เลยว่า ทหารและตำรวจประจำการหน่วยต่าง ๆ ยอมจำนน คือละทิ้งหน้าที่ ไม่มีใครยอมเจ็บตัว เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง แม้กระทั่งอดีตประธานาธิบดี อัชราฟ ฆานี (Ashraf Ghani) ยังได้หนีออกไปทาจิกิสถานก่อนใครเพื่อน
หลังกลุ่มตาลีบันเข้ายึดครองคาบูลได้แล้ว มีประเด็นถกเถียงกันมากคือ ทำไมกองทัพสหรัฐอเมริการวมทั้งองค์การนาโต (NATO) จึงตัดสินใจถอนทหารออกมาในช่วงนี้ ทั้ง ๆ ที่อดีตผู้นำรัฐบาลอัฟกานิสถานยอมรับซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “ทหารของตนยังไม่พร้อม” เนื่องจากการถอนทหารต่างชาติครั้งนี้ทำไปอย่างรวดเร็วเกินไป ไม่ได้เตรียมตัว ก่อนหน้านี้ฆานียังตอกย้ำทางโทรทัศน์ว่า “เราเตรียมพร้อมเพื่อเจรจาสันติ แต่เราไม่ได้เตรียมการรบสู้” จึงไม่แปลกที่ 2 เดือนที่ผ่านมา มีทหารอัฟกานิสถานหนีทัพหรือแอบหลบหนีข้ามไปประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนที่เหลือก็แอบให้ความร่วมมืออย่างลับ ๆ
มีเหตุผลสำคัญทำให้ทหารอเมริกันต้องถอนตัวออกมา ประเด็นปมใหญ่คือ แรงกดดันภายในการเมืองอเมริกันนั่นเอง คนส่วนใหญ่ในประเทศเห็นว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯได้เสียเงินเสียทองมากกว่า 2.26 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังมีทหารอเมริกันเสียชีวิตไปแล้ว 2,372 คน ก็ยังไม่สามารถเอาชนะกลุ่มตาลีบันได้ ตอนนี้ถึงเวลาต้องถอนตัวปล่อยให้คนอัฟกานิสถานแก้ไขปัญหากันเอง
ลึก ๆ ฐานการเมืองไบเดนยังอ่อนแอถึงแม้จะชนะการเลือกตั้ง ไบเดนต้องการเรียกคะแนนเสียงสนับสนุนของกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่เป็นพรรคพวกของอดีตประธานาธีบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จึงดำเนินนโยบายถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานของทรัมป์โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนสหรัฐอเมริกาหวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าการเจรจาสันติภาพที่กรุงโดฮาจะสามารถตกลงเรื่องการหยุดยิงได้
ต้องยอมรับด้วยว่ากลุ่มตาลีบันไม่ได้ทำตามสัญญา คือการยุติการสู้รบในขณะที่มีการเจรจากันอยู่ ประเทศคู่เจรจาอื่น ๆ มีทั้งจีน รัสเซีย และสหภาพยุโรปได้ส่งตัวแทนเข้ารวมประชุมด้วย เพื่อกดดันฝ่ายตาลีบันให้ทำตามสัญญา
ยังมีสองสามประเด็นสำคัญที่ประชาคมนานาชาติมีความกังวลอย่างยิ่งคือ กลุ่มตาลีบันยังจะโหดเหี้ยมเหมือนเดิมหรือเปล่า มีประวัติที่เลวร้ายมากในช่วงที่เป็นรัฐบาลในปี 1991 – 2001 คือไม่ยอมให้เด็กผู้หญิงเรียนหนังสือหรือให้มีความทัดเทียมเท่ากับผู้ชาย อีกประเด็นคือ ฝ่ายรัฐบาลรวมทั้งประเทศคู่เจรจายังต้องการเห็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคงใช้อยู่ต่อไป มันเป็นทั้งเสาหลักและสัญลักษณ์ของการพัฒนาความเจริญของสังคมอัฟกานิสถานช่วงที่สหรัฐฯและยุโรปได้ช่วยกันสร้างสมมาเกือบ 20 ปี โลกตะวันตกไม่อยากเห็นมันถูกทำลาย กลุ่มตาลีบันยังไม่ได้มีท่าทีที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ลึก ๆ กลุ่มนี้ต้องการใช้กฎหมายอิสลามแบบดั้งเดิมเข้ามาปกครองประเทศ
นอกจากนั้น คนหนุ่มสาวชาวอัฟกันทั้งหลายซึ่งได้รับการศึกษาและพัฒนาความคิดแบบเสรีนิยมจะปฎิบัติตัวอย่างไร? อนาคตพวกเขาจะเป็นอย่างไร? เมื่อผู้ปกครองประเทศต้องการใช้กฎหมายอิสลามแบบดั้งเดิมอย่างเคร่งครัด
ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอยู่เสมอ เนื่องจากผลประโยชน์ของกลุ่มเกี่ยวข้องยังไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่ประชาชนตาดำ ๆ ไม่มีทางออก ต้องรอฟังผลการเจรจาสันติภาพ แต่ในฉับพลันต้องมารับเคราะห์ผลการสู้รบที่มีต่อการดำเนินชีวิตอยู่ของชาวอัฟกันทั้ง 39 ล้านคน
อ่านเพิ่มเติม: จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อกลุ่มตาลีบันกำลังกลับสู่อำนาจในอัฟกานิสถาน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส