รัฐบาลไทยเพิ่งผ่านการโหวตไม่วางใจเป็นครั้งที่สาม เพิ่มโอกาสมากขึ้นที่นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่ต่อจนครบเทอม ทวนกระแสต้านทานการเมืองเรียกร้องให้ลาออกหรือยุบสภาเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง
ในช่วง 15 เดือนข้างหน้าถือเป็นช่วงเวลาสำคัญยิ่งยวดสำหรับอนาคตประเทศไทย โดยเฉพาะในเวทีการเมืองภูมิภาคและระหว่างประเทศ ไทยต้องเตรียมตัวรับมือให้ดีกับสิ่งท้าทายใหม่ ๆ มีสองเหตุผลหลักคือ หนึ่ง-เตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์หลังโรคระบาดโควิด อัฟเตอร์ช็อก เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ แถมด้วยวิกฤตเมียนมาร์ และสองคือ เตรียมตัวเป็นเจ้าภาพเอเปค (APEC – ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก) ปีหน้า
ในประเด็นแรก ภายในกลุ่มอาเซียน ไทยมีบทบาทสูงในการชักจูงให้สมาชิกทั้ง 10 ประเทศเข้ามาร่วมมือกันเพื่อหามาตรการต่าง ๆ ในการรับมือกับวิกฤติโรคระบาดโควิดที่ผ่านมา โครงการกองทุนเพื่อสู้กับโรคระบาดโควิด (Asean Covid-19 Response Fund) ได้รับการยอมรับจากสมาชิกอาเซียนอย่างท่วมท้น ในช่วงเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา กองทุนนี้มีการช่วยกันลงขันจากสมาชิกและคู่เจรจาของอาเซียนไทยเป็นเจ้าแรกที่ให้เงินสมทบทุนจำนวน 32 ล้านบาทก่อน จนถึงวันนี้ได้เงินทุนทั้งหมดเพิ่มเป็น 65 ล้านบาท
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้นำอาเซียนได้ตัดสินใจใช้งบบางส่วนของกองทุนนี้คือ 32 ล้านบาทไปซื้อวัคซีนจำนวน 10 ล้านโดสโดยผ่านโครงการ Covax ขององค์การอนามัยโลก คาดว่าอีกไม่นานอาเซียนจะได้รับวัคซีน โดยสมาชิกแต่ละประเทศจะได้รับหนึ่งล้านโดส
นอกจากนั้น ไทยยังเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ได้ประกาศว่าวัคซีนจำเป็นต้องทำให้เป็น สินค้าเพื่อสาธารณประโยชน์ของโลก (Common Public Goods) ที่ไม่ควรมีข้อจำกัดในการใช้หรือการผลิต เช่น ต้องจ่ายลิขสิทธิ์ที่แพงลิบ ขณะนี้ไทยเป็นประเทศเดียวที่มีขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนเพื่อส่งออกและใช้ภายในประเทศ ส่วนเวียดนามและสิงคโปร์ได้ร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อผลิตวัคซีนให้ได้โดยเร็ว ในอนาคตความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขของไทย (Public Health Security) จะอยู่ในระดับสูง เนื่องจากสามารถผลิตวัคซีนได้เอง
สถานการณ์ในเมียนมาร์มีผลกระทบต่อไทยในทุกมิติ ทำให้รัฐบาลไทยต้องเผชิญศึกหนักเพิ่มจากสิ่งท้าทายนานาประการภายในประเทศ โดยเฉพาะการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอเพื่อฉีดให้คนไทยและชาวต่างประเทศที่อาศัยในประเทศ แรงงานเมียนมาร์ทำงานในไทยมีเกือบ 5 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 2.5 ล้านเท่านั้นที่ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับการดูแลจากรัฐบาลไทย
นอกเหนือจากมิติทวิภาคีไทยกับเมียนมาร์ ไทยยังต้องช่วยอาเซียนในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาร์ เพราะมีชายแดนติดกันถึง 2,401 กิโลเมตร ในอนาคตความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั้งที่เกี่ยวกับโรคระบาดโควิดหรือทั่ว ๆ ไปต้องผ่านดินแดนไทยและความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ไทย ส่วนทางด้านการเมืองอาจจะใช้เวลาช่วงหนึ่งในการสร้างความมั่นใจระหว่างกลุ่มขัดแย้งต่าง ๆ ในเมียนมาร์ ตอนนี้ยังไม่มีกลุ่มพร้อมที่จะพบปะเจรจากันได้
อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าไทยจะต้องรับศึกหนักการเป็นประธานเอเปคอีกครั้ง หลังจากที่ได้สร้างชื่อเสียงกระฉ่อนมาแล้วในปี 2003 ไทยเป็นเจ้าภาพที่ดี จัดเต็มทุกภาคส่วน การเป็นเจ้าภาพเอเปคครั้งนี้ต่างกันมากจากครั้งก่อน เนื่องจากโรคระบาดโควิดนั่นเอง รัฐบาลไทยเล็งผลเลิศว่าในปีหน้า สถานการณ์โรคระบาดโควิดจะผ่อนคลายมากขึ้น ประชากรทั่วโลกส่วนใหญ่น่าจะได้รับการฉีดวัคซีน ทำให้การมีการเริ่มต้นไปมาหาสู่กันทั้งในภูมิภาคและระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยได้เตรียมงบประมาณไว้แล้วเพื่อเตรียมงานต้อนรับการเดินทางเข้ามาของผู้นำจาก 22 สมาชิกในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า
ไทยต้องการผลักดันวาระแห่งชาติเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบครบวงจรในเวทีเอเปค นั่นเป็นเป้าหมายสำคัญเพราะไทยมีภูมิเศรษฐศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ที่ดี เป็นฮับของอินโดแปซิฟิก ที่นำมาเสริมเพื่อสร้างสรรค์นโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
ต้องยอมรับว่าผู้นำเอเปคจะเดินทางเข้ามาไทยร่วมประชุมด้วยตนเองหรือไม่ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยคือ ไทยปลอดโรคระบาดโควิดหรือไม่ และสถานการณ์การเมืองมีเสถียรภาพหรือไม่ ถ้ายังมีการประท้วงแบบที่เห็นกันทุกวันนี้อาจจะทำให้ผู้นำเอเปคไม่อยากเข้ามาก็ได้
ฉะนั้นผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอย่าได้นิ่งเฉยต้องเตรียบรับมืออย่างเต็มที่กับปรากฎการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคขัดขวางการเป็นประธานเอเปคของไทยก็เป็นได้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส