การฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนกำลังกลายเป็นปัญหาโลกแตกในประเทศร่ำรวย ประชาชนบางกลุ่มไม่ยอมฉีดวัคซีน ถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคลที่ใครจะมาละเมิดไม่ได้ ในขณะเดียวกันประชาชนส่วนใหญ่ในโลกของเรายังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตากำลังระบาดหนักทั่วทุกมุมเมืองและประเทศ สร้างความปั่นป่วนใหม่ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศอย่างไม่เคยมีมาก่อน
มีผู้นำประเทศทั่วโลกออกมาพูดเตือนประชาชนในประเทศว่า ทุกคนต้องได้รับการฉีดวัคซีน มิฉะนั้นจะไม่มีใครปลอดภัยเลย แต่พอถึงเวลาปฎิบัติจริง มันทำได้ยากมาก มีเหตุผลมากมายหลายประการ
ตอนนี้ในสหรัฐอเมริกา มีประชาชนมากกว่า 60 ล้านคนที่ยังไม่ยอมฉีดวัคซีน ทำให้รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องหัวเสีย เพราะประชาชนกลุ่มนี้มองการฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลและการเมืองที่ละเมิดไม่ได้ ประเด็นแรกพอจะเข้าใจได้ เพราะสังคมอเมริกันถือเอาสิทธิส่วนบุคคลเป็นหลัก ทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีเสรีภาพสูงมาก รัฐธรรมนูญของประเทศนี้อนุญาตให้พกปืนในที่สาธารณะ ถือว่าการมีอาวุธเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานต้องติดมือติดบ้านเอาไว้เพื่อป้องกันตัว
ประธานาธิบดีไบเดนจึงต้องออกมาตรการเข้มข้นเพื่อบีบบังคับให้คนอเมริกันที่เหลือต้องฉีดวัคซีนให้ได้ โดยเฉพาะบรรดาข้าราชการทั้งหลาย ส่วนบริษัทมีคนงานมากกว่า 100 คนต้องฉีดวัคซีนให้ทุกคนไม่มีการยกเว้น ทุกวันนี้ในสหรัฐอเมริกายังมีคนติดเชื้อโควิดไม่ต่ำกว่าวันละ 100,000 คนและมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 คน ที่น่าสนใจคือกลุ่มดื้อด้านนี้เป็นพวกอนุรักษ์นิยมสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมทั้งนักการเมืองของพรรคริพับลิกันที่ยังอยู่ในตำแหน่ง
บรรดาสมาชิกสภาคองเกรสของพรรครีพับลิกัน ในตอนนี้ส่วนใหญ่มุ่งมั่นสนับสนุนทรัมป์แล้ว แต่ก็ยังมีผู้ว่าการรัฐบางรัฐที่ยังอาศัยบารมีของทรัมป์อยู่ กลัวว่าถ้าทำตามที่ประธานาธิบดีไบเดนแนะนำ จะเสียคะแนนเสียงสนับสนุนจากทรัมป์ ร้ายที่สุดคือถ้าทรัมป์ออกมาต่อต้านนักการเมืองในพรรคริพับลิกันคนใด คนนั้นมีสิทธิ์ถูกทำลายอนาคตทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง
สหรัฐอเมริกามีวัคซีนที่เหลือไม่ได้ใช้และกำลังจะหมดอายุหลายร้อยล้านโดส ในยุคทรัมป์ สหรัฐอเมริกาไม่สนใจนโยบายจะบริจาควัคซีนให้กับประเทศด้อยพัฒนาทั่วโลก เพราะถือนโยบายอเมริกาต้องมาก่อน พอมาถึงยุคไบเดน สหรัฐอเมริกาได้เปลี่ยนท่าทีฉับพลัน ต้องการสร้างคะแนนนิยมและฟื้นฟูสัมพันธ์กับพันธมิตรและมิตรประเทศทั่วโลก
ในสหภาพยุโรปก็มีปัญหาแบบเดียวกัน แต่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ยังไม่ยอมฉีด เป็นเพราะว่าไม่อยากเห็นตัวเองเป็นหนูทดลองมากกว่าเรื่องการเข้าขั้วการเมือง เพราะวัคซีนทุกยี่ห้อในตลาดขณะนี้ต่างได้รับการพิจารณาและอนุญาตให้ใช้แบบฉุกเฉินเป็นกรณีพิเศษแทบทั้งสิ้น
ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ไบเดนประกาศบริจาควัคซีนจำนวน 80 ล้านโดสให้ประเทศด้อยพัฒนา ไทยได้รับวัคซีนจากโครงการนี้ด้วยประมาณ 2.5 ล้านโดส ส่วนจีน ญี่ปุ่น อังกฤษได้บริจาควัคซีนให้ไทยในสัดส่วนที่ต่างกัน
มักจะมีคำถามว่าทำไมสหรัฐอเมริกาไม่บริจาควัคซีนให้เสียเนิ่น ๆ ทั้งที่รู้ดีอยู่แล้วว่าวัคซีนบางล็อตกำลังจะหมดอายุ คำตอบที่น่าสนใจคือ วัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐอเมริกาบริจาคนั้นต้องเก็บในห้องหรือตู้ที่มีอุณหภูมิเย็นพิเศษ ซึ่งประเทศส่วนใหญ่มีไม่เพียงพอ จะพบว่าประเทศที่ได้รับวัคซีนมักจะมีจำนวนจำกัดเท่ากับจำนวนห้องเย็นที่มีอยู่ในประเทศนั้น ส่วนยี่ห้ออื่น ๆ เช่น ซิโนแวค เอสตราเซเนกา ซิโนฟาร์ม ไม่มีปัญหาเพราะสามารถใช้ห้องเย็นธรรมดาได้
การเมืองวัคซีนได้กลายเป็นเรื่องใหญ่ในเวทีการเมืองระว่างประเทศ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในโลกยังไม่ได้รับการฉีด ทางองค์การอนามัยโลกได้ขอร้องให้ประเทศร่ำรวยชะลอการฉีดเข็มบูสเตอร์ที่ 3 ไว้ก่อน เพื่อเอาวัคซีนที่เหลือให้ประเทศด้อยพัฒนาที่มีประชาชนยังไม่ได้รับการฉีด ทั้งโลกมีประชากรอยู่ประมาณ 7,900 ล้านคน มีวัคซีคที่นำมาฉีดได้เพียง 5,000 กว่าล้านโดสเท่านั้นเอง
มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนได้ใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือทางการทูตถือว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์แบบหนึ่งในการชนะใจคนท้องถิ่นที่ต้องการฉีดวัคซีน คนที่ปลอดภัยจากโรคโควิด-19 คงจดจำและไม่ลืมบุญคุณของประเทศที่บริจาควัคซีน รัสเซียเองก็ใช้วัคซีนสปุตนิกวีเป็นเครื่องทางการทูตเหมือนกัน แต่ไม่ค่อยเป็นข่าว ในอาเซียนมีเพียง ลาว เวียดนาม และกัมพูชาเท่านั้นที่ฉีดวัคซีนของรัสเซีย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส