สัปดาห์ที่แล้ว สภาผู้แทนราษฎรมีมติ เห็นชอบ ต่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ด้วยเสียงเห็นชอบ 368 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย ต้องขอชมว่า “สุดยอด” เนื่องจากใช้เวลารอมาเกือบ 10 ปีกว่าจะเข็นกันออกมา หลังรัฐบาลไทยลงนาม 2 อนุสัญญาทั้งเรื่องการต่อต้านการซ้อมทรมานและการคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญ พูดตามภาษาชาวบ้านคือ “การอุ้ม” นั่นเอง
หวังว่าในช่วงไม่กี่วันข้างหน้าหลังจากที่คณะกรรมาธิการมีการแปรญัตติเสร็จเรียบร้อยแล้ว คงจะผ่านการพิจารณาของวุฒิสมาชิกและจะได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ต่อไป ต้องถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน
ไทยเราจะได้ไม่อายประชาคมโลก ปีหน้าไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมผู้นำ APEC ได้อย่างสง่างามไม่ขายหน้าชาวบ้าน ผู้นำโลกจาก 22 สมาชิกในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกจะเดินทางมาประชุมด้วยตัวเองหรือไม่นั้นในเดือนพฤศจิกายน หลังโรคระบาดโควิด-19 ซาลง ย่อมขึ้นอยู่สถานการณ์การเมืองในบ้านเราและองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย
พร้อมกันกับการเคลื่อนไหวนี้ กระทรวงต่างประเทศได้เสนอชื่อ อาจาย์ศรีประภา เพชรมีสี ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสิทธิมนุษยชนของไทยและอาเซียนเข้าชิงตำแหน่งในคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน (Committee against Torture) จะมีการคัดเลือกในเดือนตุลาคม เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง
ในช่วงเวลา 35 ปีที่ผ่านมา ไทยมีประวัติด่างพร้อยมากเรื่องการทรมานและการอุ้ม ขณะนี้มีทั้งหมด 81 กรณีที่ยังคั่งค้างในเวทีขององค์การสหประชาชาติ ที่น่าสนใจประเด็นของไทยคือจำนวนคนหายสาบสูญหรือถูกอุ้มมีน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ เยอะ เช่น ฟิลิปปินส์ หรือศรีลังกา เพราะในแต่ละประเทศมีจำนวนคนหายสาบสูญเป็นร้อยเป็นพัน สำหรับไทยนั้นปัญหาคือ มีกรณีน้อยก็จริง ไม่เพิ่มไม่ลด แต่ร้ายที่สุดคือไม่มีความคืบหน้าเลย
จึงเป็นเรื่องน่าอับอายของประเทศชาติมาก ๆ ที่ปล่อยให้กรณีเหล่านี้คาราคาซัง ถึงเวลาแล้วที่เจ้าหน้าที่ไทยทุกกระทรวงทุกหมู่เหล่าที่เกี่ยวข้อง ต้องแสดงตัวตนและออกมาจัดการกรณีเหล่านี้ไห้เรียบร้อย ไม่ปล่อยให้ใครได้ลอยนวล (impunity) ไทยเราต้องมีระบบความพร้อมรับผิด (accountability) ด้วย มิฉะนั้นภาพลักษณ์ไทยจะกู้ไม่ขึ้น (จำได้ไหม หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง รัฐบาลไทยของอดีตนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ชูเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญสุดจนเป็นที่ชื่นชมของเวทีการเมืองในภูมิภาคและของโลก)
การที่ร่างกฎหมายนี้ผ่านได้ในเวลานี้ นับว่ามหัศจรรย์ ต้องยอมรับว่าเป็นเพราะนักการเมืองและปวงชนมีทัศนคติใหม่เกิดขึ้นมาฉับพลัน เนื่องจากมีภาพอัปลักษณ์ออกมาทางโซเชียลมีเดียแสดงถึงความชั่วร้ายของคนในเครื่องแบบสีกากีที่ได้ทรมานผู้ต้องหายาเสพติดคนหนึ่งจนถึงตาย อาจถึงเวลาปฎิรูปตำรวจไทยกันเสียที หลังเล่นวิ่งผลัดกันมานาน ทางรัฐสภาได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดเกี่ยวกับการจะปฎิรูปตำรวจให้มีจริยธรรมรับใช้ประชาชนว่าจะต้องทำอย่างไร
กฎหมายนี้ยังมีช่องโหว่หลายประเด็น นักต่อสู้สิทธิมนุษยชนและมือกฎหมายได้หยิบยกขึ้นมาและต้องพิจารณาแก้ไขต่อไป อย่างไรก็ดี การที่กฎหมายนี้ผ่านฉลุยวาระแรกเป็นนิมิตรอันดีของสังคมไทยว่ามีการคืบหน้า ทำให้สังคมมีกติกา ฉะนั้นคนไทยต้องติดตามและพยายามให้กำลังใจนักการเมืองทุกคนทุกพรรคในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้
ท้ายสุดสังคมไทยต้องชนะ หยุดอุ้ม หยุดทรมานได้แล้ว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส