ปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยให้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ง่ายขึ้นกว่ายุคก่อนเยอะ หากพูดถึงยุคหินกว่าที่จะออกไปหาของกินได้ต้องเตรียมอุปกรณ์ล่าสัตว์ต่าง ๆ มากมาย กว่าจะได้กินนี่เสียเวลาไปครึ่งวัน แต่ทุกวันนี้อยากกินอะไรเพียงแค่จิ้มนิ้วก็ได้สมดั่งใจแล้ว เทคโนโลยีไม่ได้ช่วยให้ชีวิตมนุษย์สบายขึ้น แต่ยังช่วยเปลี่ยนสิ่งรอบ ๆ ตัวให้มีศักยภาพมากขึ้นด้วย เช่นวัสดุที่อยู่กับคนมาเนิ่นนานอย่าง ‘ไม้’ ที่มีคุณสมบัติของความแข็งและเหนียวอยู่แล้ว แม้การเข้ามาของโลหะจะทำให้ไม้ลดบทบาทลงไปบ้าง แต่คุณค่าของไม้ไม่ได้หายไปไหน อย่างเช่น ‘ไม้’ ที่กลายมาเป็น ‘มีด’ เล่มนี้ พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม้ก็คมได้ไม่แพ้กัน

หลายคนอาจเกิดคำถามว่า ถ้าไม้แข็งขนาดนั้นทำไมมนุษย์ไม่ใช้ไม้แทนโลหะเสียล่ะ เหตุก็เพราะว่าส่วนประกอบของไม้ที่แข็งจริง ๆ มาจาก ‘เซลลูโลส’ (Cellulose) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของผนังเซลล์ของพืช ฟังดูอาจรู้สึกว่าบอบบาง แต่จริง ๆ แล้วเซลลูโลสมีความแข็งแรงและหนาแน่นยิ่งกว่าที่คิด (หากเทียบกับเหล็กในระดับเซลแล้วอาจแข็งกว่าด้วยซ้ำ) อย่างไรก็ตามไม้ไม่ได้มีแค่เซลลูโลสเพียงอย่างเดียว แต่ยังประกอบด้วยน้ำและส่วนผสมอื่น ๆ ที่ไม่ได้แข็งเท่าเซลลูโลส จึงทำให้ไม้ไม่อาจแข็งเทียบเท่าโลหะได้นั่นเอง

คำถามน่าคิดคือถ้าหากมนุษย์สามารถสกัดส่วนประกอบของไม้ให้เหลือเพียงเซลลูโลสแล้ววัสดุนั้นจะมีความแข็งเท่าใด นี่คือที่มาที่ไปของการนำไม้มาผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพื่อไล่สารประกอบอื่น ๆ รวมถึงน้ำออกจากเนื้อไม้ จนกระทั่งเหลือเพียงแค่เซลลูโลสอย่างเดียวเท่านั้น

ตะปูที่ได้จากไม้เซลลูโลสอัดแน่น

ทีมนักวิจัยผู้คิดค้นไม้จากเซลลูโลสกล่าวว่ามันแข็งแกร่งกว่าไม้ปกติถึง 23 เท่า เพื่อพิสูจน์ให้เราเห็นว่าไม้ชนิดนี้แข็งจริง ๆ จึงได้มีการนำไปทำเป็นตะปู โดยการอัดแน่นให้เป็นตะปูชิ้นเล็ก ๆ ซึ่งสามารถใช้งานได้ไม่ต่างอะไรกับตะปูโลหะทั่วไป นอกจากนี้ยังมีการนำไม้เซลลูโลสมาทำเป็นมีด โดยนำมาใช้หั่นสเต๊กโชว์ซะเลยว่าคมขนาดไหน ทีมงานเคลมไว้ว่ามีดไม้เล่มนี้คมกว่ามีดโลหะทั่วไปถึง 3 เท่าเลยทีเดียว

แม้นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในการแปรรูปไม้มาใช้งานในลักษณะอื่น โดยสามารถดึงความแข็งแรงทนทานของสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์หลากหลายมากขึ้น เราคงต้องดูกันต่อไปว่ากระบวนการนี้จะถูกนำไปใช้ต่ออย่างไรได้บ้าง เพราะแค่คำถามง่าย ๆ ว่า ถ้าไม้แข็งกว่าเหล็กขึ้นมาก็น่าสนุกแล้วไม่ใช่เหรอครับ

อ้างอิง, อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส