Army of Thieves หนังฮิตเรื่องล่าสุดของ Netflix ขึ้นอันดับเรียบร้อยไปแล้วใน 90 ประเทศ ใครที่ได้ชมกันแล้ว ก็จะเห็นว่า ลุดวิก ดีเทอร์ (Ludwig Dieter) นั้นเป็นเทพแห่งการสะเดาะตู้เซฟขนาดไหน ขนาดตู้เซฟในตำนานที่อยู่มายาวนานทั้ง 3 ตู้ ยังไม่เป็นปัญหาสำหรับดีเทอร์ ที่ใช้เพียงหูฟังและมือเปล่า ไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์ใด ๆ ก็สามารถเปิดได้หมด

กลับมาในโลกจริงของเรา ก็มีตู้เซฟที่ได้รับการยอมรับว่ามีการออกแบบสร้างที่ปลอดภัยแน่นหนาที่สุด ระดับต้น ๆ ของโลกนี้ ที่เรารวบรวมมาได้มีอยู่ด้วยกัน 7 ตู้ ซึ่งมั่นใจได้เลยว่าต่อให้นาย ลุดวิก ดีเทอร์ มีตัวตนจริงก็ไม่สามารถเจาะเข้าเซฟทั้ง 7 ตู้นี้ได้ ตู้เซฟเหล่านี้หน้าตาเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหนบ้าง มาไล่เรียงกันไปทีละตู้ครับ

1.ฟอร์ต นอกซ์ (FORT KNOX)

Fort Knox

คลังเก็บทองคำแท่งสำรองของสหรัฐอเมริกา (United States Bullion Depository) รู้จักกันในนาม Fort Knox ตั้งอยู่ในรัฐเคนตักกี้ บริหารและจัดการโดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประมาณการกันว่าปัจจุบันมีทองคำแท่งเก็บอยู่ในฟอร์ต นอกซ์ มากถึง 4,583 ตัน คิดเป็น 56% ของจำนวนทองทั้งหมดที่สหรัฐฯ ครอบครองไว้ ฟอร์ต นอกซ์ ถูกสร้างขึ้นในปี 1936 เพื่อโยกย้ายหน้าที่การเก็บรักษาทองคำแท่งจากกองทัพบก มาอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง แต่มีการดูแลความปลอดถัยโดยกองกำลังทหาร มีทหารอยู่ในพื้นที่ฟอร์ต นอกซ์ ในช่วงเวลากลางวันถึง 26,000 นาย

ตู้นิรภัยเก็บทองคำแท่งนี้ มีพื้นที่รวมแล้ว 370 ตารางเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 2 ชั้น ประตูห้องนิรภัยทำด้วยแผ่นเหล็กหน้า 21 นิ้ว (53 ซม.) เป็นเหล็กพิเศษที่กันไฟและกันการเจาะ เฉพาะประตูนี้ก็หนักเข้าไป 18 ตันแล้ว ส่วนผนังนั้นมีความหนา 25 นิ้ว (64 ซม.) ประตูนิรภัยนี้เป็นระบบ Time Lock ตั้งเวลาล่วงหน้าได้ 100 ชั่วโมง และเมื่อถึงเวลาเปิดจะต้องใช้เจ้าหน้าที่ 10 คน กรอกรหัสที่ต่างกันพร้อมกัน ระบบ Time Lock นี้ออกแบบมาเพื่อป้องกันผู้ก่อการร้ายจับเจ้าหน้าที่เป็นตัวประกัน หรือบังคับให้บอกรหัส ถึงมีรหัสแต่ถ้าไม่ใช่เวลาที่ตั้งเวลาเปิดไว้ ก็จะไม่สามารถเข้าได้

ด้วยชื่อเสียงทางด้านความแข็งแกร่งแน่นหนาของ ฟอร์ต นอกซ์ จึงถูกกล่าวถึงในภาพยนตร์ฮอลลีวูดอย่างน้อย 2 เรื่องคือ 007 Goldfinger (1964) และ Behind the Headlines (1937)

2.ธนาคารกลางแห่งนิวยอร์ก (Federal Reserve Bank of New York)

Federal Reserve Bank of New York


ธนาคารกลางแห่งนิวยอร์ก ตั้งอยู่บนถนนลิเบอร์ตี้, แมนฮัตตัน ท่ามกลางย่านธุรกิจการเงินของนิวยอร์ก เป็นที่รู้กันว่าที่นี่ “คลังเก็บทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก” เพราะตู้นิรภัยของที่นี่เก็บรักษาทองคำแท่งไว้มากที่สุดบนโลกนี้ มีทองคำแท่งอยู่ในตู้นิรภัยของธนาคารกลางนิวยอร์กมากถึง 497,000 แท่ง น้ำหนักรวมกว่า 5,620 ตัน ทองคำแท่งทั้งหมดนั้นเป็นการรับฝากเท่านั้น ธนาคารกลางนิวยอร์กไม่ได้เป็นเจ้าของทองคำแท่งเหล่านี้ 98% ของทองคำเหล่านี้เป็นของธนาคารกลางจาก 36 ประเทศ มีเพียงแค่ 2% เท่านั้นที่เป็นของสหรัฐอเมริกา

ด้วยความที่เป็นคลังเก็บทองคำไว้มูลค่ามหาศาลขนาดนี้ การดูแลในเรื่องความปลอดภัยเข้มงวดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ตู้นิรภัยของที่นี่อยู่ใต้พื้นดินลงไป 80 เมตรและ 15 เมตรใต้ระดับน้ำทะเล เฉพาะห้องนิรภัยมีความสูงเทียบเท่าตึก 3 ชั้น ผนังด้านทิศตะวันออกมีความหนา 3 เมตร ส่วนอีก 3 ด้านมีความหนา 2.4 เมตร ประตูทางเข้ามีทางเดียวคือประตูนิรภัยทรงกลม ที่มีน้ำหนัก 82 ตัน ติดตั้งอยู่ในกรอบประตูที่มีน้ำหนัก 120 ตัน เมื่อปิดประตูแล้ว ภายในจะมีภาวะเป็นสุญญากาศ ภายในตู้นิรภัยยังมีการติดตั้งอุปกรณ์ดักจับเสียง ความเคลื่อนไหว และกล้องวงจรปิด ไม่มีการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ย่างกรายเข้าไปในตู้นิรภัยนี้ จะมีเพียงหุ่นยนต์ที่ใช้การควบคุมระยะไกลเท่านั้น

ตู้นิรภัยของธนาคารกลางนิวยอร์ก เคยถูกกล่าวถึงในหนัง Die Hard with a Vengeance ปี 1995

3.ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (THE BANK OF ENGLAND)

THE BANK OF ENGLAND)


ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ คือธนาคารกลางของสหราชอาณาจักร มีประวัติเก่าแก่ยาวนานมากเพราะก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1694 จัดเป็น 1 ใน 8 ธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดบนโลกนี้ ปัจจุบันตั้งอยู่บนถนนธรีดนีดเดิล ในกรุงลอนดอน ตู้นิรภัยเก็บทองคำแท่งของที่นี่ ทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บรักษาทองคำแท่งของสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ และยังเก็บรักษาให้ประเทศอื่น ๆ อีก 30 ประเทศ มีบันทึกล่าสุดเมื่อปี 2016 ระบุว่ามีทองคำแท่งในตู้นิรภัยของที่นี่ประมาณ 400,000 แท่ง น้ำหนักรวม 5,659 ตัน มูลค่าสูงถึง 200,000 ล้านปอนด์ จำนวนนี้เทียบเท่าได้กับ 3% ของทองคำที่ผลิตจากเหมืองทั่วโลกนับตั้งแต่มีการบันทึกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ แต่นั่นก็ยังเป็นเบอร์ 2 รองจากจำนวนทองคำแท่งทั้งหมดของธนาคารกลางแห่งนิวยอร์ก

ส่วนตู้นิรภัยของธนาคารแห่งอังกฤษนั้น มีความแข็งแกร่งแน่นหนาอย่างมาก เพราะตอนที่ก่อสร้างนั้นออกแบบไว้เพื่อรับแรงระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงสร้างไว้ในชั้นใต้ดินลึก ไม่ได้มีระบุระยะความลึกไว้ ตู้นิรภัยนี้ถูกสร้างมาตั้งแต่ปี 1930s มีพื้นที่ทั้งหมด 27,000 ตารางเมตร เทียบเท่ากับ 10 สนามฟุตบอล

ระบบความปลอดภัยของที่นี่ ควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด จะเข้าได้นั้นต้องผ่านระบบความจำเสียง และมวลร่างกาย และสิ่งเป็นเอกลักษณ์ที่สุดของตู้นิรภัยนี้คือ กุญแจขนาดยักษ์ที่มีความยาว 90 ซม. ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ อวดอ้างด้วยความภาคภูมิใจถึงระบบรักษาความปลอดภัยว่า ตู้นิรภัยของธนาคารไม่เคยถูกจารกรรมเลย แต่มีข่าวลือเคยมีคนงานขุดเจาะท่อ สามารถเจาะเข้าตู้นิรภัยแห่งนี้ได้สำเร็จในปี 1836 แต่ด้วยเจตนาดี เขาไม่ได้เอาทรัพย์สินใด ๆ ไป แต่เปิดเผยช่องทางเข้าของเขากับผู้อำนวยการธนาคาร เขาได้เงินรางวัลไป 800 ปอนด์ ตีเป็นมูลค่าในวันนี้ก็เท่ากับ 80,000 ปอนด์ หรือ 3.6 ล้านบาท

4.ไอออนเมาน์เทน (IRON MOUNTAIN)

IRON MOUNTAIN


ไอออนเมาน์เทนเป็นบริษัทเอกชน สัญชาติสหรัฐอเมริกัน ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1951 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่่รัฐบอสตัน ไอออนเมาน์เทนให้บริการเก็บรักษาเอกสาร สัญญา ข้อมูล สิทธิบัตร และของมีค่าทางประวัติศาสตร์ มีลูกค้าใช้บริการทั่วโลกมากกว่า 220,000 ราย จาก 58 ประเทศ มีการสำรวจพบว่าใน 1,000 บริษัทอเมริกันที่ยิ่งใหญ่สุดระดับต้น ในจำนวน 95% ต่างเป็นลูกค้าของไอออนเมาน์เทน

ปัจจุบันไอออนเมาน์เทน มีห้องนิรภัยมากถึง 1,500 สาขา กระจายไปทั่วทุกมุมโลก แต่แห่งที่ได้ชื่อว่ามีระบบการรักษาความปลอดภัยสูงสุดนั้นอยู่ที่เมืองบอยเออร์ รัฐเพนซิลวาเนีย ในอดีตที่นี่เคยเป็นเหมืองหินปูนเก่าที่เปิดบริการมาตั้งแต่ปี 1954 ไอออนเมาน์เทนมาซื้อต่อในปี 1998 ห้องนิรภัยที่นี่มีอาณาเขตกว้างขวางที่สุด ครอบคลุมพื้นที่ถึง 150,000 ตารางเมตร อยู่ใต้ดินที่ความลึก 67 เมตร ลึกเข้าไปในหุบเขา 400 เมตร มีความสูงเทียบเท่าตึก 7 ชิ้น อยู่ด้านหลังประตูที่มีน้ำหนัก 3 ตัน และเจ้าหน้าที่ติดอาวุธตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง

ของมีค่าที่เก็บรักษาไว้ที่นี่ก็มีอย่างเช่น คอลเล็กชันภาพถ่ายของ บิล เกตส์, เทปบันทึกเสียงต้นฉบับของอัลบั้มทรงคุณค่าต่าง ๆ ของยูนิเวอร์แซลมิวสิก, พินัยกรรมของเจ้าหญิงไดอาน่า, ชาร์ล ดิกเกนส์ และชาร์ล ดาร์วิน, สิทธิบัตรการเป็นเจ้าของหลอดไฟ ของ โธมัส เอดิสัน

5.ธนาคารเทอิโกกุ ในฮิโรชิมา (TEIKOKU BANK)

TEIKOKU BANK


ธนาคารเทอิโกกุ เป็นธนาคารเก่าแก่ของญี่ปุ่น ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1925 เดิมชื่อธนาคารมิตซุย ที่ธนาคารเทอิโกกุไม่ได้เข้ามาเป็น 1 ใน 6 รายชื่อนี้ด้วยระบบรักษาความปลอดภัยที่รัดกุมแน่นหนา แต่เป็นเพราะความแข็งแกร่งของตู้เซฟ ที่สร้างโดยบริษัทโมลเซอร์ (Molser) ที่ได้รับการพิสูจน์ว่าแข็งแกร่งจริง เพราะตู้เซฟใบนี้อยู่ที่ธนาคารเทอิโกกุสาขาฮิโรชิมา และได้เจอกับระเบิดนิวเคลียร์ลูกที่สหรัฐฯ ทิ้งใส่ฮิโรชิมา แล้วตู้เซฟสามารถรักษาทรัพย์สินภายในไว้ได้อย่างปลอดภัย ทั้ง ๆ ที่ตำแหน่งที่ตั้งของธนาคารนั้นอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางของระเบิดนิวเคลียร์เพียงแค่ 360 เมตรเท่านั้น ในเช้าวันนั้นมีเจ้าหน้าที่ธนาคารมาทำงาน 19 คน ไม่มีใครรอดชีวิต

หลังเหตุการณ์ ผู้จัดการธนาคารได้เขียนจดหมายถึงบริษัทโมลเซอร์ ชื่นชมความแข็งแกร่งของตู้เซฟ
“ตู้เซฟของคุณน่าชื่นชมจริง ๆ เพราะมันแข็งแกร่งกว่าระเบิดอะตอมมิกเสียอีก”
ทำให้ทางบริษัทโมลเซอร์สบโอกาส นำเรื่องราวของตู้เซฟนี้มาโฆษณาอ้างอิงถึงความแข็งแกร่งของตู้เซฟ

6.ตู้นิรภัยภูเขาหินแกรนิต (The Granite Mountain Records Vault)

The Granite Mountain Records Vault

The Granite Mountain Records Vault หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘The Vault’ อยู่ในความดูแลของโบสถ์ศาสนาจักรของพระเยซูคริสต์แห่งสิทธิชนยุคสุดท้าย (The Church of Jesus Christ of Latter-day Saints)เป็นทั้งห้องนิรภัยและพื้นที่จัดเก็บเอกสารสำคัญ เหตุที่ห้องนิรภัยแห่งนี้ได้รับความเชื่อถือถึงความแข็งแกร่งก็เพราะมีการขุดเจาะลึกเข้าไปในตัวภูเขา Little Cottonwood Canyon ถึง 182 เมตร The Vault อ้างว่าห้องนิรภัยนี้มีความแข็งแกร่งพอที่จะรับแรงปะทะของระเบิดได้อย่างสบาย

ตู้นิรภัยที่นี่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อจัดเก็บทรัพย์สินมีค่า แต่ออกแบบมาเพื่อจัดเก็บเอกสารสำคัญ บันทึกต่าง ๆ ในระยะยาว ในรูปแบบไมโครฟิล์ม มีการควบคุมสภาพอากาศภายในทุกส่วนให้แห้งสนิท ทั้งส่วนงานบริหาร พื้นที่จัดส่งและรับเอกสาร และห้องแล็บในการแปลงข้อมูลเป็นไมโครฟิล์ม

ข้อมูลต่าง ๆ ที่จัดเก็บที่นี่ก็อย่างเช่น ประวัติศาสตร์ของวงศ์ตระกูลต่าง ๆ ปัจจุบันห้องนิรภัยที่นี่จัดเก็บไมโครฟิล์มไว้มากถึง 2.4 ล้านม้วน มีบันทึกสำคัญมากถึง 3,000 ล้านหน้า มีไมโครฟิล์มเข้ามาบันทึกเพิ่มขึ้นแต่ละปีประมาณ 40,000 ม้วน

อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง