กวี จงกิจถาวร ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนกรรมการฝ่ายสื่อสารมวลชนประเทศไทย รายงานจากการประชุมใหญ่สมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 41 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
กำลังเป็นที่ถกเถียงในเวทีระหว่างประเทศที่องค์การยูเนสโก (UNESCO – The United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) ในประเด็นที่ว่า “ยิ่งคนเรามีเสรีภาพทางความคิดเห็นมากเท่าไร การบิดเบือนข้อมูลรวมทั้งข่าวปลอมก็จะทวีคูณมากขึ้นเท่านั้น” มีคำถามบ่อยครั้งว่า “ควร” หรือ “ไม่ควร” ที่รัฐบาลแต่ละประเทศจะออกกฎเกณฑ์และข้อบังคับเพื่อดูแลและคุ้มครองประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของโซเชียลมีเดียในทุกมิติ
ที่น่าเป็นห่วงที่สุดในขณะนี้คือวัฒนธรรมลอยนวล (Impunity) ของบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอย่างเฟซบุ๊กที่ไม่ยอมรับผิดชอบอะไรเลย เพราะใช้ข้อถกเถียงที่ว่า เฟซบุ๊กจะไม่เซนเซอร์ข้อมูลข่าว ไม่มีคนดูหรือวิเคราะห์ข่าว ถือว่าทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มให้เท่านั้น ทำให้เฟซบุ๊กกำลังกลายเป็นบริษัทเทคที่อื้อฉาวที่สุด
ในยุคที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบในกรณีที่นักข่าวถูกจับหรือถูกคุกคาม แต่มาในยุคโซเชียลมีเดีย กลับไม่มีใครรับผิดชอบ มีการปล่อยให้ลอยนวลทั้ง ๆ ที่โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่สาธารณะที่ข่มขู่และสร้างความเกลียดชังมากเป็นที่สุดต่อคนทำอาชีพนี้
มาเรีย เรสซ่า (Maria Ressa) นักข่าวฟิลิปปินส์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสด ๆ ร้อน ๆ ได้ติเตือนเฟซบุ๊กที่ไม่ยอมเซนเซอร์คำข่มขู่ต่อตัวเธอมาตลอด ประเด็นนี้ทำให้เฟซบุ๊กต้องปรับปรุงและแสดงความพร้อมที่จะต้องดึงถ้อยคำสร้างความเกลียดชังออกทันที
ในที่ประชุมสามัญครั้งที่ 41 ขององค์การยูเนสโกที่กรุงปารีสในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ มีการพูดถีงประเด็นดังกล่าวอย่างเผ็ดมัน มีสมาชิกยูเนสโกแบ่งออกเป็นสองพวก คือกลุ่มประเทศยุโรปที่ไม่เห็นด้วยในการเพิ่มมาตรการหรือกฏข้อบังคับป้องปรามใด ๆ ทั้งสิ้น ส่วนอีกกลุ่มเห็นว่ารัฐบาลต้องเข้ามาจัดการเกี่ยวกับเว็บไซต์ที่บิดเบือนความจริงหรือพยายามประชาสัมพันธ์ตัวเองด้วยข้อมูลหรือใช้ข่าวลวงเป็นสาระ
รายงานล่าสุดของยูเนสโกเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการพัฒนาสื่อสากลทั่วโลก ชี้ชัดว่าสื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะไม่มีอนาคต เพราะค่าโฆษณาไปลงที่โซเชียลมีเดียเกือบทั้งหมด ทำให้ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ต้องลดจำนวนอย่างมาก บรรณาธิการ นักข่าว ที่เคยเป็นหน้าด่านแรกในการเช็กข้อเท็จจริง รวมทั้งแหล่งข่าว ต้องตกงานเป็นระนาว ในระยะยาวจะยิ่งมีผลโดยตรงต่อคุณภาพ รายงานข่าวในอนาคตต่อไปข้างหน้าเปิดโอกาสให้ข้อมูลที่ไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองเป็นขั้นตอนจะออกมากลายเป็นข่าวกระแสหลักที่แพร่หลาย
ข้อมูล (Information) ถือว่าเป็นสินค้าสาธารณประโยชน์ (Public Common Good) ที่ต้องให้การดูแลและคุ้มครองและส่งเสริมคนทำอาชีพนักหนังสือพิมพ์ ป้องกันไม่ให้ข่าวสารที่สร้างความเกลียดชังและความเข้าใจผิด ๆ หรือที่เรียกว่า “ข่าวปลอม” นั้นมีมากขึ้น ในอดีตสื่อดั้งเดิมเป็นเสาหลักของสื่อสารมวลชนมานานแล้ว ข่าวหน้าหนังสือพิมพ์เป็นแหล่งข่าวสำคัญของวิทยุและโทรทัศน์ที่สามารถนำไปใช้ แต่ขณะนี้กลายเป็นว่าข่าวและคลิปจากโซเชียลมีเดียเป็นข่าวกระแสหลักไปเสียแล้ว
อนาคตของสื่อไม่ได้ขึ้นอยู่กับเสรีภาพ อิสรภาพ หรือความเป็นเจ้าของที่หลากหลายอีกต่อไป เพราะสื่อโซเชียลมีบทบาทมากในการนำเสนอข้อมูลในชีวิตประจำวันของทุกคนไปแล้ว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส