ปีหน้า ไทย อินโดนีเซีย และกัมพูชา จะผงาดขึ้นพร้อม ๆ กัน ทั้งสามประเทศจะมีบทบาทสูงขึ้นในเวทีภูมิภาคและต่างประเทศ เนื่องจากจะเป็นประธานการประชุมสุดยอดที่สำคัญ ๆ ของโลกในปีเดียวกัน กล่าวคือไทยเป็นประธานเอเปค งานยักษ์ใหญ่ที่จะส่งผลโดยตรงต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยและของโลกหลังวิกฤตโควิด-19
ส่วนประเทศใหญ่ที่มีประชากรมากที่สุดในอาเซียนอย่าง อินโดนีเซียก็จะรับตำแหน่งประธานกลุ่มจี 20 มีประเทศร่ำรวยเป็นสมาชิก ถึงแม้ว่าอินโดนีเซียจะยังไม่ใช่ประเทศร่ำรวยและกำลังพัฒนาก็ตาม กลุ่มจี 20 ก็ต้องการ เพราะว่าประเทศนี้มีศักยภาพสูง มีประชาชนมากเป็นที่ 4 ของโลกคือ 275 ล้านคน และถือว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยใหญ่เป็นที่ 3 ของโลก นอกจากนั้นมีฐานเศรษฐกิจใหญ่โตอันดับ 1 ในอาเซียน
ส่วนกัมพูชานั้นถือว่าเป็นสมาชิกรุ่นฟลายเวตของอาเซียนที่มีความแคล่วคล่องในประเด็นเกมยุทธศาสตร์การเมืองระหว่างมหาอำนาจ การเป็นประธานอาเซียนครั้งนี้ มีนัยสำคัญต่อชื่อเสียงของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าประเทศนี้เล็กก็จริง แต่มีฝีมือเด็ดทางการทูตไม่ได้เป็นนอมินีของจีนแผ่นดินใหญ่
ช่วง 6 เดือนหลังของปี 2022 จะเป็นเวลาที่มีกิจกรรมทางการทูตเพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ ประเทศที่เป็นสมาชิกของกลุ่มต่าง ๆ จะพยายามเจรจาหรือล็อบบี้ในประเด็นที่แต่ละประเทศสมาชิกสนใจ ในวงการทูต การต่อรอง เพื่อแลกเปลี่ยนคะแนนเสียงถือเป็นเรื่องปกติ บางครั้งอาจจะมีการติดต่อล็อบบี้ข้ามองค์กรต่าง ๆ กัน ยิ่งมีการแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจมากเท่าไร ความเข้มข้นยิ่งมีเท่านั้น
บรรดามหาอำนาจทั่วโลก ทั้งใหญ่และปานกลางจะต้องเข้ามาพัวพันกับประเทศในเอเชียอาคเนย์อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ เพื่อรักษาฐานอำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาจะพบว่าไทยและอินโดนีเซียมีการแข่งขันทางการทูตทั้งในบริบทการเมืองอาเซียนและในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ
ขณะนี้ต้องยอมรับว่าอินโดนีเซียได้เปรียบและมีคะแนนเสียงนิยมในเวทีนานาชาติมากกว่าไทย เนื่องจากมีเสถียรภาพทางการเมืองและมีระบอบประชาธิปไตย ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมสุดยอดประชาธิปไตยในวันที่ 9 และ 10 ธันวาคมนี้ มีประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นเจ้าภาพ
อย่างไรก็ดี สำหรับไทยการเป็นประธานเอเปคครั้งนี้เป็นโอกาสดีเลิศที่ไทยจะพยายามพลิกโฉมใหม่ของประเทศในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ที่ความยั่งยืนและมีดุลยภาพกับทุกสรรพสิ่ง เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิด-19
ผู้นำจากเขตเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก 22 ประเทศมีกำหนดการจะมาประชุมกันที่เกาะภูเก็ตในปลายเดือนพฤศจิกายนปีหน้า แต่กว่าจะถึงวันนั้นอาจจะมีอุบัติเหตุทางการเมืองหรือภัยธรรมชาติที่ไหนที่อาจจะส่งผลต่อการมาเยือนของผู้นำเหล่านี้ ไม่มีใครคาดเดาได้
อย่าลืมว่านอกจากเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกหรือ East Asia Summit เวทีเอเปคยังเป็นเวทีที่ผู้นำสหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซียจะสามารถนั่งร่วมและพูดคุยกัน ประธานเอเปคจึงทำการบ้านหนักมา เพื่อชูประเด็นที่ไทยต้องการสนับสนุน
ที่น่าติดตามคือผู้นำประเทศไหนจะมาไทยปีหน้าเป็นพระราชอาคันตุกะของรัชกาลที่ 10 โดยย้อนกลับไปในปี 2003 ตอนที่ไทยเป็นประธานเอเปค มีการให้การต้อนรับพระราชอาคันตุกะพร้อมกันสามคนคือประธานาธิบดีจีน หู จิ่นเทา, ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ผลปรากฎว่าที่ไทยเป็นประธานเอเปคครั้งที่แล้วยังเป็นที่กล่าวขวัญและชื่นชมของเหล่าสมาชิกเอเปคจนถึงทุกวันนี้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส