หลายคนอาจไม่ชอบดูรายการทำอาหารตอนกลางคืน เพราะกลัวจะ ‘อยากกิน’ ขึ้นมา แต่ต่อไปนี้คุณอาจจะไม่ต้องรู้สึกแบบนั้นอีกแล้ว เพราะล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นได้ร่วมกันพัฒนาจอทีวีต้นแบบ ที่สามารถลิ้มรสชาติได้ผ่านการเลียบนหน้าจอ ซึ่งจอทีวีดังกล่าวสามารถเลียนแบบรสชาติอาหารได้มากถึง 20 รสชาติ ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่จะพาผู้คนก้าวไปสู่การสร้างประสบการณ์ใหม่ในการรับชมแบบหลายประสาทสัมผัส
จอทีวีนี้มีชื่อว่า ‘Taste the TV’ ทำงานโดยใช้กระป๋องเก็บรสชาติ 10 แบบหมุนพ่นรวมกันเพื่อสร้างรสชาติของอาหารที่แตกต่างกัน จากนั้นตัวอย่างรสชาติจะกลิ้งบนแผ่นฟิล์มที่บนทีวีจอแบนเพื่อให้ผู้ชมได้ลิ้มลอง
โฮเมอิ มิยาชิตะ (Homei Miyashita) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเมจิ กล่าวถึงผลงานชิ้นนี้ว่า ในยุคโควิด-19 เทคโนโลยีตัวนี้จะสามารถเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างผู้คนกับโลกภายนอก
“เป้าหมายคือการทำให้ผู้คนได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป เช่นการได้รับประทานอาหารจากร้านอาหารที่อยู่อีกฟากหนึ่งของโลก แม้ตัวคุณจะอยู่ที่บ้านก็ตาม” มิยาชิตะกล่าว
ผลงานชิ้นนี้มิยาชิตะพัฒนาขึ้นร่วมกับทีมนักศึกษาของเขาประมาณ 30 คน โดยเขาได้เสริมว่าขณะนี้ผลงานยังอยู่ในช่วงพัฒนาตัวต้นแบบ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการสร้างออกมาวางขายในเชิงพาณิชย์ สนนราคาประมาณ 875 เหรียญ (30,000 บาท)
นอกจากนี้มิยาชิตะและทีมงาน กำลังเริ่มคิดถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มที่จะสามารถกระจายรสชาติต่าง ๆ ออกไปทั่วโลก ในรูปแบบ ‘คอนเทนต์รสชาติ’ ที่ผู้คนสามารถดาวน์โหลดและลิ้มลองรสชาติอาหารจากร้านทั่วโลกได้ตลอดเวลา ซึ่งคล้ายคลึงกับรูปแบบการดูหนังหรือฟังเพลงบนสตรีมมิงของคนสมัยนี้นั้นเอง อีกทั้งจะมีการนำไปประยุกต์ใช้กับการเรียนรู้ทางไกลสำหรับนักชิมไวน์ พ่อครัว หรือใช้กับอุตสาหกรรมบันเทิง เช่น เกมตอบคำถามทายรสชาติ อีกด้วย
ยูกิ โฮ่ว (Yuki Hou) ตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเมจิวัย 22 ปี ได้สาธิตทีวีเครื่องนี้ให้กับนักข่าวดู โดยเธอได้พูดผ่านหน้าจอทีวีว่า เธออยากชิมช็อกโกแลตรสหวาน หลังจากนั้นหัวฉีดรสชาติก็ทำการฉีดตัวอย่างลงบนแผ่นพลาสติกให้เธอได้ชิม
“รสมันเหมือนกับช็อกโกแลตนม มันหวานเหมือนพวกซอสรสช็อกโกแลตเลย”
เครดิตภาพและอ้างอิง:
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส