คนไทยเราอาจจะไม่คุ้นชื่อซูเปอร์มาร์เก็ต Morrisons แต่สำหรับประชาชนในสหราชอาณาจักรนั้นจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะ Morrisons คือแฟรนไชส์ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 แน่นอนว่าอันดับ 1 ก็คือ Tesco นั่นเอง แล้ววันนี้เองที่ Morrisons กลายมาเป็นหัวข้อข่าวในสื่อหลายสำนัก หลังจากที่แฟรนไชส์ซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้านี้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ทางซูเปอร์มาร์เก็ตจะยกเลิกการติดฉลากบอกวันหมดอายุบนผลิตภัณฑ์นมประเภทต่าง ๆ ที่เป็นยี่ห้อของ Morrisons เอง เพราะได้เล็งเห็นแล้วว่า นม เป็นอาหารที่เสียเปล่ามากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในสหราชอาณาจักร รองจากมันฝรั่งและขนมปัง ในแต่ละปีนั้นมีนมถูกเททิ้งมากกว่า 231,000,000 ลิตร และในจำนวนนั้น มีประมาณ 40 ล้านลิตรที่ต้องถูกทิ้งเหตุจากฉลากวันที่ ‘หมดอายุ’ (Use By) ที่ติดอยู่บนขวดหรือกล่อง ทำให้ลูกค้าไม่สนใจที่จะซื้อนมที่ใกล้ถึงวันหมดอายุเหล่านี้ ทั้ง ๆ ที่มีผลวิจัยออกมาแล้วว่า นมเหล่านี้ยังสามารถบริโภคได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อให้เลยวันหมดอายุไปแล้วก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ Morrisons จึงตัดสินใจยกเลิกการติดฉลากบอกวันหมดอายุบนผลิตภัณฑ์นมที่เป็นยี่ห้อของตัวเอง ซึ่งรวมไปถึงโยเกิร์ต และชีสด้วย แต่จะติดวันที่ ‘ควรบริโภคก่อน’ (Best Before) แทน หลังจากนี้ทาง Morrisons แนะนำให้ลูกค้าใช้วิธีการดมกลิ่นเพื่อเช็กคุณภาพของนมแทน Morrisons มั่นใจมากว่าแนวทางนี้จะช่วยลดการสูญเสียนมได้หลายล้านลิตรในแต่ละปี และจะเริ่มดำเนินการในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้

แน่นอนว่าแนวทางนี้ย่อมมีเสียงโต้แย้งจากลูกค้าจำนวนมาก แต่ก็มีลูกค้าบางส่วนที่เห็นชอบกับวิธีการที่มีเจตนาลดการสูญเสียทรัพยากรเช่นนี้ อย่างคุณลุง เอียน กู้ด (Ian Goode) ลูกค้าสูงวัยของ Morrisons ที่ออกมาชื่นชมว่า “เป็นการตัดสินใจที่กล้ามาก การทิ้งนมไปโดยเปล่าประโยชน์นั้นเท่ากับชาวไร่ชาวนาต้องเสียความอุตสาหะไปโดยเปล่าประโยชน์เช่นกัน แล้วยังเป็นการปล่อยคาร์บอนที่ไม่จำเป็นเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกเราอีกด้วย”

อธิบายเพิ่มเติมถึงความหมายบนฉลากนมสักนิด

ในสหราชอาณาจักรนั้นจะมีฉลาก ‘Use By’ ติดไว้บนผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภคประเภทที่เน่าเสียได้ ฉลากนี้จะระบุวันที่ที่ลูกค้าควรจะบริโภคหรือใช้สินค้านำไปปรุงอาหารก่อนวันที่ตามที่ระบุไว้บนฉลาก แต่ในบ้านเราจะคุ้นกับคำว่า ‘Expiry Date’กันเสียมากกว่า

ส่วนฉลากอีกประเภทหนึ่งก็คือ ‘Best before’ ประเภทนี้บ้านเราจะคุ้นเคยกันดี วันที่บนฉลากนี้คือวันที่ควรจะบริโภคเพื่อให้ได้รับคุณภาพของอาหารที่ดีที่สุด ทั้งรสชาติ และเนื้อสัมผัสของอาหาร

ในการออกมาตรการใหม่นี้ Morrisons ได้ทำการสำรวจและวิจัยมาก่อนหน้าแล้วว่า ผลิตภัณฑ์นมนั้นไม่จำเป็นต้องมีฉลากระบุวันหมดอายุเหมือนกับอาหารประเภทอื่น ๆ ที่เน่าเสียได้ เพราะนมของ Morrisons นั้นผ่านกระบวนการเก็บรักษามาอย่างดี มีคุณภาพ ทำให้นมที่นี่ยังสามารถบริโภคได้หลังเลยวันหมดอายุมาแล้ว 2-3 วัน และ Morrisons ก็แนะนำเป็นอย่างยิ่งว่าควรบริโภคแทนที่จะเททิ้ง

“ด้วยเหตุนี้เราถึงได้กล้าออกมาตรการเช่นนี้มา และร้องขอให้ลูกค้าของเราตัดสินใจเอาเองว่านมที่เขาซื้อไปนั้นยังบริโภคได้อยู่หรือไม่ เพราะคนรุ่นก่อนหน้าเราต่างก็ใช้วิธีดมเพื่อตรวจสอบว่านมยังดื่มได้อยู่หรือไม่ ผมก็เชื่อว่าพวกเราก็ยังทำได้เช่นกัน”
ตัวแทน Morrisons กล่าว

มาร์คัส โกเวอร์ (Marcus Gover) CEO จาก Wrap

มาร์คัส โกเวอร์ (Marcus Gover) CEO จาก Wrap จากองค์กรการกุศลเพื่อการรีไซเคิล ออกมาสนับสนุนมาตรการนี้ของ Morrisons
“ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งเลยที่ Morrisons เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าแรกเลยที่เลือกทำสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดการสูญเสียของอาหาร มันแสดงถึงความเป็นผู้นำอย่างแท้จริง จากนี้เราก็จะเฝ้ามองกันต่อไปว่าผู้ค้ารายอื่น ๆ จะเริ่มทบทวนการติดวันที่หมดอายุบนสินค้าของตัวเองกันบ้างหรือไม่”

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่บนผลิตภัณฑ์นมเช่นนี้ เรื่องนี้ก็ต้องร้อนไปถึง หน่วยงานตรวจสอบมาตรฐานอาหารในสหราชอาณาจักร (Food Standard Agency: FSA) ที่ทำหน้าที่เหมือนกับ อย. บ้านเรา ซึ่งทาง FSA ก็ให้ความเห็นว่าโอเคทั้งสองอย่าง ไม่ว่าจะเป็นฉลากบอก ‘วันหมดอายุ’ หรือ ‘ควรบริโภคก่อน’ บนผลิตภัณฑ์นม ขึ้นอยู่กับประเภทและกระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ แต่ขอให้ฉลากที่ระบุวันที่ไว้ชัดเจน แต่สิ่งที่ FSA ไม่เห็นพ้องด้วยก็คือวิธีการตรวจสอบคุณภาพอาหารด้วยการ ‘ดม’ เพราะอาหารบางประเภทก็จะส่งผลให้เกิดอาการ “อาหารเป็นพิษได้”

รอดูก้าวต่อไปกันครับ ถ้ารายใหญ่สุดอย่าง TESCO เห็นชอบแล้วเอาตามด้วย ไม่นานก็คงเห็นมาตรการนี้ตามมาในบ้านเรา

อ้างอิง อ้างอิง