วันที่ 10 มกราคม 2565 นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผยภายหลังประชุมหารือการแก้ปัญหาราคาสุกร ร่วมกับ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดนครศรีธรรมราช ว่าขณะนี้ทั้งลูกสุกร สุกรขุน และแม่พันธุ์ หายไปจากระบบกว่า 50% จากการที่พี่น้องเกษตรกรเลิกเลี้ยงหรือหยุดการเลี้ยงไปกว่าครึ่ง เนื่องจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ของอุตสาหกรรม ภาวะขาดทุนสะสมกว่า 3 ปี ปัญหาโรคในสุกร และต้นทุนที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และการป้องกันโรคอย่างเข้มงวดที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาที่มีการเสนอให้นำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศนั้น ตนและสมาคมฯ ไม่เห็นด้วย เพราะอาจเป็นการซ้ำเติมปัญหา เนื่องจากเนื้อหมูไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับเนื้อหมูต่างประเทศ เพราะมีต้นทุนต่ำกว่าจากการที่สามารถผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้ภายในประเทศเองได้ ขณะที่ไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศ จึงทำให้มีต้นทุนที่สูงกว่า
“ราคาหมูเพิ่งปรับขึ้นมาในช่วง 1 เดือนเท่านั้น จากปริมาณหมูที่ลดลงต่อเนื่อง ไม่สอดคล้องกับการบริโภคที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ภาวะนี้แค่ช่วยให้คนเลี้ยงพอมีเงินใช้หนี้และเดินหน้าอาชีพต่อ ส่วนที่มีบางฝ่ายแนะนำให้มีการนำเข้าเนื้อหมู เกษตรกรไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น เพราะความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ผลผลิตหมูไม่เพียงพอกับการบริโภค ซึ่งยังไม่ทราบปริมาณความต้องการที่แท้จริงของตลาด การนำเข้าเนื้อหมูจะเป็นการซ้ำเติมปัญหา กระทบกับภาวะราคาตกต่ำจากผลผลิตล้นตลาดอย่างที่เกษตรกรเผชิญมาตลอด 3 ปี” นายปรีชากล่าว
ล่าสุด สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศราคาหมูขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มอยู่ที่กิโลกรัมละ 110 บาท โดยเกษตรกรจะร่วมกันตรึงราคาจำหน่ายหมูหน้าฟาร์มไม่ให้เกินราคานี้ไประยะหนึ่ง เพื่อให้ตลาดปรับตัวได้และช่วยพี่น้องประชาชน
การคัดค้านการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศในครั้งนี้ ทางนายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้มองว่า เป็นการปกป้องพี่น้องเกษตรกรทั้งระบบ ตั้งแต่ผู้เลี้ยงหมู ผู้เพาะปลูกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ ผู้ผลิตอุปกรณ์การเลี้ยง ระบบขนส่ง และภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หากอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรต้องล่มสลายไป ประเทศอาจขาดความมั่นคงทางอาหาร และผู้บริโภคอาจต้องเสี่ยงกับสารตกค้างที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
ทั้งนี้ การที่ภาครัฐออกมาตรการเร่งด่วน ทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการสำรวจความพร้อมของผู้เลี้ยงให้กลับมาเลี้ยงสุกรรอบใหม่อีกครั้ง ทางสมาคมฯ เห็นด้วยกับมาตรการนี้เพื่อให้เพื่อนร่วมอาชีพที่มีความพร้อมด้านโรงเรือน อุปกรณ์ และกระบวนการอยู่แล้วได้ร่วมกันผลิตสุกรเพื่อป้อนตลาดให้เร็วที่สุด ภายใต้การป้องกันโรคในระดับสูง ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อจูงใจให้เกษตรกรฟื้นอาชีพได้โดยเร็ว
นายปรีชายังกล่าวอีกว่า “พื้นที่ภาคใต้มีเกษตรกรกว่า 20,000 ราย ในจำนวนนี้หายไปจากระบบ 50% ซึ่งทุกคนต่างต้องการกลับมาทั้งสิ้น เพียงแต่ยังขาดการสนับสนุนเท่านั้น”
ที่มา : สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส