กุมภาพันธ์นี้ครบรอบหนึ่งปีเต็มวิกฤติในเมียนมาร์ อาเซียนยังไม่สามารถทำอะไรได้มาก นอกจากตกลงกันได้เกี่ยวกับฉันทามติ 5 ข้อ ในขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเมียนมาร์ยังไม่ได้นำไปปฎิบัติอย่างแท้จริง ทำให้สถานการณ์ในเมียนมาร์ที่ผ่านมาเลวร้ายขึ้น คือยังมีการสู้รบอยู่เหมือนเดิมสถานการณ์ในประเทศนี้ไม่จำกัดแค่ในเรื่องความมั่นคงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เกี่ยวพันถึงสภาวะเศรษฐกิจและสังคมทั่ว ๆ ไปด้วย ต้องยอมรับว่าตอนนี้เมียนมาร์ทุลักทุเลมาก ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย
ที่สำคัญที่สุดในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาคือคู่ขัดแย้งในสนามรบเมียนมาร์นั้น ต่างคิดว่าโอกาสที่กลุ่มของตัวเองจะชนะในสนามรบนั้นมีมาก จึงมุ่งมั่นที่จะเอาชนะกันในสนามรบ กลุ่มที่สร้างความเสียหายให้กับรัฐบาลทหารมากที่สุดคือกองทัพชาติพันธุ์ที่มีที่ตั้งอยู่ตามชายแดนไทยและจีนซึ่งติดกับเมียนมาร์ กองทัพกะเหรี่ยง กลุ่มทหารไทยใหญ่ กลุ่มคายา ล้วนมีกองกำลังที่พร้อมจะปะทะกับทหารเมียนมาร์
นอกจากนั้นยังมีกลุ่มทหารป้องกันประชาชน (People’s Defense Force) ที่รัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ (National Unity Government of Myanmar) ประกาศตั้งขึ้นเดือนกันยายนปีที่แล้วนั้น ตอนนี้มีกำลังประมาณ 2,000 คนโดยได้รับการฝึกฝนและช่วยจากต่างประเทศ ในช่วงห้าเดือนที่ผ่านมากองกำลังพีดีเอฟได้สร้างความเสียหายกองทัพมากพอสมควร เพราะได้ใช้ยุทธการกองโจร โจมตี ทั่วประเทศ โดยเฉพาะสถานที่ราชการรวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้สนับสนุนฝ่ายรัฐบาล มีทั้งการลอบสังหารผู้เข้าข้างรัฐบาลทหาร แล้วหลบหนี มีตัวเลขออกมาว่ากลุ่มทหารประชาชนได้สังหารเจ้าหน้าที่รัฐได้สามสี่ร้อยคน
เนื่องจากตอนนี้เป็นฤดูแล้ง เป็นโอกาสดีที่กองกำลังทุกฝ่ายจะใช้ประโยชน์ออกมาแย่งพื้นที่และสร้างความน่าเชื่อถือในสนามรบให้กับกลุ่มตัวเอง
ประเด็นสำคัญที่ประธานอาเซียนและทูตพิเศษอาเซียนต้องพิจารณาคือจะทำอย่างไรให้กลุ่มขัดแย้งทั้งหลายทั้งปวงมานั่งในโต๊ะเจรจาเพื่อหาทางหยุดการสู้รบไว้ก่อน เพื่อจะได้เปิดช่องให้หน่วยช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมของอาเซียนได้มีโอกาสขยับตัวและประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของทุก ๆ ฝ่ายคือทั้งเมียนมาร์และกลุ่มหุ้นส่วนต่าง ๆ ถ้ายังมีการต่อสู้รบกันอยู่ การช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแบบบูรณาการจะเป็นไปได้ยาก
ฉะนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้กลุ่มทหารเมียนมาร์ กลุ่มพีดีเอฟและกลุ่มชาติพันธุ์มาคุยกันให้ได้ในอนาคตอันใกล้เพราะการเอาชนะกันในสนามรบนั้นเป็นไปไม่ได้ บทบาทไทยในบริบททั้งทวิภาคีและอาเซียนมีความสำคัญมาก จะเป็นตัวเชื่อมที่อยู่เบื้องหลัง ส่วนญี่ปุ่นจะเป็นคู่เจรจาอาเซียนที่มีบทบาทสำคัญมาก เพราะมีความใกล้ชิดกับกลุ่มขัดแย้งทุกฝ่าย ส่วนจีนกำลังจับตามองดูทุก ๆ ฝ่ายว่าจะมีปฎิสัมพันธ์กันอย่างไร ขณะนี้ประเทศคู่เจรจาสนับสุนนนโยบายอาเซียนเต็มที
นายกรัฐมนตรีฮุนเซนได้ใช้ฐานะในการเป็นประธานอาเซียนในการทูตส่วนตัวเพื่อกรุยทางไว้ก่อนที่มีการเจรจาจริงในนามของอาเซียน การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 16 และ 17 กุมภาพันธ์นี้จะมีการตกลงกันในสารัตถะและวาระของอาเซียนต่อเมียนมาร์ ซึ่งประธานอาเซียนต้องนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จะแหกคอกไม่ได้เด็ดขาด
น่าจับตาดูบทบาทฮุนเซ็นที่ผ่านมาสองเดือนกว่าๆ นักการเมืองมือฉมังคนนี้ใช้วิธีคุยส่วนตัวกับผู้นำอาเซียนด้วยกัน ซึ่งประธานคนก่อนปีที่แล้วไม่ได้ทำ ตอนนี้การดำเนินงานอาเซียนในระดับสูงเป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีพลังมากขึ้น
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส