นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เทศกาลวาเลนไทน์หรือวันแห่งความรัก คู่รักหลายคู่อาจเตรียมมอบของขวัญแทนใจให้แก่กัน ซึ่งนอกจากดอกไม้แล้ว ส่วนใหญ่มักจะเป็นขนมหวาน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนความหวาน ความสุข ความรัก
ซึ่งขนมหวานยอดนิยมที่ถูกนำมามอบให้แก่กัน ได้แก่
- ช็อกโกแลต 1 ชิ้น ขนาด 10 กรัม ให้พลังงานประมาณ 50 กิโลแคลอรี
- คุกกี้ 1 ชิ้น ขนาด 10 กรัม ให้พลังงานประมาณ 50 กิโลแคลอรี
- สตรอว์เบอร์รีเคลือบช็อกโกแลต 1 ชิ้น ขนาด 35 กรัม ให้พลังงานประมาณ 60 กิโลแคลอรี
- คัพเค้ก 1 ชิ้น ขนาด 60 กรัม ให้พลังงานประมาณ 130 กิโลแคลอรี
- บราวนี่ 1 ชิ้น ขนาด 60 กรัม ให้พลังงานประมาณ 250 กิโลแคลอรี
แต่เนื่องจากขนมเหล่านี้ให้พลังงานค่อนข้างสูง อีกทั้งความหวานที่ได้จากน้ำตาลที่เพิ่มลงไปนั้น จัดเป็นอาหารที่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์น้อย (Empty Calories) หากกินโดยไม่มีการควบคุมบ่อย ๆ เป็นระยะเวลานาน จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ไม่เหมาะสม และอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไขมันในเลือดสูง และโรคอ้วนในระยะยาวได้
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าใน 1 วัน ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัม เพื่อไม่ให้ได้รับพลังงานจากน้ำตาลมากเกินไป ซึ่งพลังงานจากอาหารว่าง ขนม และเครื่องดื่ม ไม่ควรเกินวันละ 150-200 กิโลแคลอรีต่อวัน
ดังนั้น หากกินช็อกโกแลต คุกกี้ สตรอว์เบอร์รีเคลือบช็อกโกแลต ไม่ควรเกินวันละ 3-4 ชิ้น ส่วนคัพเค้กและบราวนี่ไม่ควรมากกว่า 1 ชิ้นต่อวัน หากสามารถทำขนมเองได้ แนะนำให้เลือกสูตรหวานน้อย และเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการด้วยใยอาหารจากธัญพืชต่าง ๆ หรือผลไม้รสไม่หวานจัด
สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อขนมมากินเองหรือเป็นของขวัญ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์ “ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” และควรปรับพฤติกรรมการกิน โดยค่อย ๆ ลดความหวานลง และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
ที่มา : กรมอนามัย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส