วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ รับทราบแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (คณะกรรมการ EV) ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ทั้งนี้ ครม. ไฟเขียวให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหน้าที่ต่อไป
เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาและขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนฯ ทั้งในส่วนของมาตรการทางภาษี และไม่ใช่ภาษีโดยเป็นมาตรการระยะสั้น ระหว่างปี 65 – 68 โดยในช่วง 2 ปีแรก (ปี 65 – 66) มาตรการสนับสนุนฯ จะให้ความสำคัญกับการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างกว้างขวางโดยเร็ว ครอบคลุมทั้งการนำเข้ารถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) และกรณีรถยนต์/รถยนต์กระบะ/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ (CKD) ผ่านการยกเว้นหรือลดอากรนำเข้า ลดอัตราภาษีสรรพสามิต และ/หรือให้เงินอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนด
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มอุปสงค์ยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวม สร้างแรงจูงใจและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของผู้ประกอบการในไทย
ส่วนช่วง 2 ปีถัดไป (ปี 67 – 68) มาตรการสนับสนุนฯ จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศเป็นหลัก โดยยกเลิกการยกเว้น/ลดอากรนำเข้า รถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) แต่ยังคงมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิต และ/หรือให้ เงินอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนดต่อไป เพื่อทำให้ต้นทุนรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคันที่นำเข้าสูงกว่ารถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเร่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ รองรับแนวโน้มความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ลดการนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งจะเป็นการสนับสนุนการผลิตรถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการผลิตรถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ อาทิ การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับ ชิ้นส่วนที่มีการนำเข้าในช่วงปี 65 – 68 การให้นับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่ที่นำเข้าเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศ สำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่มในประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของราคายานยนต์ไฟฟ้าหน้าโรงงาน
การผลิตรถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพื่อชดเชยการนำเข้าในช่วงแรก (กรณีผลิตชดเชย ภายในปี 67 ให้ผลิตเท่ากับจำนวนที่นำเข้าในปี 65 – 66 และหากจำเป็นต้องขยายเวลา การผลิตชดเชยถึงปี 68 และการผลิตหรือใช้ แบตเตอรี่ที่ผลิตหรือประกอบในประเทศตามเงื่อนไขที่กำหนด
“การดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า มุ่งหวังให้ ราคารถยนต์ และรถจักรยานยนต์ประเภทรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) สามารถแข่งขันได้ และแผน 30@30 โดยปี ค.ศ. 2030 จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ในไทย โดยนายกรัฐมนตรีและครม. ยังเห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย เพื่อไม่ให้ไทยสูญเสียโอกาส และความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะตอกย้ำความเป็น Detroit of Asia ของไทย และยังการเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อสร้างรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” นายธนกรกล่าว
สาระสำคัญของมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศมีทั้งหมด 6 ข้อ โดยแต่ละข้อแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ มาตรการทางภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ทางภาษี โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. รถยนต์นั่งฯ (ไม่เกิน 10 ที่นั่ง) ประเภท BEV ราคาขายปลีกไม่เกิน 2 ล้านบาท
- มาตรการทางภาษีจะให้นำเข้า CBU ที่ได้รับสิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรี โดยหากมีอากรไม่เกิน 40% ให้ยกเว้น หากมีอากรเกิน 40% ให้ลดอัตราอากรลงอีก 40% และปรับลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่ง ประเภท BEV จากเดิม 8% เหลือ 2% ในปี 2565 – 2568
- ให้เงินอุดหนุน 70,000 บาทต่อคัน สำหรับแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ส่วนที่แบตเตอรี่ที่มีขนาด 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงขึ้นไป ได้เงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคัน
2. รถยนต์นั่งฯ ที่มีแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ประเภท BEV ราคาขายปลีกมากกว่า 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท
- มาตรการทางภาษีให้ปรับลดอากรศุลกากรในปี 2565 – 2566 คือการนำเข้ารถ CBU หากอากรไม่เกิน 20% ให้ได้รับยกเว้นอากร หากอากรเกิน 20% ให้ลดอากรลงอีก 20% ส่วนอัตราอากรนำเข้าให้ลดเหลือ 60% และปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งฯ ประเภท BEV จาก 8% เหลือ 2% ในปี 2565 – 2568
3. รถยนต์กระบะ ประเภท BEV ราคาขายปลีกไม่เกิน 2 ล้านบาท
- ให้เงินอุดหนุนได้เงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคัน เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศ (CKD) และมีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป
4. รถจักรยานยนต์ ประเภท BEV ราคาขายปลีกไม่เกิน 150,000 บาท
- มีมาตรการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตตามมูลค่า 1% สำหรับรถจักรยานยนต์ประเภท BEV ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด
- ให้เงินอุดหนุน 18,000 บาท ต่อคัน สำหรับรถจักรยานยนต์ประเภท BEV ซึ่งครอบคลุมทั้งกรณีจักรยานยนต์ที่ผลิตในประเทศ และการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งคัน
5. การผลิตหรือประกอบรถยนต์ประเภท BEV ภายในเขตปลอดภาษีอากรหรือเขตประกอบการเสรีในประเทศ
- อนุมัติให้มีการนับมูลค่าของเซลล์ (Cell) แบตเตอรี่ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ สำหรับการนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่ และนำไปผลิตหรือประกอบเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (ประเภท BEV) ในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรีในปี 2565 – 2568 สามารถรวมเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศสำหรับการคำนวณ
- มูลค่าเพิ่มในประเทศได้ไม่เกิน 15% ของราคายานยนต์ไฟฟ้า (BEV) หน้าโรงงาน เพื่อส่งเสริมการลงทุนใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศ
6. ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตหรือประกอบภายในประเทศ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นควรส่งเสริมให้ใช้ชิ้นส่วนที่มีการนำเข้าในช่วงระยะเวลาปี 2565 – 2568 ประกอบด้วย แบตเตอรี่ Traction Motor, คอมเพรสเซอร์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่, ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS), ระบบควบคุมการขับขี่ (DCU), เครื่องชาร์จแบตเตอรี่แบบออนบอร์ด (On-Board Charger), PCU inverter DC/DC Converter (อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับแปลงไฟฟ้า) และเกียร์ทดรอบ (Reduction Gear) รวมทั้งส่วนประกอบของชิ้นส่วนดังกล่าว ให้ได้รับสิทธิยกเว้นอากรขาเข้าตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 สำหรับผู้ที่ได้รับสิทธิ์ โดยให้สถาบันยานยนต์เป็นผู้รับรองชิ้นส่วนสำคัญและชิ้นส่วนย่อยเพื่อลดอากรขาเข้าเพิ่มเติมต่อไป
สำหรับผู้ผลิตและผู้นำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าที่ต้องการเข้าร่วมมาตรการต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขคือ ต้องมีการผลิตชดเชยให้เท่ากับจำนวนที่นำเข้า CBU ระหว่างปี 2565-2566 ในปี 2567 หากจำเป็นต้องขยายระยะเวลาให้ขยายได้ถึงปี 2568 จะต้องผลิตในอัตราส่วน 1.5 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน) โดยผู้ใช้สิทธิ์สามารถผลิตรถ BEV รุ่นใดก็ได้เพื่อชดเชย ยกเว้นรถยนต์ที่มีราคาขายปลีก 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท โดยจะต้องผลิตรุ่นเดียวกันกับที่มีการนำเข้ามาในประเทศไทย
สำหรับหลักเกณฑ์ในการใช้สิทธิ์ (1) ต้องเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภายในประเทศที่ทำสัญญากับกรมสรรพสามิต โดยกกรมสรรพสามิตจะอุดหนุนเงินและภาษีฯ ไปที่ผู้ประกอบการเท่านั้น และ (2) ประเภทรถยนต์ จะต้องครอบคลุมรถยนต์ รถกระบะ และรถจักรยานยนต์ เฉพาะ BEV
เงื่อนไขการใช้สิทธิ์และบทลงโทษหากกระทำผิดสัญญาคือ (1) จะต้องมีการวางเงินค้ำประกัน (Bank Guarantee) ประกอบการขอใช้สิทธิ์ฯ (2) หากไม่ปฏิบัติติตามประกาศฯ จะต้องคืนเงินอุดหนุนเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย ถูกยึดเงินค้ำประกันจากธนาคาร และไม่ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มฯ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส