อีกไม่ถึง 250 วัน ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมสุดยอดเอเปคที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (ยุคปรับปรุงใหม่) ต้องเกริ่นไว้ล่วงหน้าว่าระหว่างวันที่ 17, 18 และ 19 พฤศจิกายนปีนี้ ผู้นำของมหาอำนาจที่ตัดสินอนาคตของประชาคมโลกจะมาพบกันที่กรุงเทพมหานครของเรา แน่นอนว่าการรักษาความปลอดภัยผู้นำจะอยู่ในระดับสูงสุด ซึ่งอาจทำให้คนในเมืองอืดอัดอยู่บ้าง
การประชุมครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกของผู้นำเศรษฐกิจสำคัญ 21 เขตของโลกจะบินมาพบกันตัวต่อตัวในเมืองหลวงของไทย คงจำกันได้ว่าเมื่อปี 2546 ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่มีความยิ่งใหญ่จนเป็นที่กล่าวขวัญทุกวันนี้ ในช่วงเวลา 4 วันของตุลาคม ปี 2546 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะถึง 3 ประเทศ คือประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอร์จ ดับเบิลยู บุช, ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีมีร์ ปูติน และประธานาธิบดีจีน หู จิ่นเทา อย่างสมเกียรติ
กว่าจะถึงวันนั้น คนไทยต้องเฝ้าดูเหตุการณ์ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศว่าจะมีแนวโน้มอย่างไรบ้าง เพราะจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยไม่มากก็น้อย ขณะนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้เตรียมการทั้งทางด้านสถานที่และบุคลากรเพื่อรับแขกพิเศษที่จะเดินทางเข้ามาประชุม
ขณะนี้ต้องยอมรับว่าสภาพการเมืองไทยยังไม่เสถียร แถมยังมีข่าวลือหนาหูว่ารัฐบาลอาจจะยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในอนาคต ประเด็นนี้ไม่แน่ไม่นอน แต่พรรคการเมืองต่าง ๆ ได้เริ่มรณรงค์หาเสียงแบบไม่เป็นทางการ ถ้ามีเหตุการณ์การเมืองที่ไม่คาดฝัน เช่น รัฐบาลต้องมีอันเป็นไป คำถามที่จะผุดขึ้นมาถามกันมากคือมันจะกระทบกระเทือนการประชมสุดยอดเอเปคหรือไม่
คำตอบคือมีทั้งข้อดีข้อเสีย นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในอำนาจมานานเกือบ 8 ปีแล้ว ย่อมมีความคุ้นเคยกับผู้นำประเทศต่าง ๆ ในเอเชียแปซิฟิกอย่างแน่นอน ทำให้นายกประยุทธ์เป็นเจ้าภาพที่ให้ความรู้สึกเป็นกันเองเพราะรู้จักมักคุ้นกับแขกต่างประเทศ สร้างความสนิทสนม
หากมีผู้นำไทยใหม่มาจากการเลือกตั้ง ก็จะสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยในทางที่ดีในแง่มุมของการพัฒนาประชาธิปไตย แต่ผู้นำไทยใหม่คนนี้จะต้องเรียนรู้และศึกษาประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเอเปคในทุก ๆ มิติ ไม่เฉพาะแต่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น
ตลอดเวลา 8 ปีที่ผ่านมา นายกประยุทธ์มักจะถูกติเตียนและวิจารณ์ว่าไม่ได้เป็นผู้นำประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งอย่างแท้จริง ถือว่าสืบต่ออำนาจมาจากการยึดอำนาจในปีพ.ศ. 2557 อย่างไรก็ดี ผู้นำต่างประเทศได้ให้การยอมรับผู้นำไทยคนนี้ว่ามาจากการเลือกตั้ง
ไทยเรายังดี มีข้าราชการประจำสามารถทำงานทั้งในยามปกติและยามวิกฤต เคยผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาเป็นประจำตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองในปีพ.ศ. 2475 เนื่องจาก ไทยมักจะต้องเผชิญกับการหยุดชะงักทางการเมือง (Political Disruptions) ค่อนข้างบ่อย ฉะนั้นปีนี้เป็นโอกาสทองของไทยที่จะประกาศศักดาโฉมหน้าใหม่ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขวิกฤตโควิด-19 การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมในระยะยาว
ในฐานะประธาน ไทยเราสามารถเสนอแนะเอเปคให้ความสำคัญกับการกระตุ้นและการเปิดการค้าเสรีและการลงทุนและการรวมตัวทางเศรษฐกิจ ในมุมมองของไทยประเด็นเกี่ยวกับการฟื้นฟูและการส่งเสริมความเจริญเติบโตที่ยั่งยืน สมดุลและครอบคลุม ที่รวมกันอยู่ภายใต้แผนเศรษฐกิจใหม่ BCG ( Bio-Circular Green) ก็มีความสำคัญพอกัน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส