ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงาน คปภ. ได้จัดการประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565
เพื่อหาทางออกร่วมกัน กรณีโรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด หากไม่เข้าหลักเกณฑ์ของสมาคมประกันชีวิตไทย และกรณีที่บริษัทประกันภัยบางบริษัทปฏิเสธการจ่ายค่าเคลม ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิดที่เข้ารับการรักษาพยาบาล
จากผลการประชุมหารือ ทำให้ได้ข้อยุติในหลักการเกี่ยวกับแนวทางการให้ความคุ้มครองตามสัญญาประกันสุขภาพ COVID-19 กรณีมีการแอดมิท (Admit) เป็นผู้ป่วยใน ในโรงพยาบาล สถานพยาบาล โฮสปิเทล (Hospitel) และโรงพยาบาลสนาม ตามที่มีการเผยแพร่ผลการประชุมไปแล้ว
โดยขณะนี้ สำนักงาน คปภ. ได้นำหลักการดังกล่าวไปออกแนวปฏิบัติเป็นที่เรียบร้อย และได้มีหนังสือแจ้งบริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ให้ถือปฏิบัติแล้ว เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา
โดยมีเนื้อหาและสาระสำคัญดังนี้
1. ให้ใช้กับสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน ซึ่งบริษัทออกให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ได้รับความคุ้มครอง และกรมธรรม์ประกันภัยยังมีผลใช้บังคับ
2. กำหนดคำจำกัดความของ “กรมธรรม์ประกันภัย COVID-19” ให้หมายถึง กรมธรรม์ประกันภัย ข้อตกลงคุ้มครองสัญญาเพิ่มเติม เอกสารแนบท้าย หรือบันทึกสลักหลัง ที่ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล และ/หรือ ค่าชดเชยรายวันหรือค่าชดเชยรายได้ กรณีผู้เอาประกันภัยหรือผู้ได้รับความคุ้มครองที่เจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และได้เข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาล ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรก็ตาม และ “สถานพยาบาล” ให้หมายความว่า โรงพยาบาล สถานพยาบาล โฮสปิเทล (Hospitel) และโรงพยาบาลสนาม แต่ไม่หมายความรวมถึงสถานที่ที่ใช้ในการดูแลรักษาแบบ Home Isolation หรือ Community Isolation
โดยแนวปฏิบัตินี้ กำหนดให้บริษัทต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล และ/หรือ ค่าชดเชยรายวันหรือค่าชดเชยรายได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ตามกรณีดังต่อไปนี้
1. ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่เจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และเข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน ในสถานพยาบาลตามเกณฑ์ในการนำส่งต่อผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลที่กำหนดตามแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการให้คำแนะนำผู้ป่วยและการจัดบริการผู้ป่วยโควิด-19 แบบ Home Isolation หรือแนวทางปฏิบัติอื่นเกี่ยวกับการรักษาหรือการจัดบริการผู้ป่วยโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข หรือ
2. ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่เจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และอาการหรือภาวะการป่วยไม่เป็นไปตาม ข้อ 1. แต่แพทย์ผู้ทำการรักษามีดุลพินิจว่า
มีความจำเป็นทางการแพทย์ต้องเข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาล และได้รับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาล
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การกำหนดแนวปฏิบัติข้างต้นจะช่วยลดความสับสนและวางแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อให้บริษัทประกันภัยถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน ทำให้ช่วยลดข้อพิพาทและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัยที่เจ็บป่วยจากการติดเชื้อโควิดแล้วเข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในโรงพยาบาล สถานพยาบาล โฮสปิเทล (Hospitel) และโรงพยาบาลสนาม แต่ไม่สามารถเคลมค่ารักษาพยาบาล และ/หรือ ค่าชดเชยรายวันได้
ส่วนประเด็นเรื่องแนวปฏิบัติใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขที่เพิ่งกำหนดให้การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ในช่วงระยะเวลาแพร่เชื้อมีความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ป่วยแยกจากคนอื่นในสถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย (Home Isolation (HI), CI และ Hotel Isolation เป็นสถานพยาบาลอื่นที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลด้วยนั้น ได้ข้อสรุปเบื้องต้นจากการประชุมร่วมกันว่า ให้อนุโลมจ่ายในกรณีจำเป็นเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัย ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้มีการนัดประชุมหารือในรายละเอียดกับภาคธุรกิจประกันภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และเมื่อได้ผลสรุปจะเร่งออกแนวปฏิบัติเพื่อให้ภาคธุรกิจประกันภัยถือปฏิบัติต่อไป
ที่มา : คปภ.